คุก‘ชลธิชา-แอมมี่’ ม.112หมิ่นสถาบัน ‘โรม’ชี้ไม่ปรองดอง

"ลูกเกด ชลธิชา" เจอคุก 2 ปีคดี ม.112 ไม่รอลงอาญา ได้ประกันตัวแสนห้า ตำแหน่ง สส.ยังอยู่ ส่วน  "แอมมี่" คุก 4 ปีคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลให้ประกันสู้ชั้นอุทธรณ์ "สส.โรม" โหนทันควันแค่เห็นต่างทางความคิด มีเด็กถูกส่งเข้าคุกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษา นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี ในคดีมาตรา 112 จากกรณีการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง

โดยศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษา นางสาวชลธิชา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม จำนวน 150,000 บาท

ภายหลังยื่นประกันตัวเสร็จแล้ว นางสาวชลธิชาได้เดินออกมาจากศาล โดยมีเพื่อน สส.และอดีต สส.พรรคก้าวไกลมายืนรอ นำโดยนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่สวมกอดให้กำลังใจ

จากนั้นนางสาวชลธิชาให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้มีทั้งหมด 10 คน 9 คนยกฟ้อง ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีเพียงตนที่โดนคดีมาตรา 112 ซึ่งหลังจากนี้จะยื่นอุทธรณ์ต่อ โดยวันนี้ศาลให้สิทธิ์ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิม จำนวน 150,000 บาท แค่เปลี่ยนสัญญาการประกันเท่านั้น

เมื่อถามว่า ศาลได้บอกอะไรเกี่ยวกับคดี นายชัยธวัช  ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวแทนว่า ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดมาก เรื่องนี้นางสาวชลธิชาได้มีการปราศรัยเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการในพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งนางสาวชลธิชาต่อสู้ว่า เจตนาของตนเองเป็นอย่างไร แต่ศาลก็ยังเห็นว่าผิด จึงพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี ทำให้ต้องอุทธรณ์ต่อไปแค่นั้น

นางสาวชลธิชาย้ำว่า ขอปรึกษากับทนายความก่อน  พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า ตนไม่ได้รู้สึกประหลาดใจ เป็นไปตามกระบวนการ

เมื่อถามว่า นางสาวชลธิชาเป็นคนที่ 2 ที่โดนคดีต่อจากนางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล พรรคมีแนวทางอย่างไรหากคนของพรรคโดนคดีอีก นายชัยธวัชกล่าวว่า ต้องพิจารณาเป็นกรณี ซึ่ง สส.ใหม่ของพรรคจะโดนคดีก่อนเข้ามาในพรรค

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายประกันของ น.ส.ชลธิชาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี พร้อมยื่นหลักทรัพย์เงินสด 150,000 บาทเป็นหลักประกัน โดยศาลจังหวัดธัญบุรีพิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ตีราคาประกัน 150,000 บาท โดยนายประกันวางหลักทรัพย์เงินสดและทำสัญญาประกันเป็นที่เรียบร้อย

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 3 คดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำอ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอม  บลูส์ ศิลปินและแกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์  หรือปูน กาเพ็ง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.  2550 มาตรา 14 (3)

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 28 ก.พ. 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมได้รับความเสียหาย นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมาจําเลยได้นําภาพเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในบัญชีเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “The BOTTOM BLUES” ของจําเลย ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 217 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่หนึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์กับฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นโทษที่หนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 3 ปี ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี และไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 3 ปี

คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1  ตามมาตรา 112 กำหนด 2 ปี และความผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพ์ 2 ปี รวมโทษแล้วจำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้ง 2 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายไชยอมรระหว่างอุทธรณ์ โดยมีประกันวงเงิน 200,000 บาท ส่วนนายธนพัฒน์  ศาลอาญาอนุญาตให้ปลอยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยมีประกันวงเงิน 50,000 บาท

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  โพสต์ข้อความทาง X (ทวิตเตอร์เก่า) ระบุว่า "การที่วันนี้ยังมีคนเข้าสู่เรือนจำเรื่อยๆ จากการเห็นต่างทางความคิด ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนอายุ 21 ปี (คุณปูน ในคดีแอมมี่) และยังมีคนบางกลุ่มมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุก เห็นดีเห็นงามกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ทั้งที่แลกมาด้วยความขัดแย้งที่มากขึ้น ซ้ำเติมรอยร้าวของสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น

สังคมเราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ถ้าเรายังเพิกเฉยไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน จะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่จบสิ้น  มีเด็กถูกส่งเข้าคุกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะร่วมกันสร้างสังคมที่ปรองดองกันได้อย่างไร ให้กำลังใจลูกเกด แอมมี่  และทุกๆ คนครับ"

จากกรณีทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่าสามารถให้ไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะกำลังช่วยเหลือ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” ได้ แต่ต่อมากรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่าไม่สามารถให้ไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดได้เพราะกระทบสิทธิผู้อื่น เป็นพื้นที่ความมั่นคงและเกรงจะหลุดว่อนโซเชียล แต่อนุญาตให้บิดามารดาเข้ารับชมภาพจากกล้องวงจรปิดได้

ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตนเดินทางไปราชการต่างประเทศ ได้สอบถามกับกรมราชทัณฑ์ก็ยินดีให้ครอบครัวและทนาย หรือผู้ได้รับมอบอำนาจมาดูไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดขณะช่วยเหลือ น.ส.เนติพรได้ อีกทั้ง ทราบว่ากรมราชทัณฑ์ทำหนังสือสอบถามผู้ปกครอง น.ส.เนติพรไปแล้วว่าพร้อมมาเมื่อไหร่ แต่ก็ยังไม่ได้รับการประสานติดต่อกลับมา ส่วนเรื่องกังวลคือข้อกฎหมาย เพราะในเหตุการณ์มีผู้เกี่ยวข้องในภาพกล้องวงจรปิดหลายคน เนื่องจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  ต้องได้รับความยินยอมก่อน แต่ยืนยันว่าสามารถเปิดภาพกล้องวงจรปิดให้ดูได้แน่นอน และก็ได้เชิญทนายกฤษฎางค์เข้าดูด้วย ส่วนหากต้องการไฟล์ภาพออกมา  ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาข้อกฎหมาย

พ.ต.อ.ทวีเผยว่า ตนยินดีต้องการให้เปิดเผย แต่ต้องยึดหลักกฎหมายในการปิดกั้น เพราะบางภาพมีความล่อแหลม อาจซ้ำเติมผู้เสียชีวิต จึงต้องขอครอบครัว น.ส.เนติพรก่อน และเกรงว่าอาจจะมีการหลุดไปยังสื่อโซเชียล อย่างไรก็ตามในเรื่องการเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว  กรมราชทัณฑ์ต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ จะมีแพทย์  รพ.ธรรมศาสตร์ พนักงานสอบสวน อัยการ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วม โดยเฉพาะบิดามารดาของผู้เสียชีวิตสามารถนำข้อมูลไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง