ศบค.ไฟเขียวซื้อยา "โมลนูพิราเวียร์" 5 หมื่นคอร์ส ชง ครม.อนุมัติงบ เคาะฉีดวัคซีนเพิ่ม 15 จังหวัดท่องเที่ยว "WHO" ขึ้นทะเบียนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทยแล้ว ตั้งโต๊ะแจง "โมเดอร์นา" ล็อตแรกมา พ.ย. ทยอยส่งสัปดาห์ละ 1-3 แสนโดส รพ.เอกชนย้ำเงื่อนไขคืนเงินไม่ได้ เลื่อน-โอนสิทธิ์แทน อภ.ขู่ซิลลิคฯ ห้ามช้าอีกงัด กม.ฟันแน่
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงผลประชุม ศบค. ว่าที่ประชุมเห็นชอบแผนการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 50,000 คอร์ส ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณากรอบวงเงิน
นอกจากนี้ ศบค.ยังรับทราบแผนการจัดหาวัคซีน โดยตามแผนที่แจ้งมาการนำเข้าวัคซีนตลอดทั้งปี 64 คือ 127 ล้านโดส ซึ่งยังคงเดิมตามแผน ขณะที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือน ต.ค. ตั้งเป้าฉีดให้ได้อย่างน้อยครอบคลุมประชากรทั้งหมด ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร้อยละ 50 และอย่างน้อยร้อยละ 70 ในหนึ่งพื้นที่ COVID Free Area หรือพื้นที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว หรือเชื่อมโยงจังหวัดเปิดรับนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งตั้งเป้าฉีดครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง เพิ่มเป็นร้อยละ 80
รวมทั้งยังเพิ่มการฉีดจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวจากเดิม ประกอบด้วย ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า), พังงา (เขาหลัก เกาะยาว), กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) ที่ตั้งเป้าฉีดระยะที่ 1 ให้ได้ภายในวันที่ 31 ต.ค.64 โดยเพิ่มอีก 15 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง และตราด ตั้งเป้าฉีดระยะที่ 1 ให้ได้ภายในวันที่ 30 พ.ย.64 ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 13 ต.ค. ฉีดเพิ่มเติมได้ 583,994 โดส ทำให้ยอดฉีดสะสมรวม 62,579,803 โดส
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ด้วยว่า สธ.ได้เพิ่มสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค+ไฟเซอร์, ซิโนแวค+ซิโนแวค กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า และแอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้นด้วยไฟเซอร์
ทางด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ไทยอีก 1 ล้านโดสว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ฝ่ายสหรัฐมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ กระทรวงการต่างประเทศ, สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ และผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวัคซีน แต่ทั้ง 3 ฝ่ายของเขายังไม่ได้ประชุมร่วมกัน ดังนั้นเรื่องเอกสารที่มีบางคนเข้าใจว่าฝ่ายไทยยังไม่ได้เริ่ม ถือเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว เพราะกรณีวัคซีน 1 ล้านโดสนี้ไม่มีเรื่องเอกสาร ทั้งนี้ จากการพูดคุยของคณะทำงานไทยและสหรัฐ วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าอาจจะเป็นวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช่ของบริษัทไฟเซอร์ โดยฝ่ายไทยและสหรัฐมีการพูดคุยกัน 3 ครั้ง และยังคงมีการประสานงานกันต่อไป โดยฝ่ายสหรัฐตั้งใจไว้ว่าจะดำเนินการเรื่องวัคซีน 1 ล้านโดส ให้เสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งตอนนี้เราต้องรอให้ฝ่ายเขาได้ข้อยุติเสียก่อน
ทางด้านบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUL) จากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าวมีผลทันทีและครอบคลุมถึงวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยก่อนหน้านี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. แถลงข่าวออนไลน์เรื่อง “ความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา” ว่า อภ.ร่วมกับสมาคมรพ.เอกชน ในการทำสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นตัวแทนถูกต้องจากโมเดอร์นา โดยได้ลงนามมาตั้งแต่ ก.ค. ซึ่ง อภ.ได้เร่งรัดทางบริษัทเรื่อยมา และหวังว่าจะนำเข้าต.ค. แต่กลับต้องล่าช้าเพราะเห็นว่ามีข้อติดขัด หากบริษัท ซิลลิคฯ ไม่สามารถส่งได้ตามกรอบเวลาที่แจ้งล่าสุดในเดือนพ.ย. ทาง อภ.จะต้องพิจารณาว่ามีอะไรผิดสัญญาหรือไม่ หากมีจะให้ทางฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อไป
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ล็อตที่ 1 สั่ง 3.9 ล้านโดส แต่ปัญหาคือความชัดเจนตารางกำหนดระยะเวลาที่นำเข้ามา ทำให้สมาคม รพ.เอกชนค่อนข้างเหนื่อย หมายความว่าต้องติดต่อลูกค้า 3.9 ล้านคน คำตอบที่ให้กลุ่มลูกค้าจึงต้องมีทั้งเลื่อนการฉีด โอนสิทธิ์ เพราะรัฐบาลให้ฉีดเข็ม 3 ทั้งแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ซึ่งเราเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม คำถามที่มาทางกลุ่ม รพ.ถามว่าเลื่อนได้หรือไม่ หรือโอนสิทธิ์ได้หรือไม่ ซึ่งทำได้ ส่วนที่ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ เราตอบไม่ได้จริงๆ เพราะเราก็ยังไม่ได้วันที่ชัดเจน ซึ่งหลายคนคาดหวังและไม่ยอมฉีดเข็มที่ 3 เพราะรอโมเดอร์นา แต่ส่วนตัวขอให้ไปฉีดเข็ม 3 ก่อน แล้วโมเดอร์นาให้เลื่อนออกไป ทั้งนี้ ในใบจองวัคซีนของลูกค้าเขียนชัดเจนว่าเลื่อนได้ โอนสิทธิ์ได้ แต่ไม่ได้ระบุเรื่องการคืนเงิน
ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งบริษัท ซิลลิค ประเทศไทย และบริษัทแม่ ตระหนักถึงความกังวลในการนำเข้าวัคซีน แต่ที่ช้า คือติดปัญหาการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อน ล่าสุดที่หารือกับโมเดอร์นาคือวัคซีนจะส่งมาให้ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้อย่างแน่นอน และจะทยอยส่งสัปดาห์ละ 1-3 แสนโดส ทุกสัปดาห์จนกระทั่งครบ 1.9 ล้านโดสในไตรมาส 4 และที่เหลือไตรมาส 1 ในปี 2565 ทั้งนี้ ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยการเพิ่มแหล่งผลิตที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย โดยจะเพิ่มแหล่งผลิตในสหรัฐอีกหนึ่งทางเลือก หากทำได้จะนำเข้าวัคซีนได้เร็วมากขึ้น
วันเดียวกัน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนองค์กรประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงยา ได้ทำหนังสือถึง สธ. เรียกร้องให้ต่อรองราคายาโมลนูพิราเวียร์ที่กำลังจะจัดซื้อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และนำเข้ายาชนิดนี้เดียวกันที่ราคาถูกกว่าเกือบ 50 เท่าจากอินเดียมาใช้แทน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่