ฟุ้งทัวร์3ปท.ได้ตามเป้า นัดอันวาร์ลงด้ามขวาน

"เศรษฐา" ปากหวานทิ้งทวนปาฐกถาที่โตเกียว รัฐบาลไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิต EV ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ 30%  ภายในปี ค.ศ.2030 แต่ยังสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปค่ายญี่ปุ่น

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา ประมาณ 09.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2  ชั่วโมง) ณ โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29  (the 29th Nikkei Forum Future of Asia) พร้อมกล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ  “Asian Leadership in an Uncertain World” (การเป็นผู้นำของเอเชียในบริบทโลกที่มีความผันผวน) 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยแสดงเจตจำนงร่วมเป็นสมาชิก OECD ขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนและแสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่าง OECD กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนและยกระดับมาตรฐาน มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกเพื่อรักษาและดึงดูดนักลงทุน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน (Being green starts at home)  ซึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยรวมของประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะภาคพลังงานและการขนส่ง  โดยไทยยินดีรับการลงทุนเพิ่มเติมในด้านไฮโดรเจนสีเขียว และเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิต ขณะที่ด้านการขนส่ง รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งอนาคต และสร้างอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ครอบคลุม โดยเป้าหมายแรกคือ การเพิ่มการผลิต EV ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ.2030 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ของญี่ปุ่นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น และนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญมายาวนาน ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความร่วมมือของอาเซียนในการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศในอาเซียนอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) ที่จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค โดยประเทศไทยมีแนวทางจะเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี ค.ศ. 2040 ภาคเอกชน และสถาบันการเงินเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการสร้างระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาดนี้ โดยควรจัดให้มีสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีให้เหมาะสม ซึ่งการเงินที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นแรงผลักดันหลักได้ โดยประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2021 และจะมีการออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยินดีต้อนรับนักลงทุนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โลกที่เชื่อมต่อกันทางดิจิทัล ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อทางเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสร้างสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทย ประชาชนที่มีความสนใจทางดิจิทัลได้เริ่มเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านนี้แล้ว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ระบบการชำระเงิน ผ่านคิวอาร์โค้ดขยายตัวรวดเร็ว แอปพลิเคชันส่งอาหาร และการซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจุบันระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนของไทยเชื่อมโยงกับหลายประเทศแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เชื่อมั่นว่าทั้งสามประการข้างต้นจะนำภูมิภาคเอเชียเข้าใกล้โลกที่ปรารถนาที่จะเห็นมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละประเทศต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะไม่มีใครสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยลำพัง เวทีการประชุมอย่าง Nikkei Forum นี้ จึงควรประสานความร่วมมือ โดยนำภาครัฐและเอกชนมาหารือร่วมกันแบ่งปันความคิด แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และบทเรียนร่วมกัน เพราะทุกคนที่อยู่ในชุมชนธุรกิจเหล่านี้ล้วนอยู่เบื้องหลังการเติบโตของเอเชียอย่างแท้จริง

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า  เอเชียจะต้องรักษาบทบาทนำร่วมกัน เพื่อจุดประกายการเติบโตและฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระบบโลก ซึ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งในยุค Asian Century ขณะนี้ถึงเวลาสู่การปฏิบัติ พร้อมขอให้มั่นใจว่าไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไทยจะยืนเคียงข้างญี่ปุ่น

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว โดยมีนายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว พร้อมข้าราชการ รอส่งโดยนายกรัฐมนตรีเดินทางออกจากท่าอากาศยานฮาเนดะ โดยเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  Boeing 787-8 เที่ยวบินพิเศษที่ TG 8847 กลับประเทศไทย

และในเวลา 16.30 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ภายหลังการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอิตาลี และญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15-24 พ.ค. รวมเวลา 10 วัน ว่าการเดินทางไปเยือน 3 ประเทศเป็นที่น่าพอใจ ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาเรื่องการค้าหรือการผลักดันวีซ่าเชงเกน และ FTA ทั้งนี้ ตอนที่อยู่ญี่ปุ่นได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีการพูดคุยเรื่องการตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เริ่มปะทุขึ้นมาอีก ซึ่งจะลงพื้นจังหวัดชายแดนใต้ภายในอีก 1-2 สัปดาห์ โดยได้เรียนเชิญนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย ลงพื้นที่พร้อมกัน ซึ่งนายกฯ มาเลเซียระบุว่าก็อยากจะไปหากมีตารางว่าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง