พล่านระดมทีมแก้ศก. นายกฯวอนช่วยหาทางออกย้ำธปท.ลดดอกเบี้ย/หนี้บ้านNPLพุ่ง!

"เศรษฐา" นั่งหัวโต๊ะถก ครม.เศรษฐกิจนัดแรก "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ร่วมด้วย ขอช่วยกันระดมความคิดหาทางออก หลังเจอภาวะ ศก.ต่ำกว่าประมาณการ พร้อมถกมาตรการกระตุ้น 3 ระยะ “ขุนคลัง” เตรียมคุย ธปท.เรื่องอัตราดอกเบี้ย ระบุหากสินค้าแพงดอกเบี้ยต้องถูกหน่อย “เผ่าภูมิ” จ่อชง ครม.พิจารณาค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอีรายใหม่ “จุลพันธ์” แย้มมีการคิดกระตุ้นช่วงรอแจกเงินหมื่น แบ่งงาน 5 ที่ปรึกษานายกฯ “พิชัย” ดูเศรษฐกิจ ขณะที่ “สภาพัฒน์" เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 91.3% ต่อจีดีพี มูลหนี้ 16.36 ล้านล้านบาท หนี้บ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท NPL พุ่งน่าตกใจ แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย

ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 16.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เข้าร่วมประชุม ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม  ติดภารกิจได้มอบหมาย นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เข้าประชุมแทน

รวมทั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมการประชุมด้วย

โดยนายกฯ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า กราบสวัสดีรองนายกฯ รัฐมนตรี ผู้ว่าแบงก์ชาติ เลขาธิการสภาพัฒน์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจในวันนี้ตามที่เราทราบกันดีว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก แต่วันนี้เรายังไม่เรียกภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตามที เพราะยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังช่วย แต่ก็ยังเดินหน้าไม่เต็มที่ และที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่ค่อยดีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง รวมถึงยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจโลกโตช้า กำลังซื้ออ่อนตัว โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รวมถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัย ความสามารถทางการแข่งขัน หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ต้องการการแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างและรากฐานเศรษฐกิจ แต่อีกหลายเรื่องภาครัฐสามารถทำได้เลย เช่น การเร่งการเบิกจ่าย การกระตุ้นกำลังซื้อ การท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าเรากำลังทำกันอยู่

"วันนี้จะมาพูดคุยในเรื่องของรายละเอียดว่าจะทำกันอย่างไร เพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นที่มาของการนัดประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดหาทางออก ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ จึงขอให้ทุกท่านใช้เวทีนี้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ มีอะไรที่อยากจะหารือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อะไรสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ โดยขอให้นายพิชัยนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่จะหารือกันในวันนี้" นายกฯ กล่าว

ภายหลังเสร็จสิ้นเป็นประธานการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นายเศรษฐาได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลในเวลา 18.00 น. โดยนายกฯ ได้ลดกระจกลง พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า นายพิชัยจะเป็นผู้แถลงผลการประชุมทั้งหมด ขณะที่นายเศรษฐพุฒิเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ภายหลังนายกฯ เดินทางออกไป

ต่อมาเวลา 18.20 น. นายพิชัย พร้อมด้วยนายเผ่าภูมิ และนายจุลพันธ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยนายพิชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศที่ส่งผลให้ สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศตลอดปี 2567 ลงจาก 2.7% เหลือ  2.5% โดยที่ประชุมได้นำทุกปัญหามากางบนโต๊ะ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน โดยจะมีมาตรการออกมาเป็นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำทุกวิถีทาง เพราะตนไม่พอใจการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 2.5%

จ่อคุย ธปท.ลดดอกเบี้ย

นายพิชัยกล่าวว่า ขณะนี้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่ำมากอยู่ที่ 57.2% ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภคเป็นวงจรไป เมื่อผู้บริโภคไม่ซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ ผู้ผลิตก็ไม่มีรายได้ จึงต้องหาทางกระตุ้นขึ้นมา โดยที่ประชุมไล่ดูสินค้าทุกตัวว่าเกิดอะไรขึ้นในรอบ 15 ปี ทั้งเกษตร  อุตสาหกรรม รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยว การทำพลังงานสีเขียวป้อนธุรกิจสีเขียว โดยท่องเที่ยวปีนี้เติบโต ในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่พอสู้ไหว กู้เงินได้ แต่รายเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.ก็เห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อและต้องมีมาตรการบางอย่างออกมา

"ศักยภาพของประเทศไทยดี อุดมสมบูรณ์ พื้นฐานดี  การขยายตัวของเศรษฐกิจต้อง 3.5% ขึ้นไป และที่ประชุมได้หารือถึงค่าเงินเฟ้อที่พอดีเพื่อนำมาเป็นนโยบาย โดยกระทรวงการคลังและ ธปท.ให้ความเห็นตรงกันว่าจะกำหนดกรอบเงินที่เหมาะสมเท่าใด ปกติจะคุยกันสิ้นปี แต่ครั้งนี้เราเห็นความจำเป็นต้องเริ่มคุยกันเลย โดยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หากสินค้าราคาถูก ดอกเบี้ยก็ต้องแพงหน่อย  หากสินค้าแพง ดอกเบี้ยก็ต้องถูกหน่อย ก็คงต้องมาดูว่าเราจะตั้งกรอบเงินเฟ้อเท่าใด" นายพิชัยกล่าว

ขณะที่นายเผ่าภูมิกล่าวว่า มาตรการระยะสั้นที่เห็นร่วมกันในที่ประชุมครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาการหดตัวของการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอย่างรุนแรง โดยผู้ว่าฯ  ธปท.ได้เสนอและเห็นตรงกับกระทรวงการคลัง คือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือมาตรการ PGS ซึ่งจะเป็นมาตรการ PGS รอบที่ 11 ซึ่งการช่วยเหลือในส่วนนี้ของภาครัฐ จะทำให้ปัญหาในเรื่องที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยในส่วนนี้ภาครัฐจะเข้าไปช่วยรับความเสี่ยงให้ โดยมาตรการนี้จะเข้า ครม.ได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องปล่อยกู้หรือค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่เคยได้รับเงินกู้เป็นอันดับแรกด้วย

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ส่วนของงบประมาณกระทรวงการคลังจะไปเร่งรัดการเบิกจ่าย ทั้งในส่วนของงบประมาณและงบในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้รับโจทย์ให้มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชน ช่วยให้มีการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น ส่วนมาตรการในภาคของการท่องเที่ยว ที่ประชุมมอบหมายให้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาไปดึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงโลว์ซีซัน โดยกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ซึ่งจะเปิดเผยเงื่อนไขให้ทราบต่อไป 

ด้านนายจุลพันธ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นายกฯ เชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาร่วม แต่ไม่ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการแบบคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งนายพิชัยเสนอให้ สศช.และ สศค.เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยจะหารือประเด็นขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้น เพราะมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอยู่พร้อม มีการโยนโจทย์มาให้ทุกคนทำต่อ และจะมีกลไกที่หลายกระทรวงจะได้นำไปขับเคลื่อน ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอว่าระหว่างรอมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ควรคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีเพิ่ม โดยแต่ละกระทรวงต้องรับกลับไปและนำมาหารืออีกครั้ง

ที่อยู่อาศัย NPL พุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายเศรษฐาเดินทางกลับจากภารกิจต่างประเทศเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้พิจารณาแบ่งงาน 5 ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง โดยให้นายชัยเกษม นิติสิริ รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ การพาณิชย์ การเงิน การคลัง พลังงาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงภายใน นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ดูเรื่องงานมวลชน ความเดือดร้อนของประชาชน และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รับผิดชอบเรื่องงบประมาณและการกระจายอำนาจ โดยจะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 4/2567 พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91.3% ต่อจีดีพี มูลหนี้ 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราชะลอลง จากการที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้การก่อหนี้ใหม่ปรับตัวลดลง ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.88% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.79% โดยสภาพัฒน์ต้องการให้ธนาคารเร่งดูแลปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย NPL

“ในส่วนของการติดตามแนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ที่สูงขึ้นจนน่าตกใจจากที่ติดลบ 1.7% ในไตรมาสก่อน บวกขึ้น 7% ในไตรมาสนี้ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งการแก้ปัญหาต้องทำโดยการประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อ” นายดนุชากล่าว

ทั้งนี้ รวมถึงหนี้สินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาทยังมีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือนต่อสินเชื่อรวม สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยไตรมาส 4/2566 มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.4% จึงอาจต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียต่อไป โดยในส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีข้อมูลจากไตรมาสก่อนมีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.3% ต่อจีดีพี ขยายตัวชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท โดยหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79%  ในไตรมาสก่อน      

 สำหรับด้านเครดิตของผู้กู้และคุณภาพสินเชื่อ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4.3% ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและต้นทุนการกู้ยืมที่สูง ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมูลค่าสูง ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 13.4% จาก 15.6% ในไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 3.5% จาก 1.9% ของไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัว 3.8% เทียบ 3.7% ในไตรมาสก่อน

ขณะที่ไตรมาส 1/2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6  ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1%ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5.0% ทั้งนี้ การจ้างงานสาขาการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ 0.7% ชั่วโมงการทำงานลดลงตามการลดการทำงานล่วงเวลา โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 41.0 และ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้ทำงานล่วงเวลาลดลงกว่า 3.6% และผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น 11.6% การว่างงานทรงตัวอยู่ที่ 1.01% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน