นายกฯรับปลดโจ๊กไม่สมบูรณ์

"เศรษฐา" ฟังเสียง  "กฤษฎีกา" ตีความ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการ รับยังไม่สมบูรณ์ ต้องฟังข้อทักท้วง ศึกษาข้อกฎหมายทำให้รอบคอบ จับตายกหารือในที่ประชุม ก.ตร. "สุรเชษฐ์" เจอช่องถาม "วิษณุ" ด้าน “เอก อังสนานนท์” ชี้ต้องรอผลวินิจฉัย คกก.พิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจชี้ขาด  ถ้าช้าอาจเสียสิทธิแคนดิเดต “ผบ.ตร.”

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 17.30 น.  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เข้าพบประมาณ 15 นาที โดยปฏิเสธว่าไม่ได้มารายงานความคืบหน้ากรณีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน แต่เป็นการพูดคุยเรื่องอื่น เรื่องอาชญากรรม ยืนยันว่าไม่ได้คุยเรื่องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

เมื่อถามว่า นายกฯ มองอย่างไรกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุให้ออกจากราชการ ตรงนี้ยังไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่สมบูรณ์ ขอใช้ว่าไม่สมบูรณ์ดีกว่า ตนเชื่อว่าหากมีการทักท้วงมาต้องรับฟัง และต้องให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งต้องมีความรอบคอบในการปฏิบัติ

เมื่อถามย้ำว่า หลังจากนี้จะต้องไปศึกษาข้อกฎหมาย จะทำให้ถูกต้องใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง ใช่ครับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่ากังวลใจใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า  กังวลใจทุกเรื่อง อย่างที่เคยบอก คำถามนี้ถามกันบ่อยเหลือเกิน เพราะว่ากังวล ก็ต้องทำให้ถูกต้อง มีรายละเอียดย่อยที่ต้องทำกัน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วน

ส่วนจะต้องฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ด้วยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกๆ ภาคส่วน เดี๋ยวต้องมานั่งพูดคุยกัน แต่มีขั้นตอนระหว่างอะไรก่อนอะไรหลังด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวขอไปลำดับเรื่องก่อนว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 พ.ค. เวลา 15.30 น. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม (ก.ตร. ครั้งที่ 4/2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยต้องจับตาว่าจะมีการหยิบยกประเด็นวาระที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีบันทึกความเห็นกรณีการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน  นายกฯ ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 156

และกรณีที่เห็นว่าการสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ออกจากราชการ หากเป็นความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ก็จะชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม มาหารือหรือพูดคุยในที่ประชุมหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ก.พ.ค.ตร. และ ก.ตร. เพื่ออุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ลงนาม โดยมองว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ ประกอบกับก่อนจะมีหนังสือคำสั่งให้ออกจากราชการ พบว่ามีการร่างคำสั่งเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน และลงนามในวันที่ 18 เมษายน แสดงให้เห็นว่ามีขบวนการให้ออกจากราชการหรือไม่ ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเตรียมจะยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้มีคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ส่วนตัวจึงต้องถามข้อมูลจากผู้รู้หรือถามทางด้านของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตัวเองตอบแทนไม่ได้

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไร พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ไปถามนายวิษณุ เครืองาม ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังไม่รู้สถานะการดำรงตำแหน่งทางราชการของตัวเอง หลังจากที่มีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเช่นนี้ แต่ยืนยันยังไม่ยื่นหนังสือหรือเรียกร้องความยุติธรรมเพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องอยู่ในกระบวนการอยู่แล้ว

พล.ต.อ.เอก อังสนาสนนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้สอบถามความเห็นในกรณีนี้ 2 ประเด็นคือ การสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรี ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบใน 2 ประเด็นนี้ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่งพร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาเหมาะสม

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนดังกล่าว หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ก็จะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน อย่างไรก็ตาม สำหรับ 2 ประเด็นที่ได้มีการสอบถามไป หน่วยงานรัฐที่มีการสอบถามความเห็นไปจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้ นายกรัฐมนตรีอาจจะรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแน่นอนตามที่วินิจฉัยมา แต่เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร.

พล.ต.อ.เอกย้ำว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน และกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ คือ 18 เมษายน 67  กระบวนการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ในหลายเรื่อง หากมีความล่าช้าออกไป อาจจะเสียสิทธิในการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ขณะเดียวกัน การพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. มีความเป็นอิสระ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.แต่อย่างใด

 “กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งตามขั้นตอนปกติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แต่กรณีนี้มีการอุทธรณ์และร้องทุกข์หลายหน่วยงาน” พล.ต.อ.เอกกล่าว

 ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า     เหตุผลที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการหรือพักราชการได้ ไม่ต้องรอผลการสอบสวนทางวินัย ก็เพราะเมื่อตำรวจกระทำความผิดอาญาจนตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นการจับการกระทำผิดซึ่งหน้า ถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหา หรือศาลออกหมายจับ ย่อมถือว่ามีพยานหลักฐานจากการสอบสวนน่าเชื่อว่ากระทำความผิดระดับหนึ่งแล้ว มีน้ำหนักกว่าการสอบสวนทางวินัยด้วยซ้ำ และในข้อเท็จจริงการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงอันเนื่องมาจากการทำผิดอาญา  คณะกรรมการฯ ก็ต้องอาศัยพยานหลักฐานจากการสอบสวนคดีอาญาเป็นหลัก ไม่มีทางขัดแย้งกัน สรุปว่าไม่มีมูลกระทำความผิดได้

การตั้งข้อสังเกตว่าควรรอฟังความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนก่อนตามมาตรา 120 นั้น เป็นเรื่องในหมวด 7   “การดำเนินการทางวินัย” คือตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรงอย่างเดียว โดยยังไม่มีหลักฐานจากทางใดว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ การลงโทษหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนระหว่างรอผลการสอบสวนจึงจำเป็นต้องรอฟังความเห็นคณะกรรมการสอบสวนก่อน ต่างจากการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาที่ผ่านการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมาพอสมควรแล้วจนกระทั่งถูกแจ้งข้อหาหรือศาลออกหมายจับ ฉะนั้นระหว่างต่อสู้คดี จึงได้กำหนดให้มีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือพักราชการ ซึ่งเป็นกระบวนการทางปกครองเพื่อป้องกันความเสียหายต่อทางราชการและประชาชน ไม่ใช่การลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด

"ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 131 ในการสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนได้ หากต่อไปมีกรณีตำรวจทำผิดอาญาร้ายแรงจนตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ว่าเป็นการจับการกระผิดซึ่งหน้าฆ่าคน หรือขนค้ายาเสพติด ถูกออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือศาลออกหมายจับ ก็จะปล่อยให้รับราชการตำรวจมีอำนาจหน้าที่รักษากฎหมายไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าต้องให้ผลการสอบสวนทางวินัยสิ้นสุด หรือต้องให้คณะกรรมการมีความเห็นเสนอก่อนหรืออย่างไร" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง