เริ่มแจกดิจิทัล15ล้านคน ลุยกาสิโนรีดภาษีหมื่นล.

ครม.ไฟเขียวงบเพิ่มปี 67 จำนวน 1.22 แสนล้าน รองรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประเดิมเฟสแรกแจกกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 14.98 ล้านคน  30 ก.ย.67 "เศรษฐา" เร่งหาเงิน สั่งลุย "เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" บี้คลังยกร่างกฎหมาย ฝันรีดภาษีปีแรกหมื่นล้านบาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน   นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า   ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่ (1) การบริหารงบฯ ปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท (2) การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ (3) งบฯ ปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบฯ วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ เพิ่มเติมปี 67 ในวันที่ 4 มิ.ย.2567

สงป.ได้ประชุมหารือเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยกำหนดวงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 สำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล โดยที่ประชุมได้กำหนดงบฯ เพิ่มเติมปี 67 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท

"การดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบฯ 67 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯ เพิ่มเติมปี 67 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 67 และสอดคล้องตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการทันภายในปีงบฯ 2567 จึงอาจพิจารณาผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน ตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน" นายชัย ระบุ

ทั้งนี้ วงเงินงบฯ เพิ่มเติมปี 67 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบฯ ปี 67 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบฯ 66 จำนวน 417,000 ล้านบาท (ร้อยละ 13.1) ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 และสำหรับงบลงทุนฯ และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ผลโพลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกมาระบุว่ากลุ่มธุรกิจ SMEs สนใจเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตน้อยลง เนื่องจากกังวลเรื่องการใช้สิทธิเบิกจ่ายว่า จุดประสงค์แรกของการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งสอดคล้องตั้งแต่แรกที่เราเห็นว่าธุรกิจภาคนี้มีปัญหา โดยเฉพาะ SMEs รายย่อย เพราะยังขาดในเรื่องกำลังซื้อ นี่จึงเป็นข้อเรียกร้องของ SMEs ว่าอยากให้มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลักษณะนี้ ดังนั้น การมีเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบในระยะเวลาที่กระชับ และกระจายไปหลายพื้นที่ ก็จะเป็นผลดีต่อ SMEs ซึ่งก็สอดคล้องกันระหว่างแนวคิดของรัฐบาลและข้อเรียกร้องจาก SMEs

เมื่อถามว่า เกณฑ์ในการลงทะเบียนร้านค้าอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มธุรกิจรายเล็ก ทางรัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร นายเผ่าภูมิกล่าวว่า เกณฑ์การลงทะเบียนของรัฐบาลขณะนี้ยังไม่ออกมา ยังอยู่ในกระบวนการที่คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในการหาเงื่อนไขที่เหมาะสม และง่ายที่สุดต่อกลุ่มธุรกิจรายเล็ก ซึ่งเป็นข้อกังวลแรกของเราอยู่แล้ว ที่อยากให้พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ตามตลาดเข้าสู่โครงการได้ง่ายที่สุด ดังนั้นต้องรักษาสมดุลระหว่างการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ง่าย และมีจำนวนร้านค้าเพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องรวมร้านสะดวกซื้อเข้ามาด้วยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อถามว่า ทางรัฐบาลจะประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนร้านค้าในช่วงใด นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการกำกับดูแลฯ ได้มีการประชุมทุกสัปดาห์ ซึ่งต้องถกกันมากมาย เช่น ร้านค้าที่ลงทะเบียนและได้รับเงินมาแล้วแต่เจ้าของร้านเสียชีวิตระหว่างเข้าร่วมโครงการ เงินจำนวนนั้นจะอยู่ที่ใคร จะใช้กฎหมายข้อใดในการเข้ามาดูแล  ส่วนสัปดาห์นี้กำลังจะประชุมในเรื่องการเชื่อมต่อในระบบ Open loop เพื่อที่จะให้ระบบธนาคาร หรือแอปพลิเคชันธุรกิจกระเป๋าเงินต่างๆ เชื่อมต่อ

วันเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุม ครม.เรื่องการติดตามการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยสั่งการกระทรวงการคลัง ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ไปดำเนินการศึกษา เร่งรัดการดำเนินการเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร โดยนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณามาประกอบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติ ครม.ที่เคยมีไว้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 พร้อมทั้งจัดทำแผนการออกกฎหมายลำดับรองลงไปที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอ ครม.ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือสถานบันเทิงครบวงจร มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะถ้าพูดถึงมูลค่าของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ทั่วโลก เมื่อปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตก 54 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 2571 มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเติบโตเป็น 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 79 ล้านล้านบาท ปัจจุบันประเทศหรือเขตปกครองพิเศษที่ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรใหญ่ที่สุดคือมาเก๊า ซึ่งมีประชากร 6.9 แสนคน แต่ทำธุรกิจได้ 3.2 หมื่นล้านสหรัฐ ซึ่งสูงมาก ลำดับรองลงมาคือลาสเวกัส 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ,  สิงคโปร์ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ,  เกาหลีใต้ 3.2 แสนล้าน, ฟิลิปปินส์ 2.1 แสนล้าน, เวียดนาม 1.8 แสนล้าน, อินโดนีเซีย 1.8 แสนล้าน, ประเทศไทย 0 บาท จะเห็นว่าประเทศในเอเชียในรอบบ้านเราไปไกลกว่าเราเยอะ นอกเหนือจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีแผนจะผุดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ขึ้นมาอีก 3 แห่ง ในเร็วๆ นี้ ทั้งโอซาก้า นางาซากิ และฟุกุโอกะ ประเทศไทยต้องเร่งหน่อยถ้าหากจะมีรายได้ทางนี้” นายชัยระบุ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้คำนวณเบื้องต้นว่า ถ้ามีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ลงทุนในเมืองไทย จะมีรายได้ไหลเข้ามามากมายมหาศาล และปีแรกจะสามารถเก็บภาษีได้ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง