รัฐบาลคลอด กม.ประชามติ โวยกติกาสว.

ครม.เห็นร่างแก้ไข กม.ประชามติ ปลดล็อกเสียงข้างมาก 2 ชั้น  เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด และเข้าคูหาพร้อมการเลือกตั้งอื่นๆ ได้ หวังประหยัดงบ ก่อนส่งให้สภาพิจารณา ด้าน “ไอติม” วอนกติกาเลือก สว. บังคับใช้ครั้งเดียวหลังคนสับสน เห็นใจผู้ถูกปัดตกแม้ไม่ได้ทำผิด แถมเสียค่าสมัครฟรี

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอ โดยให้ส่งต่อไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิป  เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เสนอ ดังนี้ 1.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป และ 2.รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

นายคารมกล่าวว่า โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในประเด็นต่างๆ อาทิ การกำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยอาจกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติพร้อมกับกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

การกำหนดคะแนนเสียงในการทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงประชามติ และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น 

 โดยตัดเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติออก กำหนดวิธีการออกเสียงประชามติ โดยให้สามารถกระทำโดยการออกเสียงทางไปรษณีย์ การออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นได้ กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้มีการแสดงความคิดเห็น โดยเมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

  โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากไม่ต้องเดินทางไปใช้สิทธิหลายครั้ง และสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ เป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดไตร่ตรองก่อนออกเสียงประชามติ

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 10 คน ใน 7 อำเภอ ถูกปัดตกรอบ เพราะผู้สมัครน้อยจนไม่สามารถเลือกไขว้สายได้ว่า เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในมุมหนึ่งคือการทำให้ประชาชนถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เขาต้องสูญเสียเงินค่าสมัครไปด้วย อาจจะไม่ได้รับคืน ทั้งที่ความจริงเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ตนคิดว่าพอไปดูต้นตอของปัญหานี้ ก็ต้องมองเป็น 2 ปัญหา ปัญหาแรกคือตัวกฎหมาย  เพราะการไปล็อกว่าอย่างน้อยต้องมีผู้สมัครขั้นต่ำ 3 กลุ่มอาชีพ ถึงสามารถดำเนินการเลือกไขว้ได้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

 นอกจากนี้ กติกาการคัดเลือก สว.สร้างความสับสนพอสมควร ทำให้เราจะไม่ได้มี สว.ที่มาจากโครงสร้างอำนาจที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล  ปัญหาที่สองคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะท้อนให้เห็นว่า กกต.ยังทำหน้าที่ไม่ดีพอในการประชาสัมพันธ์ให้มีคนมาเข้าสู่กระบวนการรับสมัคร 

เมื่อถามว่า จะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้สมัครหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า แน่นอน เพราะทำให้ประชาชนที่สมัครเข้ามาสูญเสียทั้งสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก และสูญเสียเงินค่าสมัครไปฟรีๆ  ทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ยังไม่นับเวลาในการเตรียมใบสมัครอีกด้วย ส่วนคนที่ถูกตัดสิทธิ์ไปฟ้องร้องได้หรือไม่ นายพริษฐ์ระบุว่า ในเชิงกฎหมายต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ในเชิงการเมืองหรือสามัญสำนึก ตนก็เห็นใจคนที่โดนตัดสิทธิ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเลือก สว. ครั้งนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก่อนเลือกครั้งหน้าต้องร่างกฎหมายใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า ส่วนตัวหวังว่าจะไม่มีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นอีก อยากให้การเลือกแบบนี้เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย

 ส่วนการแก้กฎหมายในอนาคต จำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาถกเถียง อาจจะมี 2 โจทย์หลักๆ คือประเทศเราจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ และหากจำเป็นต้องมีจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คือการมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม กระบวนการเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้ โดย กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ตนได้ทำหนังสือถึง กกต.เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง กกต.ก็ต้องการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อุ๊งอิ๊ง’ แจ้นตรวจนํ้าท่วม ชาวบ้านลำบากแต่ยิ้มได้

นายกฯ อิ๊งค์ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมภาคเหนือ เสียงสั่นเครือเห็นใจชาวบ้านยังคงลำบากไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านยังยิ้มแย้ม ดีใจและโบกมือให้

โวเลือกตั้งซ่อม ‘เพื่อไทย’ มาแน่ กระแส ‘อิ๊งค์’ พุ่ง

"สมศักดิ์" โวลั่น! เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 กระแสเพื่อไทยสูง เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ หลัง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกฯ ตอนนี้มันเปลี่ยนแล้ว กระแสพรรคประชาชนหดหาย

คนเยอะกว่าเก้าอี้! ‘ภูมิธรรม’ ยอมรับบางรายเสนอชื่อไปแล้วเกรงมีปัญหาจริยธรรม

"ภูมิธรรม" เผยตั้งรัฐบาลยังไม่สะเด็ดน้ำ ไทยอยู่ในกระบวนการที่กำลังดูกันอยู่ เพราะคนเยอะกว่าตำแหน่ง ยอมรับตรวจเข้มกลัวมีปัญหาในเชิงจริยธรรม ว่าที่ รมต.ทยอยส่งประวัติ