ทักษิณไม่รอด112 อสส.ส่งฟ้องศาล18มิ.ย./เพื่อไทยเปิดทางนิรโทษ

"อัยการสูงสุด" สั่งฟ้อง "ทักษิณ" ผิด ม.112-พ.ร.บ.คอมพ์  อนุญาตเลื่อนส่งตัวฟ้อง 18 มิ.ย. เหตุติดโควิด ชี้หากไม่มาตามนัดอีกโดยไม่แจงเหตุขัดข้อง ต้องให้ ตร.นำตัวมาฟ้องภายในกำหนด "วิญญัติ" ลั่นพร้อมสู้คดี  อุบยื่นขอความเป็นธรรมก่อนถูกส่งตัวฟ้องหรือไม่ โวยคลิปกล่าวหาถูกตัดต่อ  จี้ พงส.หากพิสูจน์ได้ต้องมีคนรับผิดชอบ "นายกฯ" ระบุ "แม้ว" ถูกฟ้อง 112 ไม่กระทบรัฐบาล แต่กระทบจิตใจหัวหน้า พท. "ทวี" ย้ำชัดคนละคดีไม่มีผลต่อการพักโทษ "กมธ.นิรโทษกรรม" นัดถก 30 พ.ค. จับตาเคาะล้างผิดคดี 112หรือไม่

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 29 พ.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการประจำจังหวัดสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ร่วมกันแถลงข่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีให้สัมภาษณ์สื่อในต่างประเทศเข้าข่ายผิด ป.อาญา ม.112

นายประยุทธกล่าวว่า คดีนี้เมื่อวันที่  16 ก.พ.59 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม เป็นผู้กล่าวหา นายทักษิณ ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท  และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี โดยในชั้นแรกนายทักษิณหลบหนียังไม่ได้ตัวมาทำการสอบสวน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร  อัยการสูงสุด ในขณะนั้น พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.59 เห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณตามข้อกล่าวหา

ต่อมานายทักษิณได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย และถูกควบคุมตัวไว้ในคดีอื่น และในวันที่ 17 ม.ค.2567 อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและคณะ  ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีนี้ให้กับนายทักษิณทราบแล้ว ปรากฏว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และต่อมานายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วนแล้ว พร้อมได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเพิ่มเติมให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา

อัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง พ.ต.ท. หรือนายทักษิณ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค.2519 ข้อ 1 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8

โดยวันนี้พนักงานอัยการไม่สามารถยื่นฟ้องนายทักษิณต่อศาลได้ เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัด โดยได้มอบอำนาจให้ทนายความมายื่นขอเลื่อนการฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ออกไปเป็นวันที่ 25 มิ.ย.2567 เวลา 09.00 น. พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วยเนื่องจากติดโควิด โดยแพทย์ให้หยุดพักงานและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.-3 มิ.ย.2567

สั่งฟ้อง 112 ทักษิณ 18 มิ.ย.

นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุขอเลื่อนคดีมีการอ้างการป่วยเพราะติดโควิด โดยหมอให้พักเพื่อสังเกตอาการถึงวันที่ 3 มิ.ย. จึงอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 18 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. เพื่อนัดให้นายทักษิณมาพบพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวต่อไป

ถามว่า สาเหตุการสั่งฟ้องคืออะไร  นายประยุทธกล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยเหตุผลของอัยการสูงสุดที่สั่งฟ้องได้ในตอนนี้ เนื่องจากเป็นสาเหตุทางคดี แต่ยืนยันว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้องตามหลักกฎหมาย เมื่อถามว่า ในวันนัดครั้งต่อไปจะสามารถขอเลื่อนได้อีกหรือไม่ หากก่อนหน้านี้นายทักษิณได้มีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทางอัยการจะนำมาเป็นเหตุผลในการประกอบพิจารณาพิจารณาให้เลื่อนอีกครั้งหรือไม่นั้น นายประยุทธกล่าวว่า ต้องดูเหตุผล อย่าเพิ่งคาดเดา ต้องรอดูวันที่ 18 มิ.ย.ก่อน แต่การอธิบายประกอบเหตุผลการมาหรือไม่มา มีขั้นตอนการปฏิบัติของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ชัดเจน รวมถึงข้อกฎหมายที่ชัดเจนไม่ต้องกังวลตรงนั้น

ซักว่า หลังจากนี้จะสามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม หรือขอเพิ่มพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า เป็นเรื่องของอัยการสูงสุดที่จะใช้ดุลพินิจ เราไม่ก้าวล่วง เเต่ก็ต้องกลับไปดูระเบียบว่าถ้าหากเป็นการยื่นร้องขอความเป็นธรรมเ เละไม่ใช่การประวิงคดี ก็เป็นประเด็นที่อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา

"ในส่วนที่บอกว่าคำสั่งอัยการสูงสุดเป็นเด็ดขาดหรือไม่ จะเป็นกรณีที่สั่งไม่ฟ้อง ในกรณีมีความเห็นเเย้ง เเต่คำสั่งของอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการเมื่อสั่งฟ้องเเล้วเป็นการใช้ดุลพินิจตามขั้นตอนกฎหมายที่เมื่อสั่งเเล้วให้เป็นคำสั่งที่มีกฎหมายรองรับก็ต้องนำตัวมาฟ้อง เรื่องร้องขอความเป็นธรรมคนละประเด็นกัน เพราะคำฟ้องใดที่ยังไม่มีการเเก้ไขเปลี่ยนเเปลงก็ยังดำรงคงอยู่ การจะเปลี่ยนเเปลงโดยมีเหตุร้องขอความเป็นธรรม เช่น เเม้อยู่ในชั้นศาลเเล้ว เมื่อร้องขอความเป็นธรรม ก็อาจจะเปลี่ยนเเปลงได้ เช่น เป็นคู่เเฝดเเล้วฟ้องผิดตัว เราก็ต้องให้ความเป็นธรรม ประเด็นร้องขอความเป็นธรรมไม่มีผลเปลี่ยนเเปลงคำสั่ง เว้นเเต่มีข้อเท็จประกอบการพิจารณาต้องดูเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่เป็นการเปิดช่องให้นายทักษิณ เรื่องนี้เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้กับทุกคน ไม่ได้เจาะจงเพื่อใครคนหนึ่ง  เรื่องนี้มีทั้งดุลพินิจของอัยการสูงสุดและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ถ้าเป็นการประวิงคดีจะไม่พิจารณา เเต่อย่างใดเรียกว่าประวิงคดีนั้น ก็จะดูเเต่ละเรื่องเป็นครั้งๆ ไป” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุ

ส่วนนายวิพุธกล่าวว่า ได้เตรียมคำฟ้องไว้เรียบร้อยแล้วทั้งหมด แต่ยังไม่ได้เสนอผู้บังคับบัญชาอยู่ระหว่างนำตัวมาส่งฟ้อง ส่วนใบรับรองแพทย์ที่ออกให้นั้นได้ลงวันที่ 28 พ.ค.67 

ขณะที่นายนาเคนทร์กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถยื่นฟ้องนายทักษิณได้ในวันนี้ เนื่องจากนายทักษิณเป็นผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นอัยการ ซึ่งกรณีดังกล่าวในการฟ้องจะต้องนำตัวส่งศาลพร้อมกับสำนวนเพื่อส่งฟ้อง มิฉะนั้นศาลจะไม่รับฟ้อง 

"ในวันที่ 18 มิ.ย. หากนายทักษิณไม่มา และไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง ทางอัยการจะเป็นหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนให้นำตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในกำหนดเวลาต่อไป สำหรับสิทธิ์ของจำเลยในวันที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ก็สามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้ และเป็นดุลยพินิจของศาลที่พิจารณา" อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ระบุ

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายทักษิณ กล่าวว่า ได้ทราบคำสั่ง อสส.เเล้ว ก็ขอบคุณทางอัยการที่ได้ให้เลื่อนฟังคำสั่งเ เละที่ผ่านมาได้ดำเนินการสอบตามที่ได้ร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งผลคำสั่งฟ้องเป็นเรื่องปกติของกระบวนการยุติธรรม โดยการขอความเป็นธรรมมีหลายประเด็น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เปิดเผย แต่หลังจากนี้น่าจะเปิดเผยได้ เเต่ไม่ใช่วันนี้

ทนายโวยคลิปหลักฐานตัดต่อ

"ทางทีมทนายความได้ตั้งข้อสังเกตและพิรุธของพยานหลักฐานและพยานบุคคล รวมถึงการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนและการสั่งของอัยการสูงสุดในสมัยนั้น ในช่วงการยึดอำนาจ ซึ่งอยากให้สื่อลงไปตรวจสอบดูว่าเป็นอย่างไร ในฐานะผู้ต้องหาก็ต้องดำเนินการต่อผมในฐานะทนายความ ก็เชื่อว่านายทักษิณพร้อมที่จะเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม พิสูจน์สิ่งที่ท่านพูดว่าท่านมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาพาดพิงถึงสถาบันฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะต้องหักล้างพยานหลักฐานเพื่อทำให้เห็นว่าการสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดไม่สมเหตุสมผลอย่างไร นั่นคือหน้าที่ของเรา" นายวิญญัติกล่าว

ถามว่า วันที่ 18 มิ.ย. นายทักษิณจะมาได้หรือไม่ ทนายความนายทักษิณกล่าวว่า ต้องรอดูวันนั้น ในส่วนทนายตอบได้เเต่เพียงว่าท่านมีหน้าที่ต้องมา  สิ่งที่ทีมทนายขอตั้งข้อสังเกตถึงความสงสัยในพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนนั้นมีหลายประเด็น เช่น ประเด็นที่นำคลิปวิดีโอที่นำมากล่าวหา ทางเราเห็นว่าไม่ใช่คลิปที่วิดีโอต้นฉบับ   เเต่เป็นคลิปวิดีโอที่มีการตัดต่อ ซึ่งต้องไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เเต่หากในอนาคตที่สู้คดีกันเเล้วพบว่าคลิปที่มีการกล่าวหาเป็นคลิปตัดต่อ ท่านต้องรับผิดชอบ ตนมั่นใจให้มีการตรวจสอบว่าเป็นคลิปตัดต่อไม่ใช่ต้นฉบับ เเม้ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะไปวินิจฉัยชี้ขาด เเต่ถ้าสุดท้ายเเล้วมีการตัดสินพิสูจน์ว่าเป็นคลิปตัดต่อเเละเป็นเท็จ ขอถามว่าคนจะรับผิดชอบอย่างไร

"ขอถามพนักงานสอบสวนได้เดินทางไปสอบสวนหาคลิปต้นฉบับที่ถูกต้องเเล้วหรือไม่ ถ้าคิดว่าคลิปที่กล่าวหาไม่ใช่การตัดต่อ ทั้งที่สำนักข่าวดังกล่าวในปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการอยู่ ขอถามว่าได้แสวงหาข้อเท็จจริงตรงนี้หรือไม่ นี่คือต้องข้อสังเกต" ทนายความนายทักษิณกล่าว

นายวิญญัติกล่าวว่า หลังจากนี้กระบวนการเข้าสู่ศาลในฐานะที่เป็นทนายฝ่ายกล่าวหาได้เตรียมพยานหลักฐานไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ในส่วนของเรา ในส่วนของอัยการก็ต้องไปพิสูจน์กันในศาล ซึ่งเห็นว่ามีไม่กี่อย่าง ซึ่งพยานวัตถุก็คือคลิปที่ดูจากภาพอินเทอร์เน็ตกล่าวหาว่าท่านหรือนำเข้าซึ่งไม่สมเหตุสมผล

"หากมีการยื่นฟ้องก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการประกันตัวแล้ว ก็ต้องมีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งก็มีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาในเรื่องนี้อยู่เเล้ว ในฐานะทนายที่เห็นหลักฐานข้อกล่าวหาและเหตุผลในการสั่งฟ้องคร่าวๆ ไม่มีความกังวลในการขอประกันตัวมาตรา 112" นายวิญญัติกล่าว

 เมื่อถามว่า ระหว่างนี้จะยังยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมก่อนวันนัดส่งตัวหรือไม่ ทนายความนายทักษิณกล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะคิดคนเดียวไม่ได้ต้องมีการปรึกษาและพูดคุยกับนายทักษิณและทีมทนายความ โดยเหตุผลคำฟ้องฉบับเต็มยังไม่เห็น ซึ่งคงจะได้เห็นในวันส่งตัวฟ้อง จึงยังไม่ทราบเหตุผลที่โดนสั่งฟ้องทราบเเต่รายละเอียดสั้นๆ

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณในคดี ม.112 ว่า ตนพูดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นคดีของตนเองที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ความเคารพกระบวนการยุติธรรม เรื่องรายละเอียดต่างๆ ผู้สื่อข่าวก็ทราบอยู่ว่าตนไม่อยากจะพูดอะไรมากมาย ต้องเคารพในระบบตุลาการด้วย ส่วนของนายทักษิณเอง ตอนนี้ก็เข้าสู่กระบวนยุติธรรมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยจะต้องไปชี้แจงให้ชัดเจน ก็ขอให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ส่วนที่นายทักษิณติดโควิด ยังไม่ได้โทรศัพท์ไปหา เพราะยังติดภารกิจอยู่ที่ฮ่องกง ไม่ได้พูดคุยเลย

ถามว่า เป็นการบั่นทอนกำลังใจของคนในพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามคนในพรรค พท. ในส่วนของตนก็มีหน้าที่ทำงานต่อไป เมื่อถามว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรค พท. รัฐบาลและนายทักษิณเป็นกลุ่มเดียวกัน เมื่อเกิดคดีนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่กระทบ แต่หากถามว่าจะกระทบกับพรรค พท.หรือไม่ ต้องไปถามกันเอง แต่ในแง่ของบุคคล ก็กระทบจิตใจของหัวหน้าพรรค พท. ซึ่งในแง่ของพรรคการเมือง ในแง่ของรัฐบาล ในแง่ของนายทักษิณ ตนว่าแยกแยะกันชัดเจน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายกฯ มีแผนลงพื้นที่ร่วมกับนายทักษิณ ต้องหยุดไว้ก่อนหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต จะเป็นเมื่อไหร่ 1 หรือ 2 ปี ตนก็ไม่แน่ใจ ตนไม่ทราบ หากถามตน แต่ท่านออกมาและตนมาเป็นนายกฯ ไม่เคยมีการพูดคุยว่าจะมีการลงพื้นที่พร้อมกัน ต้องใช้คำนี้ว่า ไม่เคย ซึ่งก็ไม่ทราบว่านายทักษิณมีความประสงค์อย่างนั้นหรือเปล่า อยู่ดีๆ จะไปทึกทักเอาเองว่านายทักษิณอยากจะลงพื้นที่กับตนมันก็ไม่ถูก แต่ขอยืนยันได้ว่าตั้งแต่ท่านออกมาและตั้งแต่ตนมาเป็นนายกฯ ไม่เคยพูดคุยกันเรื่องนี้

จับตา 'กมธ.' ถกนิรโทษ 112

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณติดโควิดโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจต้องส่งแพทย์เข้าไปดูอาการหรือไม่ว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลหลังมีคำพิพากษา เมื่อศาลตัดสินแล้วจะมีหมายขังมา ส่วนกระบวนการยุติธรรมของการพิพากษาเป็นของตำรวจ ในคดีที่นายทักษิณถูกฟ้องเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งตอนนี้สำนักงานสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรอิสระ ต้องทำงานรวดเร็ว กระทรวงยุติธรรมจึงไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน หากมีอะไรเกิดขึ้นหลังมีคำพิพากษากระทรวงยุติธรรมจึงจะเข้าไปรับผิดชอบในส่วนนั้น ซึ่งการทำงานของกระทรวงยังยึดหลักว่าตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์

ถามว่า นายทักษิณเดินสายลงพื้นที่ต่างจังหวัดระหว่างการพักโทษจนติดโควิด จะต้องมีการกำชับเรื่องของการเดินทางหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ในการพักโทษจะมีเงื่อนไขหากปฏิบัติขัดหรือแย้งกรมคุมประพฤติก็จะแจ้งมา แต่เท่าที่ทราบนายทักษิณยังไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข

ซักว่า มีการตั้งข้อสังเกตนายทักษิณไม่อยู่ในพื้นที่ตามที่กำหนดบ่อยเกินไป รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า อาจจะไปที่น้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะมีข้อมูลว่าคนอื่นไปถี่กว่านี้ เพราะการพักโทษหากจะไปไหนก็ขึ้นอยู่กับ ผอ.คุมประพฤติในเขตจะอนุญาต

ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งนายทักษิณพักอาศัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันมีรถเข้า-ออกอย่างต่อเนื่อง โดยเวลาประมาณ 10.40 น. มีรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีกรมท่า หมายเลขทะเบียน 4 ขณ 4007 กรุงเทพมหานคร ขับเข้าไปภายในบ้านและใช้เวลาเพียง 5 นาที ก็ขับออกจากบ้านไป ก่อนจะขับกลับเข้ามายังบ้านจันทร์ส่องหล้า และขับออกไปอีกหลายรอบ โดยครั้งสุดท้ายมีคนนั่งข้างคนขับสวมใส่แมสก์ออกไปด้วย

จากนั้นในเวลา 11.50 น. มีรถยนต์ Benz V250d สีดำ ทะเบียน ภษ 1414 กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่าเป็นรถส่วนตัวของนายทักษิณ จากการสังเกตด้านหลังคนขับถูกอำพรางมิดชิดไม่เห็นด้านในรถขับออกจากบ้าน นอกจากนี้ยังมีรถตู้โตโยต้า ไฮเอซ สีดำ ฮล 8507 กรุงเทพมหานคร เข้าไปภายในบ้านอีกหนึ่งคัน

ส่วนนายณัฐชา อินไชยสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นกรณีนายทักษิณติดเชื้อโควิด ก่อนที่อัยการสูงสุดเรียกฟังคำสั่งในคดีความผิด ม.112 โดยระบุว่า ขอยังไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ เนื่องจากไม่รู้ว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่  เพราะหากป่วยจริงจะดูเป็นการใส่ร้ายเกินไป ตอนนี้ยังไม่เห็นข้อเท็จจริงทั้งหมด หลายฝ่ายก็สันนิษฐานไปไกล มีทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อ หากไปกล่าวหาเลยก็จะไม่เหมาะสม

"มีใบรับรองแพทย์ออกมาแล้วก็ยังมีคนที่คิดไปเรื่องอื่นๆ ได้อีก และยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย อาจจะดูเหมือนเราไปจับผิดเขามากเกินไป" สส.พรรคก้าวไกลรายนี้ระบุ

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร  ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. ได้นัดประชุม กมธ. ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยมีวาระนัดลงมติในประเด็นข้อศึกษา 2 เรื่องคือ การตั้งคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และนิยามของคำว่า “แรงจูงใจทางการเมือง”

นายสมคิด เชื้อคง โฆษก กมธ. กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าการลงมติจะไม่เกิดขึ้น แต่คงเป็นการหาแนวทางและข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้ กมธ.ต้องการทำเรื่องดังกล่าวให้จบภายในเดือนมิ.ย.นี้ อย่างไรก็ดี ในประเด็นการตั้งกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนั้น มีรายละเอียดที่อาจตั้งต้นจากการพิจารณาว่าการนิรโทษกรรมจะรวมถึงคดีมาตรา 112 หรือไม่ หาก กมธ.มองว่าไม่ตัดและนำไปรวมด้วย จะทำเป็นบัญชีแนบทาง พ.ร.บ. และให้ กรรมการที่ตั้งขึ้นพิจารณา

ถามว่า กรณีมาตรา 112 นั้น ถูกจับตาที่เกี่ยวกับนายทักษิณที่ถูกอัยการสูงสุดฟ้อง นายสมคิดกล่าวยอมรับว่า ถูกจับตา และคาดคั้นให้พรรคเพื่อไทยต้องพูด ซึ่งตนบอกแล้วว่าหากพูดแล้วจะโดน เนื่องจากคนของเราหลายคนโดน หากพูดเท่ากับว่าเราต้องการช่วยคนของเรา พูดแล้วจะมีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอ และจะไม่ขัดขวาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการตั้งกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ก่อนหน้านั้น กมธ.ได้พิจารณารายงานที่อนุกรรมการฯ เสนอว่าด้วยองค์ประกอบของกรรมการ รวมถึงหน้าที่และอำนาจแล้ว แต่เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น องค์ประกอบของกรรมการ ที่มีข้อเสนอให้มีผู้พิพากษาร่วมด้วย ซึ่ง กมธ.ฝั่งตัวแทนผู้พิพากษามองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผู้พิพากษามาจากองค์กรตุลาการ ทำให้อนุกรรมการฯ นำกลับไปพิจารณาและเสนออีกครั้ง นอกจากนั้นในกรอบอำนาจและหน้าที่ มีประเด็นที่ กมธ.ชุดใหญ่ทักท้วงในความกังวลว่าจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการและบริหาร

อย่างไรก็ดี ในกรณีการลงมติเรื่องดังกล่าว มีแนวโน้มที่ กมธ.เสียงข้างมากจะเห็นชอบ เพราะสามารถทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคดีที่มีหลักเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมที่เป็นคดีปัจจุบันได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง