ปลด‘โจ๊ก’ต้องทำตามกก.สอบ

“กฤษฎีกา” ชี้คำสั่ง “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน หากปฏิบัติตามคำแนะนำ คกก.สอบสวน ย่อมชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการนำความกราบบังคมทูล แนะนายกฯ ตรวจสอบทำให้รอบคอบก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม มีการเผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา   ซึ่งลงนามโดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน กรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) หลังจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือขอหารือว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ   โดยนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใดนั้น

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีตามข้อหารือนี้ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าว ตามมาตรา 106 มาตรา 108 มาตรา 119 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในวันเดียวกันกับวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าว ออกจากราชการไว้ก่อน นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการว่า ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2   พิจารณาข้อหารือและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วเห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 หรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 2   เห็นว่า มาตรา 131 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565  บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร.ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.ในเรื่องดังกล่าว แต่มาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ก.ตร. ให้นำกฎ ก.ตร. ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และใช้บังคับอยู่เดิมต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน ให้ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หรือไม่

โดยมีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าจะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง  เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ซึ่งส่งผลให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน  เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย  ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย  เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

จึงเห็นว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ มิได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ดังนั้น ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อหารือนี้ จึงต้องดำเนินการตามข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร.ดังกล่าว กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น  โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

เมื่อในกรณีนี้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีผลเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติขึ้นใหม่ จากที่เคยบัญญัติไว้แต่เดิมในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หลายประการ โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเกิดความเป็นธรรม

ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และมาตรา 60 ที่ได้บัญญัติหลักการใหม่ให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจคำนึงถึงระบบคุณธรรม มาตรา 6 (4) บัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ

รวมทั้งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และพิจารณาเรื่องร้องเรียน ประกอบกับมาตรา 120 วรรคสี่ ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจากมาตรา 131 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติว่า ในระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบสิทธิหลายประการของผู้ถูกสอบสวน

กรณีจึงเห็นได้ว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้น และความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมกับผู้ถูกสอบสวน และการนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปได้ด้วยความชอบธรรม

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง  (บช.ก.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้ตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นำพระราชดำรัส รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2512 ที่มีพระราชดำรัสว่า “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” ไปถ่ายทอดพูดปราศรัยต่อประชาชนที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านพัทยาเหนือ จ.ชลบุรี ผิดไปจากพระราชดำรัสข้างต้น จึงขอให้ บช.ก.ตรวจสอบว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์พูดผิดหรือตั้งใจสื่อความหมายผิดหรือไม่ และจะรับผิดชอบอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา