รับปรึกษาวิษณุสู้คดี ‘เศรษฐา’แบะท่าไม่มีกั๊ก สหายอ้วนชูคนดีคนเก่ง!

นายกฯ รับปรึกษา  “วิษณุ” ทำคำชี้แจงต่อศาล รธน.ปมตั้ง “พิชิต” เผยอยู่ระหว่างปรับแก้ แต่อุบรายละเอียด “ภูมิธรรม” ชม “วิษณุ” เป็นคนมีความรู้ความสามารถ ได้ช่วยงานรัฐบาลถือเป็นเรื่องดี ประเทศได้ประโยชน์ เลขาฯ เพื่อไทยมั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม เหตุไม่เคยทำร้ายพรรค "ดิเรกฤทธิ์” ยันศาลและองค์กรตาม รธน.เป็นอิสระไม่มีดีลการเมือง ลั่นปมตั้ง “พิชิต” เป็นจุดเป็นจุดตาย เย้ยยอดนักกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ "อนุสรณ์" ติงอย่ากดดันศาล สำนักงานสถิติฯ เปิดผลสำรวจผลงาน รบ.รอบ 6 เดือน ปชช.พอใจ 44.3 เปอร์เซ็นต์ แนะควบคุมราคาสินค้า ลดค่าไฟ

เมื่อวันอาทิตย์ นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเบื้องต้นร่างแรกของคำชี้แจงเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมในบางจุด ทั้งนี้ จะครบกำหนดส่งคำชี้แจงในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ แต่ต้องดูว่าจะสามารถส่งได้วันที่เท่าไหร่ โดยจะต้องให้ความสำคัญในทุกประเด็น ยืนยันว่าทุกขั้นตอนในการแต่งตั้งทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องให้เกียรติท่าน ขอไม่พูดว่ามั่นใจหรือไม่มั่นใจ แต่ตนมั่นใจว่าทำด้วยความสุจริต

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำชี้แจงจะต้องมีการยืนยันหรือไม่ว่านายพิชิตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ในคำชี้แจง คงไม่ใช้เวทีของสื่อมวลชนที่จะมาพูดว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอความกรุณาตรงนี้ด้วย

เมื่อถามว่า การทำคำชี้แจงได้มีการปรึกษานายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายหรือไม่   นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการปรึกษานายวิษณุ เพราะเป็นหนึ่งในคนที่ต้องไปขอคำปรึกษา

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ว่า คนที่มีความรู้ความสามารถได้มีโอกาสมาช่วยงานรัฐบาลถือเป็นสิ่งที่ดี และนายกรัฐมนตรีก็เปิดกว้างให้ทุกคนทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันทำงาน ทั้งนี้ ส่วนตัวยังไม่ได้ยินกระแสของคนในพรรคเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งนายวิษณุ

ส่วนที่ถูกมองว่านายวิษณุเป็นรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นการช่วยในสิ่งที่นายวิษณุรู้และได้ประโยชน์กับประเทศชาติ และช่วงเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก็พยายามที่จะสลายฝักฝ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นใครที่มีความรู้ก็พยายามที่จะเรียนเชิญมาช่วยงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพูดชัดเจนตั้งแต่ตั้งรัฐบาลแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เป็นเรื่องว่าประเทศต้องการอะไร และอะไรที่เป็นประโยชน์

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีก่อนการหารือกับนายวิษณุถึงการเชิญเป็นรองนายกรัฐมนตรี   แต่มองว่าเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีถือว่ามีความเหมาะสม 

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว  และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวสมาชิกพรรคบางส่วนไม่พอใจที่นายเศรษฐา  ตั้งนายวิษณุเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ  จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคหรือไม่ว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรคบางคน แต่ได้มีการพูดคุยกันว่าหากเป็นเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเราทำงานแยกกันชัดเจน หากนายเศรษฐาเห็นว่าอะไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด พวกเราพรรค พท.ก็พร้อมสนับสนุน

 “มั่นใจครับว่าไม่มีเรื่องนี้แน่นอน เพราะจริงๆ แล้วอาจารย์วิษณุก็ไม่เคยทำร้ายอะไรพรรค ท่านเป็นที่ปรึกษารัฐบาลแต่ละรัฐบาลมาเท่านั้น ไม่ได้มีอะไร” นายสรวงศ์กล่าวเมื่อถามย้ำว่ามั่นใจว่าจะไม่เกิดรอยร้าวในพรรค

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมพรรค วันที่ 4 มิถุนายนนี้ จะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่น่ามี น่าจะเป็นเรื่องของการไปลงพื้นที่มาแล้วมาพูดคุยกันว่ามีปัญหาอะไรที่จะมาสะท้อนให้พรรคได้ยิน อีกเรื่องก็จะเป็นการพูดคุยเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในช่วงวันที่ 18-21 มิถุนายนนี้

เมื่อถามว่า ในสัดส่วนของพรรค พท.ได้มีการเตรียมขุนพลที่จะอภิปรายไว้มากน้อยแค่ไหน นายสรวงศ์กล่าวว่า มีและในปีนี้เราจะไม่ใช้โควตาว่าคนหนึ่งพูด 7 นาที แต่เราจะเน้นไปในเรื่องของข้อมูลของแต่ละคน และจะให้อภิปรายได้อย่างเต็มที่ เพราะเรามีเวลาอยู่พอสมควร หากจำไม่ผิดพรรค พท.มีเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงกว่า โดยเบื้องต้นจะมีขุนพลที่อภิปรายไม่เกิน 20 คน ซึ่งจะเป็นทั้งคนรุ่นใหม่และ สส.ที่ทำงานเกี่ยวกับงบประมาณมายาวนาน ที่จะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น

ยอดนักกฎหมายก็ช่วยไม่ได้

ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม  สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า   มีประเด็นที่ควรพูดคุยให้ประชาชนเข้าใจหลายจุด 1.ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีบุคลากรและระบบที่เป็นอิสระ เป็นเสาหลักของบ้านเมืองที่ไม่มีใครจะสั่งการและใช้ไปต่อรองทางการเมือง (ดีล) กับใครหรือฝ่ายใดได้ 2.กรณีเรื่อง 40 สว.ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นประเด็นหัวใจของประชาธิปไตยไทย และ 3.การต่อสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรี มีจุดเป็นหรือตายที่ข้อเท็จจริงการกระทำที่ผ่านมาแล้ว ใครก็ช่วยไม่ได้ ยอดนักกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ครับ

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้นายดิเรกฤทธิ์ว่า ถือเป็นสิทธิที่นายดิเรกฤทธิ์จะมอง แต่การแสดงความเห็นใด ต้องอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง เพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายดิเรกฤทธิ์เป็นผู้ร้อง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ การแสดงความเห็นที่เป็นการชี้นำหรือกดดันศาลรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง นายเศรษฐายืนยันมาตลอดว่าพร้อมรับการตรวจสอบ และเคารพในกระบวนการยุติธรรม

นายอนุสรณ์กล่าวว่า การออกมาพูดในลักษณะกดดันและชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ หลังการเลือกตั้งประเทศชาติสงบ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาทำงาน ชอบไม่ชอบ ถูกใจไม่ถูกใจ ครบ 4 ปีก็ไปถามประชาชนในคูหาเลือกตั้ง เป็นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรจะมีใครหวังฟลุกให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ

 “แม้แต่ สว.ชุดเดียวกันก็ยังไม่เห็นด้วยกับนายดิเรกฤทธิ์และพวกทั้งหมด การลงชื่อร้องเอาผิดนายกฯ ทั้งๆ ที่ สว.หมดวาระไปแล้วสามารถทำได้หรือไม่  ยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง ดังนั้นการออกมาพูดอะไรที่ทำให้สังคมขัดแย้งแตกแยกเพิ่มขึ้นต้องระมัดระวัง”  นายอนุสรณ์กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางปิยนุช วุฒิสอน ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ น.ส.สุวรรณี วังกานต์ รอง ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ.2567 (ครบ 6 เดือน) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยนายชัยกล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 6 เดือน เป็นการสำรวจความคิดเห็นด้วยวิธีสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 6,970 คน ระหว่างวันที่ 22 เม.ย.-15 พ.ค.2567 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้ 1.ประชาชนติดตาม/รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากติดตาม/รับรู้จากโทรทัศน์ ขณะที่ผู้ที่มีอายุน้อยติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีการติดตาม/รับรู้จากสื่อออนไลน์เช่นเดียวกัน

ปชช.พอใจผลงาน รบ. 44%

2.ประชาชนร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ร้อยละ 44.3 มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.6 และมากร้อยละ 38.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 14.1 (น้อยร้อยละ 11.1 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.0) ส่วนที่ไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 2.0 ประชาชนในชายแดนภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก

 3.ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่เป็นอันดับแรก นโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ (ร้อยละ 68.4), มาตรการพักหนี้เกษตรกร (ร้อยละ 38.9), มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว (ร้อยละ 33.1), มาตรการลดค่าไฟ (ร้อยละ 32.8) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ (ร้อยละ 29.3)

 4.ประชาชนร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นมาก-มากที่สุดต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ ร้อยละ 41.9 มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด (มากที่สุดร้อยละ 5.2 และมากร้อยละ 36.7) ปานกลางร้อยละ 39.6 ขณะที่น้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 15.8 (น้อยร้อยละ 12.4 และน้อยที่สุดร้อยละ 3.4) ส่วนที่ไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 2.7 ประชาชนในภาคใต้ชายแดนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น สำหรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความเชื่อมั่นฯ ในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก

5.ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (ร้อยละ 75.3), ลดค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 46.6), แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง (ร้อยละ 29.5), แก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 26.3) และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ (ร้อยละ 16.9)

ด้านนางสุวรรณีกล่าวว่า หลังจากนี้ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะมีการทำผลสำรวจความเห็นประชาชนอีกรอบเมื่อรัฐบาลทำงานครบ 1 ปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ