นิรโทษ112อุ้มทักษิณ ‘ชูศักดิ์’อ้างเป็นผลพวงรัฐประหาร/จับตากมธ.เคาะ6มิ.ย.

"วิษณุ" ชี้ระยะหลังคดี 112 ศาลให้ประกันตัว โยนถาม "ทักษิณ" กังวลอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ "สุทิน" บอกโอกาสดีได้เคลียร์ตัวเอง "แก้วสรร-นักวิชาการ" เชื่อ "แม้ว" ไม่หนี ประกันตัวสู้คดี 3 ศาลถึงฎีกา ใช้เวลา 3-4 ปีสบายๆ "กมธ.นิรโทษกรรม" ยังไร้ข้อสรุปนิรโทษฯ คดี 112 "ชูศักดิ์" ระบุคดีทักษิณเป็นผลพวงการรัฐประหาร  แบะท่าหากนิรโทษฯ ต้องเหมาเข่งคดี 112 ทั้งหมดกันครหาเลือกปฏิบัติ "นิกร" แย้มร่าง กม.ประชามติเข้าวิป รบ. 6 มิ.ย. ถึงสภา 18 มิ.ย. เชื่อไม่มีปัญหา  คาด "นายกฯ" ประกาศวันทำประชามติได้ไม่เกินปลายปีนี้

ที่เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 30 พ.ค. นายวิษณุ  เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี     ปฏิเสธไม่ทราบกรณีมีการวิเคราะห์ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี   ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีมาตรา 112   เพราะดีลมีปัญหา โดยระบุว่า ไม่ได้ดีลด้วย และระหว่างตนกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีดีล ไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไร

พอถามว่า คดีมาตรา 112 น่ากังวลกับนายทักษิณหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอให้ไปถามนายทักษิณน่าจะตอบได้ หากถามตนก็ตอบไม่ถูก แต่ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ อัยการต้องคุมตัวนายทักษิณไปที่ศาล หากศาลประทับรับฟ้องก็จะต้องมาดูว่าศาลให้ประกันตัวหรือไม่

"หากศาลไม่ให้ประกันตัวก็ต้องติดคุก แต่ในระยะหลังคดี 112 ศาลให้ประกันตัวแทบทุกคดี" นายวิษณุกล่าว

ส่วนนายสุทิน คลังแรง รมว.กลาโหม กล่าวว่า การที่นายทักษิณถูกฟ้องคดีมาตรา 112 ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจง และหากจบคดีเร็วเกินไป สังคมอาจจะไม่เคลียร์ เดินไปให้สุดคดีจบอย่างไร  สังคมจะเคลียร์ เชื่อว่านายทักษิณอยากจะเคลียร์มากกว่า คงไม่หนี คงไม่ปล่อยโอกาสทิ้ง

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีหากนายทักษิณชนะคดีถูกฟ้องมาตรา 112 จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ถูกดำเนินคดีรายอื่นหรือไม่ ว่าเรื่องการต่อสู้คดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริง รายละเอียด พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในคดีไม่เหมือนกัน การพิจารณาก็อาจอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองไม่เหมือนกัน คงจะบอกไม่ได้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานหรือไม่ แต่การได้รับข้อปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น สิทธิในการประกันตัว เพื่อจะทำให้มีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ รวมถึงถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรเป็นบรรทัดฐานทั่วไป

"หากใครที่จะไม่ได้รับการประกันตัวเป็นกรณียกเว้นที่มีเหตุจริงๆ ควรมีเหตุผลให้ชัด ส่วนผลตัดสินไม่เหมือนกันในแต่ละคดี พูดยากว่าคดีไหนจะชนะหรือแพ้ในชั้นศาล" นายชัยธวัชกล่าว

ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมไทย ในมรสุมการเมือง" มีเนื้อหาช่วงหนึ่งระบุถึงคดี 112ของนายทักษิณว่า หากวันที่ 18 มิ.ย.นายทักษิณไม่มาตามที่อัยการนัดก็น่าจะโดนหมายจับเลย ที่เลือกเริ่มป่วยโควิดในวันที่ 28 เพื่อขอเลื่อนไม่มาในวันที่ 29 เพราะติดโควิดนั้นก็คงต้องการเวลาเตรียมการเท่านั้น วันจริงผมว่าเขาต้องมา แต่ต้องจัดการให้ดูดี ไม่ใช่ให้ไปนั่งอยู่หน้ากรงขังใต้ถุนศาล 2 ชั่วโมง รอศาลขึ้นสั่งคำขอประกันตัวอย่างผู้ต้องหาทั่วไป สื่อถ่ายรูปตอนพิมพ์นิ้วมือกันวูบวาบ ส่วนปัญหาว่าศาลท่านจะให้ประกันหรือไม่นั้น ถ้าไม่ให้ท่านก็ต้องมีเหตุผลอธิบายได้

ชี้ทักษิณมีเวลาสู้ 3 ศาล

ถามว่า คดีใหม่อย่างนี้ได้ประกันตัวแล้วสู้ 3 ศาลถึงชั้นฎีกา ก็ได้เวลาอีก 3-4 ปีสบายๆ นายแก้วสรรกล่าวว่า จะไปเลือกหนีเอาตอนศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยใช้ถุงขนมจนรู้คำพิพากษาก่อน พอรู้ว่าต้องโทษแน่ๆ ก็หนีเลย แต่จากวันนี้เขายังมีเวลาอยู่ในเมืองไทยอีกนาน

ดร.อิมรอน โสะสัน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญหลังจากนี้ อยากให้สังคมจับตาและมองข้ามไปจนถึงวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่พนักงานอัยการจะนำตัวนายทักษิณส่งฟ้องศาล ซึ่งต้องดูว่าจะมาหรือจะเลื่อนตรงนี้สำคัญกว่า สิ่งที่น่าคิดก็คือหากอัยการเป็นคนสั่งฟ้องเอง หลายกรณีหรือเกือบทุกกรณีมักจะไม่ได้รับการประกันตัว แต่ก็มีบางกรณีที่ได้รับการประกันตัวหาก พบหลักฐานใหม่ว่าไม่มีเจตนาหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะอาจจะเป็นไปได้ที่จะได้รับการประกันตัว ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องมาตรฐานการดำเนินคดี

ดร.อิมรอนกล่าวว่า หากวันที่ 18 มิ.ย. นายทักษิณได้รับการประกันตัว ศาลจะมีคำอธิบายอย่างไร ซึ่งต้องรอดูว่าคำวินิจฉัยจะออกไปทางไหน แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงวันนัดหมายนายทักษิณจะมาปรากฏตัวหรือไม่

"สิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามและจับตามอง คือกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณกำลังเผชิญอยู่จะได้รับการปฏิบัติมาตรฐานเดียวกันกับผู้ต้องหาคดี 112 คนอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ต้องหาเยาวชนหลายคนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว มีเพียงไม่กี่คนที่ช่วงหลังศาลให้ประกันตัว" นักวิชาการรายนี้ระบุ

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. โดยมีวาระนัดลงมติในประเด็นข้อศึกษา 2 เรื่อง คือ การตั้งคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และนิยามของคำว่า “แรงจูงใจทางการเมือง”

นายชูศักดิ์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า กมธ.ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะรวมหรือไม่ โดยจะนำการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมาพิจารณากัน

ถามถึงคดีที่นายทักษิณที่ถูกฟ้องมาตรา 112 นายชูศักดิ์กล่าวว่า คดีในลักษณะนี้ต้องพิจารณาว่ามีผลพวงมาจากการรัฐประหารหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และเชื่อว่านายทักษิณคงใช้สิทธิ์ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่ง กมธ.ชุดนี้จะพิจารณาเฉพาะคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น รวมถึงคดีชุมนุมทางการเมืองต่างๆ

"คดีของนายทักษิณ แน่นอนว่าเป็นผลพวงของการรัฐประหาร ขณะนี้ตอบได้เพียงเท่านี้ เพราะ กมธ.ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ หาก กมธ.ชุดนี้รวมเอาคดีมาตรา 112 ให้เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ทั้งหมดก็ต้องถูกรวมเข้ามาด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติ" นายชูศักดิ์กล่าว

ถาว่า ข้อเสนอของคณะอนุฯ ระบุให้รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย นายชูศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ชุดใหญ่ยังไม่ได้มีมติใดๆ  เบื้องต้นเห็นว่ามีเงื่อนไขมาก ทั้งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอนิรโทษกรรม เป็นต้น

"ส่วนตัวมองว่าควรมีการพูดคุยกันให้ตกผลึกเสียก่อน หากได้ข้อสรุปโดยไม่ต้องลงมติได้ก็เป็นเรื่องดี เพราะเรื่องนี้เป็นการพิจารณาข้อเสนอแนะของสภา ไม่ใช่การยกร่างกฎหมาย กมธ.ไม่ได้ยื้อเวลาแต่อย่างใด แต่ประเด็นมาตรา 112 มีความละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษากันให้ถ่องแท้ ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นการโยนเผือกร้อนมาให้ เพราะหาก กมธ.เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112 ถึงตอนนั้น กมธ.ชุดนี้ก็หมดหน้าที่แล้ว มีข้อกังวลเพียงเรื่องเดียวคือคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำตัวเสมือนศาลหรือไม่" นายชูศักดิ์กล่าว

ถามว่า ในส่วนพรรคเพื่อไทย หลังจากนายทักษิณถูกสั่งฟ้องในคดี 112 มีจุดยืนต่อมาตรา 112 อย่างไร นายชูศักดิ์กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้เป็นมติอะไร  แกนนำหรือผู้บริหารพรรคหลายคนก็ไม่ได้ขัดข้องว่าจะต้องรวมคดี 112 เข้าไปในการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่พรรคเพื่อไทยต้องการสดับตรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน เพราะไม่ต้องการให้มาตรา 112 เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมอีก

ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ยอมรับประเด็นการขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีอุปสรรคมากขึ้น หลังจากที่นายทักษิณถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 ซึ่งใน กมธ.ยังไม่ได้หารือ แต่ส่วนตัวมองว่าจะมีผลกระทบ

"ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีของนายทักษิณจะทำให้การเสนอพิจารณานิรโทษกรรมมีปัญหาทางการเมืองมากขึ้น แต่การทำงานของ กมธ.ที่จะประชุมวันนี้ (30 พ.ค.) ประเด็นของมาตรา 112 ไม่ใช่วาระหลักที่จะพิจารณา แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือกลไกกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ทั้งองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ของกรรมการเป็นอย่างไร ซึ่งมอบหมายให้อนุกรรมการฯ ไปศึกษา" นายชัยธวัชกล่าว 

หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า กมธ.จะเร่งทำงานเพื่อทำให้เกิดรูปธรรมและสรุปว่าจะใช้กลไกแบบไหนเพื่อพิจารณานิรโทษกรรม รวมถึงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขบางคดี หรือบางประเภทเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือกระบวนการเบื้องต้นก่อนได้รับพิจารณานิรโทษกรรมหรือไม่ หรือเป็นเอมเนสตี้โปรแกรม เพื่อพิจารณาเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง ซึ่งหลังจากนี้จะประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อทันส่งให้สภาพิจารณาช่วงเปิดสมัยประชุมเดือน ก.ค.นี้

กมธ.นิรโทษฯ ยังไม่ตัด 112

ต่อมาภายหลังการประชุมนานกว่า  3 ชม. นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. แถลงว่า กมธ.ยังไม่มีข้อสรุปใด และให้อนุกรรมการฯ นำความเห็น กมธ.ที่หารือไปปรับปรุงก่อนนำเสนอมายังกมธ.ในวันที่ 6 มิ.ย.อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อยุติ อย่างไรก็ดี การหารือของ กมธ.ยังไปไม่ถึงประเด็นของการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112

นายนิกรกล่าวว่า สำหรับวาระพิจารณา กมธ.สัปดาห์หน้าจะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ นิยามของคำว่า “แรงจูงใจทางการเมือง" การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบคณะกรรมการ มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ คดี ฐานความผิด หรือการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรม กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ อาทิ การล้างมลทิน การคืนสิทธิ และการยอมรับผิดและการให้อภัย

ส่วน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการนำข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งตนเองเป็นประธานเข้าที่ประชุม กมธ.ในวันนี้ว่า ได้มีการเสนอรายงาน 7 ประเด็นใหญ่ ดังนี้ 1.แรงจูงใจทางการเมือง ว่าจะมีการนิยามหรือใช้กรอบระยะเวลาอย่างไร 2.การจำแนกประเภทการกระทำในคดีที่มีเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยจะจำแนกเป็นคดีหลัก คดีรอง คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หรือคดีที่เกิดขึ้นในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมไม่ปกติ เช่น ช่วงที่เกิดการรัฐประหาร

3.การนำเสนอทางเลือกในการนิรโทษกรรม เช่น ทางเลือกให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม ทางเลือกที่จะไม่ใช้คณะกรรมการนิรโทษกรรม และทางเลือกแบบผสมผสาน แต่ยังไม่มีการลงมติว่าจะเลือกในทางใด เนื่องจากยังมีความเห็นที่หลากหลาย 4.นำเสนอโครงสร้าง องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ หากเป็นกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม 5.กลไกและกระบวนการในการนิรโทษกรรม 6.กรอบในการเยียวยา และการล้างมลทินผู้กระทำความผิด และ 7.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

"เรื่องความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีการพูดคุยเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราตัดทิ้ง เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้ กมธ.ไม่เคยตัดทิ้งเลย แต่มีกระบวนการไปบิดเบือนข้อมูลว่ามีการตัดมาตรา 112 ทิ้ง ขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณา ไม่เคยมีการพูดคุยว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้ใคร กลุ่มบุคคลใด เหตุการณ์ใด หรือการกระทำใดเป็นพิเศษ เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมต้องช่วยทุกคนให้ได้รับประโยชน์ของกฎหมาย และไม่ว่าฐานความผิดใด หากกระทำไปโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ก็สามารถอยู่ในข่ายนิรโทษกรรมได้" รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว

กรรมาธิการฯ รายนี้ระบุกรณีในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันหรือไม่ว่าหากมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะต้องนำเข้าทุกคดี ไม่เลือกปฏิบัติ ว่าเป็นสิ่งที่เรายึดถืออยู่แล้ว แต่ในแง่กลไกกระบวนการจะมีขั้นตอนอย่างไรนั้น ยังไม่มีข้อสรุป ไม่เคยมีการพูดคุยกรณีของนายทักษิณและคดีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณแม้แต่ครั้งเดียว  ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งในคณะอนุฯ หรือ กมธ.ชุดใหญ่

ถามว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนไปหรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพรกล่าวว่า  ในชั้น กมธ.ที่มาจากหลายฝ่ายไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ เลยต่อกรณีของนายทักษิณ แม้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายจะมองว่าเรื่องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ยุ่ง แต่ในชั้น กมธ.ไม่มีบทบาท หรืออิทธิพลของพรรคเพื่อไทยเข้ามาเลย  ทุกคนมีความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาจากสัดส่วนของพรรค หรือตัวแทนจากกลุ่มไหน

วันเดียวกัน นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวว่า ร่างกฎหมายประชามติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนี้ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว  จากนั้นจะลงมาที่สภาเพื่อให้วิปรัฐบาลพิจารณา ซึ่งวิปรัฐบาลจะพิจารณาในวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 10.30 น. เมื่อผ่านความเห็นชอบของวิปฯ แล้วจะส่งกลับไปที่ ครม.อีกครั้ง เพื่อนำเข้าที่ประชุมครม. คาดว่าจะเป็นวันที่ 17 มิ.ย. พร้อมกับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบร่างแล้ว หลังจากนั้นขอความเห็นชอบและนำเข้าบรรจุวาระในการประชุมสภาในวันที่ 18 มิ.ย.

"ขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ ซึ่งจะดำเนินการภายในกี่วันขึ้นอยู่กับกฎหมายกำหนด โดยนายกฯ จะเป็นผู้ประกาศวันทำประชามติ เนื่องจากการทำประชามติเป็นการทำในนามของรัฐบาล ซึ่งคิดว่าไม่เกินปลายปีนี้น่าจะได้ทำประชามติ" นายนิกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง