"นิกร" เผย "พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ" ของรัฐบาลเสร็จแล้ว จ่อชงเข้า "ครม." สัปดาห์หน้า พร้อมเสนอสภาทัน 18 มิ.ย.นี้ มองเว้นแก้หมวด 1-2 ไปก่อน ชี้หากอยากแก้เฉพาะเรื่อง ทำประชามติอีกครั้งได้
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แถลงสืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในประเด็นตามรายงานของคณะกรรมการฯ
โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และหากมีร่าง พ.ร.บ.ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของ สส.ที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุม หรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ให้นำร่าง พ.ร.บ.ของ สส.ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะนี้ สปน.ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับพรรคการเมืองที่เสนอบรรจุวาระร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ กกต. และสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. จากนั้นได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมา แล้วนำไปเสนอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 3-18 พ.ค. รวมครบ 15 วันแล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เข้ามาส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไข
นายนิกรกล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาลนั้น ได้ดำเนินการตามกรอบและขั้นตอนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รอเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ครม.สัปดาห์หน้า และเชื่อว่าจะเสนอทันเข้าร่วมในการพิจารณาของสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 18 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล ดังนี้
1.กำหนดให้หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่กรณี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียงอาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง
2.กำหนดให้การออกเสียงกระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธิอื่น และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง
3.กำหนดให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
4.กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
5.กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้
6.กำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียง หากพื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในวันเดียวกับการออกเสียง ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงในพื้นที่ดังกล่าว
นายนิกรกล่าวถึงข้อกังวลที่ว่า หากมีการล็อกไม่ให้แก้ไขในหมวดหนึ่งและหมวดสอง จะทำให้ประชาชนสับสนว่า ถึงจุดนั้นแล้วค่อยแถลงอีกที และจากการรับฟังความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ของนิด้าโพล ก็พบว่าเห็นด้วยที่จะให้ยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็สามารถแก้ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องไปทำประชามติโดยเฉพาะตามมาตรา 256 ซึ่งเบื้องต้นเราเห็นว่าควรทำประชามติ เพื่อแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป
“ไม่ใช่ว่าทั้งชาติจะแก้ไม่ได้เลย ถ้าเขามีเหตุผลพอ ก็ทำประชามติกับประชาชนอีกครั้งเป็นการเฉพาะได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบ แต่ไม่ให้เอามารวมในการรื้อทำใหม่ทั้งฉบับ เดี๋ยวมีปัญหาขึ้นมาการทำประชามติอาจจะไม่ผ่าน และเกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นมา ดังนั้น การเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองเอาไว้ อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่การไม่เว้นมีปัญหามากกว่าแน่นอน"
นายนิกรยังเชื่อว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพราะความเห็นแย้งของทุกฝ่ายได้รับการพูดคุยและรวมหลักการกันแล้ว จึงไม่น่ามีประเด็นขัดแย้งใดๆ ในการประชุม และคาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.ค. จะพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาชุดใหม่ จะมีก็เพียงให้ กกต.ออกประกาศกฎหมายที่นำมาใช้ประกอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งได้มีการหารือกันแล้ว และจะทำคู่ขนานกันไป
ภาคีกลุ่มราชภักดีเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายนิกรเป็นผู้รับหนังสือ เพื่อคัดค้านกรณีที่ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เรียกร้องให้บรรจุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง
นายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ กล่าวว่า อยากเตือนสติ น.ส.ภัสราวลี ว่า ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอาญาและความมั่นคง สิ่งที่มาเรียกร้องนั้น ถือเป็นความผิดไปแล้ว ขอให้ไปต่อสู้กันในศาล ตามกระบวนการ อย่าทำความผิดแล้วมาขออภัยโทษหรือนิรโทษกรรม ตนเห็นด้วยกับนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้ออะไรก็เห็นด้วย แต่ความผิดมาตรา 112 ไม่เกี่ยว เพราะไม่ใช่คดีทางการเมือง
“หากไม่หมิ่นจะกลัวอะไรกับมาตรา 112 หากไม่ได้ทำชั่วก็อย่ากลัวกับมาตรานี้ พวกเราอยู่กันได้ สังคมอยู่ด้วยกันได้ เรื่องนี้เพิ่งมีมาได้ไม่นาน เด็กเหล่านี้ไม่ได้ทำเองด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่มีผู้ใหญ่ที่เสี้ยม มีคนอยู่เบื้องหลังมุดอยู่ใต้กระโปรงของเด็ก สั่งให้เด็กออกไปทำให้เกิดความเสียหาย คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ก็ขอให้ย้อนกลับไปดูว่าใครมีคดีมาตรานี้ติดตัวอยู่”นายอัครวุธกล่าว
ด้านนายนิกรกล่าวว่า หนังสือที่ยื่นเราจะรับไว้เพื่อเข้าสู่คณะ กมธ. เรามีหน้าที่ศึกษา ไม่ได้มีหน้าที่ในการยกร่าง เราพบว่าจากการศึกษามีฐานความผิดที่อิงมาเกี่ยวกับคดีทางการเมือง 17 ฐานความผิด จากนั้นเราก็จะได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม และนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาใหญ่ว่าควรนิรโทษกรรมฐานความผิดอะไรบ้าง
แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการพิจารณาเรื่องนี้มายังไม่เคยมีคณะกรรมาธิการชุดไหนที่เอาคดี 112 มาพิจารณา เราจึงสรุปความเห็นว่าความผิดตามมาตรา 112 นั้นยังมีความอ่อนไหวอยู่ แม้จะมีการเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ต้องเรียนว่าเรายังไม่ได้มีการตัดสินอะไรว่าจะเอาคดีอะไรเป็นคดีหลักหรือคดีรอง และควรจะมีการดำเนินการอย่างไร ฉะนั้นข้อเสนอที่กลุ่มดังกล่าวมาเรียกร้องก็จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาใน กมธ.ด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"