โยนผู้โดนตัดสิทธิสู้ในศาลฎีกา

"เลขาฯ กกต." เช็กความพร้อมไปรษณีย์ไทย เริ่มส่งบัตรเลือก สว. ทั่วประเทศ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. มั่นใจถึงปลายทางปลอดภัยโปร่งใส แจงปรับรูปแบบบัตร กันพลาดเลือกคนไม่มีสิทธิทำเสียทั้งฉบับ ยันสกัดฮั้วได้มากขึ้น ชี้ผู้สมัครโดนตัดสิทธิอย่าโทษหน่วยงาน แนะร้องสู้ในศาลฎีกา

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เวลา 11.15 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงกรณีมีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีลักษณะต้องห้ามเป็น สว. 2,020 คน และพบว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ว่าขณะนี้มีผู้สมัคร สว.ที่มีลักษณะดังกล่าวมายื่นร้องต่อ กกต. ซึ่งในข้อเท็จจริงจะต้องไปร้องต่อศาลฎีกา ภายใน 3 วัน โดย กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก่อนการสมัครว่า ผู้ที่เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนคนที่เป็นสมาชิกพรรค  หากมีหลักฐานว่าได้ยื่นลาออกแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณี 2,020 คนถูกตัดสิทธิจะกระทบกับจำนวนกลุ่มภายในอำเภอ และจะกระทบกับการเลือกไขว้หรือไม่นั้น ตรงนี้ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

 “การพ้นจากการเป็นสมาชิก หากมายื่นลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองที่สำนักงาน กกต. ก็จะมีผลทันที ที่ผ่านมาเราอนุโลมให้ยื่นลาออกที่สำนักงาน กกต.จังหวัดด้วย แต่ถ้าไปยื่นลาออกกับนายทะเบียนสมาชิกพรรค คือการยื่นที่พรรค  ทางพรรคจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล ซึ่งจะมีการแจ้งให้ กกต.ทราบภายใน 15 วัน การส่งข้อมูลนั้นอาจจะล่าช้า แต่ กกต.ก็ยึดหลักฐานใบลาออก ถ้าผู้สมัครมีหลักฐานดังกล่าว ก็จะมีการรับสมัครทุกราย ดังนั้นจะมาโทษ กกต.ไม่ได้  เพราะการเป็นสมาชิกพรรค พรรคเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ และสามารถตรวจสอบได้ ตอนนี้ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลฎีกาเอา” นายแสวงระบุ

นายแสวงกล่าวชี้แจงกรณี กกต.ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือก สว.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2567 ซึ่งมีการแก้ไขเกี่ยวกับบัตรเลือก สว.ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงาน ซึ่งทุกการเลือกตั้ง สิ่งที่สำนักงานตระหนักคือทำอย่างไรให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าได้อย่างไร และรักษาเจตจำนงของผู้ลงคะแนน การเลือก สว.ครั้งนี้มีลักษณะเฉพาะ ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือก และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือก ซึ่งในการเลือกไขว้ระดับประเทศ ผู้เลือกจะมีคะแนนเสียงถึง 10 คะแนน และในมาตรา 56 (6) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ได้กำหนดรูปแบบบัตรเสียไว้ว่า ถ้าไปเขียนหลายเลขประจำตัวของผู้ไม่มีสิทธิได้รับเลือก จะกลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่ช่องอื่นๆ  ในบัตรเดียวกันนี้อาจจะเป็นบัตรดี หลายเลขคนอื่นถูกทั้งหมด

"สมมติว่า ในวันเลือก มีผู้ไม่มารายงานตัว หรือตกรอบในช่วงเช้า ช่วงบ่ายหากมีผู้สมัครไปเขียนหมายเลขผู้ตกรอบลงในบัตร บัตรนั้นจะเสียทั้งฉบับ ที่กฎหมายออกแบบมาเช่นนี้เพื่อป้องกันการฮั้ว สำนักงาน กกต.ก็เห็นว่า ทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ ดังนั้น ถ้ายังคงรูปแบบการออกเสียงในบัตรใบเดียวอาจจะทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ จึงได้ออกแบบบัตรใหม่โดยคิดว่าทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย และไม่ต้องมีใครเสียคะแนนจากปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดเขา และเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มาสังเกตการณ์" นายแสวงระบุ

ส่วนมีผู้กังวลการออกแบบบัตรเลือก สว.ใหม่นี้ จะเปิดช่องให้เกิดการฮั้วกันง่ายขึ้นนั้น เลขาธิการ กกต.ถามกลับว่า จะทำให้เกิดการฮั้วตรงไหน ไม่ใช่พูดลอยๆ ต้องยกตัวอย่างว่าจะทำให้เกิดการฮั้วอย่างไร แต่สำหรับบัตรใหม่นี้จะยิ่งทำให้เกิดการฮั้วยาก ส่วนโอกาสที่จะสลับบัตรกันแล้วหย่อนลงผิดหีบนั้น ไม่มี เพราะเราตั้งแถวแยกเป็นกลุ่มๆ การแสดงตัวครั้งแรกคือการตรวจสอบว่าบัตรกับคนตรงกันหรือไม่ จำนวนเท่ากันหรือไม่ แล้วค่อยนับ นั่นแสดงถึงความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชน หรือผู้สมัครที่อยู่ในนั้นสามารถสังเกตการณ์ได้อย่างละเอียด 

เมื่อถามถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยในวันเลือก สว. นายแสวงกล่าวว่า กกต.จะมีเจ้าหน้าที่ 2 ชุดในการดูแล คือมีชุดรักษาความสงบและชุดรักษาความปลอดภัยหลายร้อยคน กรณีมีผู้กังวลเรื่องการพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่ คิดว่าไม่น่าจะมี โดยเฉพาะผู้สมัคร สว. โทรศัพท์ยังพกเข้าไปไม่ได้ สิ่งที่นำเข้าไปได้มีเพียงใบแนะนำตัวเอง (สว.3) และคู่มือที่ใช้ในการลงคะแนน นอกนั้นเอาอะไรเข้าไปไม่ได้ อาวุธยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะ สว.กำลังจะเข้าไปรับผิดชอบประเทศ ไม่ควรจะทำอะไรแบบนี้

สำหรับกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.)  การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงไอลอว์ ขอเข้าไปสังเกตการณ์นั้น นายแสวงกล่าวว่า ในที่เลือกไม่มีคนเข้าไปได้ ส่วนนอกพื้นที่เลือก สว. ประชาชนทุกคนสามารถสังเกตการณ์ได้ กรรมาธิการฯ และไอลอว์มีสิทธิเท่ากัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตผู้สูงอายุไปสมัครจำนวนมาก เสี่ยงเกิดการฮั้วนั้น นายแสวงกล่าวว่า ทางพื้นที่มีการเข้าไปดูและสอบถามเบื้องต้นหลังจากเห็นว่าผิดสังเกต ซึ่งทำให้ผู้สมัครเกิดความน้อยใจ ตกใจว่าตัวเขาตั้งใจมาสมัครแต่กลับถูกสอบแล้วอย่างนั้นหรือ   ดังนั้นในส่วนของพื้นที่มีการหาข้อมูลอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งถือว่าเขาอยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาเป็น สว. เมื่อผิดสังเกตพนักงานของเราไปบันทึกเหตุการณ์และสอบถามข้อมูลไว้ก่อน ทั้งนี้ พบในหลายพื้นที่

จากนั้นเวลา 12.30 น. ที่ศูนย์ประสานงานการขนส่งบัตรเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 นายแสวงพร้อมด้วยนายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมตรวจสอบความพร้อมของศูนย์ประสานงานการขนส่งบัตรเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ซึ่งเป็นจุดพักบัตรเลือก สว. ก่อนที่จะกระจายส่งไปยังอำเภอและเขตต่างๆ รวม 928 จุด โดยจะเริ่มดำเนินการขนส่งตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ถึงวันที่ 2 มิ.ย.2567 โดยจะเริ่มส่งบัตรเลือก สว.ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนวันที่ 1 มิ.ย. ขนส่งไปยังพื้นที่ตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ และวันที่ 2 มิ.ย. ขนส่งไปยังกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยนายดนันท์กล่าวว่า ทางไปรษณีย์ไทยจัดเตรียมระบบขนส่งบัตรเลือก สว. และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบขนส่งที่แยกสำหรับภารกิจนี้โดยเฉพาะ โดยไม่ได้ไปปะปนกับการขนส่งในระบบไปรษณีย์แบบปกติ โดยในทุกเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรถขนส่งบัตร เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย และมีรถตำรวจทางหลวงนำและปิดท้ายขบวนตลอดเส้นทางขนส่ง ซึ่งมีระบบตรวจสอบรถขนส่งแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบจีพีเอสที่ติดตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อบัตรได้ถูกขนส่งไปถึงปลายทางแล้ว จะส่งให้กับกรรมการผู้รับมอบ โดยจะมีการลงหลักฐานทั้งเวลาส่ง สถานที่ของผู้รับมอบ ยืนยันว่าการขนส่งมีความปลอดภัย โปร่งใส และเชื่อถือได้

วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี กกต.เปลี่ยนรูปแบบบัตรเลือก สว.แบบเลือกไขว้ จาก 1 ใบ 4 ช่อง เป็น 4 ใบ ใบละ 1 ช่อง ว่ารูปแบบใหม่เอื้อต่อการทุจริต หากคนใช้บัตรทั้ง 4 ใบ เลือกกลุ่มเดียวที่ตนเองจัดตั้ง บัตรไปอยู่ในหีบ ตรวจสอบไม่ได้ คะแนนคนนั้นเพิ่ม 4 เท่า ขณะที่รูปแบบเดิม เป็นรูปแบบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2567 มีพิมพ์ตัวอย่างในคู่มือการเลือก สว. มีการอบรมเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และอาจมีการให้โรงพิมพ์จัดพิมพ์บัตรไปแล้ว การเปลี่ยนรูปแบบบัตรใหม่ ใครรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ ทั้ง 23 อำเภอ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ปรากฏว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านการรับสมัคร สว.จำนวน 51 คน ส่วนใหญ่ที่มีลักษณะต้องห้าม โดยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้เหลือผู้สมัคร สว.จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 1,785 คน 

ที่ จ.พิจิตร นายอมร  รัชตังกูร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า มีผู้สมัคร สว. 537 คน จาก 12 อำเภอ ตรวจสอบพบผู้สมัครลักษณะต้องห้าม 25 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สมัคร สว. จังหวัดพิจิตรให้ข้อมูลว่า มีผู้สมัคร สว.บางคน ที่มีนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติว่าจ้างให้มาสมัครเพื่อโหวตให้กับผู้ที่ตนเองสนับสนุนในราคา 1,000-2,500 บาท ซึ่งชุดสืบสวนสอบสวน กกต.พิจิตรทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว กำลังหาหลักฐานเอาผิดต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ