ยอดสมัครสภาสูง 5 วัน แค่ ‘4.8หมื่น’

กกต. ๐ กกต.เผยยอดสมัคร สว. มีผู้สมัครทั่วประเทศ 48,117 คน หลังเปิดรับสมัคร 5 วัน วันสุดท้ายสมัครมากสุด  13,948 คน “ศรีสะเกษ” ยอดสมัครมากสุด 2,764 คน น้อยสุด “น่าน” 98 คน   “แสวง” ยันเดินหน้าเลือก สว.ไม่กระทบไทม์ไลน์ หลังพบว่า 2 อำเภอไม่มีผู้มาสมัครเลย หลายอำเภอไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่ม ยอมรับคนสมัครน้อย เขียนกฎหมายกำหนดสเปกสูงเกินไป

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยอดผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ตั้งแต่วันที่ 20-24 พ.ค.2567 รวม 5 วัน มีผู้สมัครรวม 48,117 คน โดยแบ่งเป็น วันแรก มีผู้สมัคร 4,642 คน, วันที่สอง มีผู้สมัคร 6,607 คน, วันที่สาม มีผู้สมัคร 9,434 คน, วันที่สี่ มีผู้สมัคร 13,486 คน และวันที่ห้า มีผู้สมัคร 13,948 คน  

จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดคือจังหวัดศรีสะเกษ 2,764 คน อันดับที่สองคือ กรุงเทพมหานคร 2,489 คน,   อันดับที่สาม เชียงใหม่ 2,000 คน,     อันดับที่สี่ บุรีรัมย์ 1,836 คน และอันดับที่ห้า นครศรีธรรมราช 1,798 คน 

ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด คือ จังหวัดน่าน 98 คน อันดับสอง ตาก 102  คน, อันดับสาม สมุทรสงคราม 128 คน,   อันดับสี่ พังงา 134 คน และอันดับห้า   อุตรดิตถ์และนครพนม จังหวัดละ 150 คน 

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยยอดผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาหลังปิดรับสมัครว่า ได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้นจากกรมการปกครองว่า นับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2567 ที่เปิดรับสมัครวันแรก จนถึงวันที่ 24 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรับสมัคร มีผู้มาสมัครจำนวน 48,226 คน

โดยมีผู้มาสมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยตรวจเบื้องต้นในวันที่สมัครแล้วมีเอกสารครบ จึงรับสมัครไว้ก่อน จำนวน 48,117 คน ซึ่งผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามโดยละเอียดอีกครั้ง ว่าจะประกาศเป็นผู้สมัครหรือไม่ ภายใน 5 วัน นับจากวันสิ้นสุดวันรับสมัคร

โดยมีผู้สมัครที่ตรวจเบื้องต้นที่รับสมัครแล้วไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จึงไม่รับสมัครไว้ จำนวน 109 คน

นายแสวงกล่าวว่า มีหลายอำเภอไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่ม และเบื้องต้นมี 2 อำเภอไม่มีผู้มาสมัครเลย และมีอำเภอ ที่สมัครเพียงกลุ่มเดียวอีก 7 อำเภอ ซึ่งการที่มีบางอำเภอสมัครเพียงกลุ่มเดียว หรือไม่มีผู้สมัครเลย หรือสมัครไม่ครบทุกกลุ่ม ไม่กระทบการเลือกตามไทม์ไลน์แต่อย่างใด เพราะกฎหมายได้เขียนรองรับไว้แล้วในมาตรา 19 และมาตรา 40 ว่า

การเลือกระดับอำเภอ ให้กระทำได้ แม้จะไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่ม กลุ่มใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการให้มีการเลือกในกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกในกลุ่มอื่น และในเขตอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกิน 5 กลุ่ม ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสาย

“จำนวนผู้สมัครอาจจะน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ อาจเนื่องจากกำหนดคุณสมบัติไว้สูง หาคนรับรองไม่มี การจัดตั้งเป็นหมู่เป็นคณะ บริหารจัดการได้ยาก เพราะระบบออกแบบป้องกันไว้    ทั้งการจัดตั้งและการฮั้วในระดับหนึ่ง รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการสมัครที่ระบบการเลือกมีความซับซ้อนหลายชั้น     จำนวนผู้สมัครประมาณนี้ น่าจะเอื้อให้การบริหารจัดการในการเลือก และการควบคุมทำให้การเลือกเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย” นายแสวงกล่าว

เฝ้าระวังฮั้วเลือก สว.

นายแสวงยังกล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดตามรายชื่อผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) ได้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

ส่วนมาตรการในการจัดการฮั้ว นายแสวงเผยว่า สำนักงาน กกต.ได้เฝ้าระวัง  ติดตามทุกความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ส่วนประชาชนที่ให้ข่าวว่ามีการฮั้ว แจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด หรือสมาร์ทโหวตได้ หรือ สนง. อาจส่งพนักงานไปขอบันทึกข้อมูลจากคนให้ข่าวอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้การเลือกเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเรื่องระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัครเป็น สว. ทางสำนักงาน กกต.ได้ตรวจสอบคำพิพากษาและกฎหมายเบื้องต้นแล้ว ระเบียบ กกต.ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ ตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ที่กำหนดว่า ในกรณีคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

และเรื่องนี้สำนักงาน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในช่วงวันหยุดจะได้ประมวลเรื่องและความเห็นเสนอ กกต.ในวันจันทร์และอังคารนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นแนวทางกับผู้สมัครและสื่อมวลชนโดยเร็วต่อไป

มีรายงานว่า กกต.จะประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว.เบื้องต้นของทุกกลุ่มอาชีพและทุกอำเภอ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (www.ect.go.th) และแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) ภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร การถูกจำกัดสิทธิ และการสมัคร 1 กลุ่ม หรือ 1 อำเภอ ให้เสร็จสิ้น หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่ถูกจำกัดสิทธิ และได้สมัครรับเลือกเพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครทุกกลุ่ม

โดยจะเลือกระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2567, ระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 การเลือกแต่ละระดับจะมีคณะกรรมการการเลือกและผู้อำนวยการการเลือกทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่ง กว่าจะได้ สว. ต้องผ่านกระบวนการเลือกซับซ้อนและหลายขั้นตอน คงเชื่อมั่นได้ว่า สว.ที่ได้รับเลือก จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงาน การเปิดรับสมัครเลือก สว. ซึ่ง กกต.บุรีรัมย์ได้จัดให้มีการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ทั้ง 23 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ ในระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยยอดผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2567 หรือ สว.จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 23 อำเภอ ทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ มีผู้สมัครรวม 1,836 คน ซึ่งมากเป็นอันดับที่สี่ของประเทศ โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดคือ จังหวัดศรีสะเกษ 2,764 คน, อันดับที่สองคือกรุงเทพมหานคร 2,489 คน, อันดับที่สาม เชียงใหม่ 2,000 คน

ทั้งนี้ มีอำเภอที่มีผู้สมัครครบทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์, นางรอง, ประโคนชัย, ลำปลายมาศ, คูเมือง, หนองหงส์ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ส่วนอำเภอที่มีผู้สมัคร 19 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสตึก และอำเภอละหานทราย

อดีตนักการเมือง-ขรก.เพียบ

อำเภอที่มีผู้สมัคร 18 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านกรวด, หนองกี่ และอำเภอปะคำ ขณะอำเภอที่มีผู้สมัคร 17 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกระสัง, ห้วยราช, โนนดินแดง และบ้านใหม่ไชยพจน์

อำเภอที่มีผู้สมัคร 16 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพลับพลาชัย, โนนสุวรรณ และบ้านด่าน ส่วนอำเภอที่มีผู้สมัคร 15 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชำนิ  ขณะอำเภอที่มีผู้สมัคร 14 กลุ่มอาชีพ จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาโพธิ์ และอำเภอแคนดง ส่วนอำเภอที่มีผู้สมัคร 13 กลุ่มอาชีพ มีจำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุทไธสง

โดยผู้สมัคร มีทั้งอดีตรองปลัดกระทรวง อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี อดีตนักการเมือง อดีตข้าราชการ และประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ หมายเลขประจำตัวผู้สมัครจะเป็นการเรียงตามตัวอักษร ก. ข. ค. และเรียงเบอร์ไปเรื่อยๆ ตามการประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่ม ของผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ หลังจากมีการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว

ด้านนางพะเยีย ศิริโชติ ผอ.กกต.สงขลา เปิดเผยว่า ปิดสมัครรับเลือก สว.67 แล้ว มีจำนวนผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 1,675 คน อ.หาดใหญ่ มีผู้สมัครมากที่สุด 263 คน, อ.จะนะ 203 คน, อ.เทพา 192 คน, อ.สะบ้าย้อย 178 คน, อ.เมืองฯ 145 คน, อ.นาทวี 144 คน, อ.สะเดา 113 คน, อ.ระโนด 80 คน, อ.สิงหนคร 74 คน, อ.กระแสสินธุ์ 33 คน, อ.คลองหอยโข่ง 24 คน, อ.นาหม่อม 17 คน, อ.บางกล่ำ 35 คน, อ.สทิงพระ 63 คน, อ.รัตภูมิ 56 คน และ อ.ควนเนียง 55 คน

แยกเป็นกลุ่มสาขาอาชีพ กลุ่มอาชีพทำสวน 359 คน รองลงมา กลุ่มอาชีพกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ กลุ่มสตรี 169  คน, กลุ่มการศึกษา 154 คน, กลุ่มผู้สูงอายุ 150 คน, กลุ่มอาชีพทำนา 93 คน,   กลุ่มอื่นๆ 84 คน, กลุ่มประชาสังคม 73 คน, กลุ่มศิลปะ 49 คน, กลุ่มประกอบกิจการขนาดกลางฯ 34 คน, กลุ่มสื่อมวลชน 21 คน ส่วนกลุ่มที่มีผู้สมัคร 1 คน กลุ่มผู้ประกอบการอุตฯ

นางพะเยียเปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ค. จะมีการประชุมชุดเคลื่อนที่เร็ว 15 คน และชุดสืบสวนสอบสวนอีก 7 คน เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และได้ส่งพื้นที่ไปตรวจสอบเก็บหลักฐานและพยานเพื่อนำไปสู่การดำเนินการไต่สวน   หากพบว่ามีมูลตามคำร้องจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่ นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่า การรับสมัครเลือก สว.ของเชียงใหม่ตลอด 5 วันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้สนใจมายื่นใบสมัครเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เปิดรับสมัครถึงวันสุดท้ายมีผู้มายื่นครบทุกอำเภอทั้ง 25 อำเภอ มากที่สุดคืออำเภอเมืองฯ มีถึง 358 ราย รองลงมาเป็นแม่ริม 207 ราย น้อยสุดที่อำเภอแม่ออน 23 ราย อมก๋อยและเวียงแหง ที่ละ 28 ราย ยอดรวมทั้งหมด 2,000 ราย

โดยกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตามมาตรา 11 (กลุ่ม 15)สมัครมากที่สุดรวม 201 ราย รองลงมาคือกลุ่มสตรี ตามมาตรา 11 (กลุ่ม 14) มี 190 ราย กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (กลุ่ม 19) มี 167 ราย, กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน (กลุ่ม 6) มี 153 ราย, กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (กลุ่ม 9) 130 ราย เช่นเดียวกับกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (กลุ่ม 2) มี 130 ราย และกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง (กลุ่ม1) มี 126 ราย

ส่วนกลุ่มอาชีพที่สมัครน้อยที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม (กลุ่ม 12) มี 16 ราย, กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม (กลุ่ม 13) มี 31 รายและกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม (กลุ่ม 18) มี 33 ราย ซึ่งหลังจากนี้ข้อมูลรายชื่อผู้สมัครสามารถติดตามได้ทางแอปพลิเคชัน Smart Vote ในวันที่ 25 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป และจะมีการส่งให้ 26 หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครและแต่ละอำเภอประกาศรับรองผู้สมัครภายในวันที่ 29 พ.ค.นี้ต่อไป จากนั้นเลือกในระดับอำเภอวันที่ 9 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ข้อมูลทางผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามในแต่ละอำเภอพบว่า  สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งได้แจ้งประชาชนทุกส่วนช่วยกันตรวจสอบติดตามการเลือก สว. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส หากพบเห็นการทุจริตการเลือก สว. โปรดโทร.แจ้งสำนักงาน กกต.  0-5311-2347 หรือสายด่วน กกต. 1444 หรือแจ้งผ่าน Application ตาสับปะรด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้เหตุการณ์ยังคงเป็นปกติ ยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามาแต่อย่างใด มีแต่กระแสข่าวเรื่องการจ้างผู้ลงสมัคร แต่ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ