เศรษฐาคอพาดเขียง ศาลถกรับคำร้อง/หึ่งชูศักดิ์เสียบถุงขนม

"อดีตตุลาการศาล รธน."  ข้องใจ "นายกฯ" ทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ "พิชิต" ทั้งที่มีปัญหาจริยธรรม ชี้ส่อพิรุธถามกฤษฎีกาเลี่ยงปม "จริยธรรม-ความประพฤติ" เหมือนจงใจช่วย "อ.เจษฎ์" มั่นใจถุงขนมชิงลาออกก็ไม่จบ เชื่อศาลต้องพิจารณาให้สิ้นกระแสความ "เชาว์" ลั่นความผิดสำเร็จ "เศรษฐา" ดึงดันตั้งคนมีตำหนิ สะพัด! "ชูศักดิ์" เต็งเสียบ "รมต.ประจำสำนักนายกฯ" แทน "สว.ดิเรก" น้อยใจไขก๊อก "กมธ.การเมือง" หลังถูกตำหนิยื่นปลุก สว.ถอดถอน "เศรษฐา-พิชิต"

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายสุพจน์ ไข่มุกด์  อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (กรธ.) และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่เป็นกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในปัจจุบัน กล่าวถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องของ 40 สว. ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ กรณีนายพิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่คดีดังกล่าวมีผู้ถูกร้องสองคน อีกคนคือนายกรัฐมนตรี จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องหรือไม่ ว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของตุลาการศาล รธน.ทั้ง 9 คนจะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยาก การจะเอาคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ศาล รธน.เคยวินิจฉัยไว้มาพิจารณาประกอบกับเรื่องนี้ก็พิจารณาได้ แต่รายละเอียดมันแตกต่างกัน

นายสุพจน์กล่าวว่า แม้ผู้ถูกร้องคนหนึ่งลาออกไป การที่ศาลจะรับไว้หรือไม่ ก็อยู่ที่ตุลาการศาล รธน.ว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร จะเอาคำร้องคดีอื่นๆ  มาเทียบเคียงไม่ได้ โดยเฉพาะคดีนี้เท่าที่ติดตาม เรื่องนี้มันซับซ้อนมาก อาจจะต้องมีการไต่สวนว่าทำไมก็รู้ทั้งรู้ว่ามีเรื่องของจริยธรรม การประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แล้วทำไมยังฝืนตั้งอีก แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งมันไปได้หมด

"หากเขาไต่สวนแล้วได้ความว่า ตอนที่มีการส่งหนังสือไปถามความเห็นกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ปรากฏว่าประเด็นที่ถามกฤษฎีกากลับมีการเว้นไม่ถามกฤษฎีกาในเรื่องจริยธรรม ไม่ถามเรื่องความประพฤติตามประมวลจริยธรรมหรือไม่ ก็แสดงว่าเขารู้ว่าถ้าถามไปกรรมการกฤษฎีกาจะตอบอย่างไร จึงไม่ถามกฤษฎีกา แล้วมาบอกว่าถามกฤษฎีกาไปแล้ว กฤษฎีกาบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นปมที่ต้องสืบพยานให้ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาอย่างไร” อดีตผู้ยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาล รธน.ระบุ

ทั้งนี้ การประชุมตุลาการศาล รธน.วันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ มีรายงานว่า ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน. ได้นัดประชุมตุลาการศาลรธน.ประชุม ที่เป็นการประชุมรายสัปดาห์ ซึ่งเลื่อนมาจากการประชุมในวันพุธที่ 22 พ.ค. เพราะเป็นวันหยุดราชการ โดยสำนักงานเลขาธิการศาลรธน.ในฐานะฝ่ายธุรการ จะเสนอคำร้องดังกล่าวให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.พิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ รวมถึงคาดว่าจะมีการแจ้งให้ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ทราบว่า  ปัจจุบันนายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่สอง ในคำร้องคดีดังกล่าว ได้ลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

"คาดว่าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ต้องพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ หลังนายพิชิตผู้ถูกร้องที่สองลาออกจาก รมต.ไปแล้ว แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ในฐานะผู้ถูกร้องที่หนึ่ง  ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ต้องพิจารณาโดยอ้างอิง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 51 ที่บัญญัติว่า คําร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้วก่อนศาลจะมีคําวินิจฉัยหรือมีคําสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคําร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจําหน่ายคดีนั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” แหล่งข่าวระบุ 

เชื่อศาลพิจารณาครบด้าน

นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรณีนายพิชิตลาออก มองได้ 2-3 แบบ หากพิจารณาว่าปลายทางคือได้แค่พ้นจากตำแหน่ง เมื่อปลายทางได้แค่พ้นถือว่าออกจากตำแหน่งแล้วจบ แต่ถ้าหากปลายทางไม่ใช่แค่พ้น ต้องพิจารณาด้วยว่าเขายื่นศาลเอาไว้ 2 เรื่อง คือมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งถ้าเกิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง มันอาจจะมีเรื่องการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ตรงนี้อาจจบไม่ได้ สมมุติลาออกไปแล้ว แต่ถ้าต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยต่อ

นอกจากนี้ มองอีกแบบ การลาออกคือจบเรื่องทั้งหลาย ถ้าเรื่องนี้นายพิชิตเป็นประธาน นายเศรษฐาเป็นรอง เมื่อเรื่องนายพิชิตจบด้วยเหตุลาออกก็ถือว่าไม่มีเรื่องที่ต้องดำเนินการกับนายเศรษฐา ซึ่งคิดได้ หรือถ้ามองอีกแบบ โดยมองเรื่องนายพิชิตกับเรื่องของนายเศรษฐาแยกกัน เรื่องของนายพิชิตเป็นเรื่องถุงขนม แต่เรื่องนายเศรษฐามีสามชั้นคือ ชั้นที่หนึ่ง แต่งตั้งคนอย่างนายพิชิตที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เป็นรัฐมนตรี ชั้นที่สอง มีการทำหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นนัยว่าจะฟอกขาวให้นายพิชิต และชั้นที่สาม ส่งหนังสือไปอธิบายเป็นอื่นไปอีก

"ทั้งสามชั้นที่ว่าเป็นเรื่องที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องแยกกัน ฉะนั้นเมื่อนายพิชิตลาออก ศาลท่านอาจยังต้องพิจารณาเรื่องของนายพิชิตต่อ ไม่อย่างนั้นจะขาดส่วนที่ต้องพิจารณาเรื่องของนายเศรษฐา" นายเจษฎ์กล่าว

 อย่างไรก็ตาม มองอีกแบบคือมันเป็นเรื่องของบุคคลและเรื่องตำแหน่ง ไม่ใช่ยื่นนายพิชิตหรือนายเศรษฐาเท่านั้น เพราะมีการยื่นนายพิชิตในฐานะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยื่นนายเศรษฐาในฐานะนายกฯ ว่าจะดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาว่า รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายกฯ คุณสมบัติเป็นอย่างไร ต่อให้ทั้งคู่ลาออกก็ยังต้องพิจารณา เพราะยังไม่สิ้นกระแสความ

"เรื่องนี้สำคัญ จะเทียบกับกรณีของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย หรือนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต่างประเทศเขาถือกันมาก เพราะเขาต้องเอาคนที่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เป็นรัฐมนตรี ฉะนั้น เมื่อเรื่องถึงศาลแล้วต้องให้สิ้นกระแสความ ไม่อย่างนั้นต่อไปจะตั้งใครแบบไหนก็ได้มาเป็นรัฐมนตรี" นายเจษฎ์กล่าว

ถามว่า ได้ประเมินเอาไว้หรือไม่ว่า ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องนี้ออกมาทางไหน นายเจษฎ์กล่าวว่า ไม่ได้ประเมินไว้ว่าจะออกทางไหน แต่เห็นว่าไม่ควรจบ ต่อให้นายเศรษฐาลาออกก็ไม่จบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความ

เช่นเดียวกับ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พิชิตลาออกเศรษฐา ยังไม่พ้นผิด" ระบุตอนหนึ่งว่า ผลพวงจากถุงขนมสองล้านบาท ตามหลอกหลอน กระแทกไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีด้วย เลยต้องตัดตอน หวังให้ศาล รธน.จำหน่ายคดี แต่สายไปแล้ว การลาออกของนายพิชิต อาจส่งผลให้เรื่องของนายพิชิตเองถูกจำหน่ายออกไป แต่ปัญหาของนายเศรษฐาซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 1 ยังไม่หมดไป เพราะความผิดของนายเศรษฐาสำเร็จไปแล้ว จากการตัดสินใจแต่งตั้งนายพิชิตเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ท่ามกลางเสียงทักท้วงอย่างต่อเนื่อง แต่นายเศรษฐาก็ไม่รับฟัง ยังคงนำชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอีก จึงถือเป็นความรับผิดชอบของนายเศรษฐา

นายเชาว์ได้หยิบยกส่วนหนึ่งในคำร้องของ 40 สว. ที่เกี่ยวข้องกับนายเศรษฐา ระบุว่า กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายพิชิต ด้วยการแต่งตั้งเป็น รมต. ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน ทำให้เข้าใจผิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิชิตเรียบร้อยแล้ว การกระทำของนายเศรษฐา จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคบค้าสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

"ในความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าไม่ได้ทำให้นายเศรษฐาสบายตัว พ้นข้อกล่าวหาแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ศาล รธน.อาจจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายพิชิต เพราะไม่มีเหตุให้วินิจฉัยแล้ว เนื่องจากเจ้าตัวลาออก แต่ของนายเศรษฐายังน่าจะพิจารณาต่อว่าพฤติกรรมเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ เรียกว่ามีหนาวครับงานนี้ หนาวแรกก็ต้องลุ้นถ้าศาล รธน.รับไว้พิจารณา จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือรับไว้พิจารณา ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังนอนใจไม่ได้ เพราะอำนาจอาจหลุดมือได้ทุกขณะ ตามใจนายใหญ่ ไม่เกรงใจประชาชน มีราคาที่ต้องจ่ายแบบนี้แหละครับ" นายเชาว์กล่าว

'ชูศักดิ์' เต็งเสียบแทน 'พิชิต'  

ดร.ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้ตั้งข้อสงสัย 3 ประเด็นที่มองว่านายพิชิตอาจมีคุณสมบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ คือ 1.การทูลเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อกราบบังคมทูลฯ และนายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รู้หรือควรรู้ว่านายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล จึงควรตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือกฤษฎีกามีข้อพิรุธที่หารือประเด็นคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ไม่ครบถ้วน โดยหารือไปเฉพาะมาตรา 160 (7) แต่ไม่ได้หารือคุณสมบัติในมาตรา 160 (4) (5) ที่กำหนดให้รัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

2.การที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดมีคำสั่งให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือน ในคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีต้นเหตุจากการอ้างว่านำถุงขนมไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ศาลถึงในบริเวณศาลฎีกา ซึ่งเมื่ออ่านรายละเอียดในคำพิพากษา ศาลวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, 2 และ 3 เป็นการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทำ ฟังได้ว่าเป็นตัวการร่วมกัน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ 6 เดือน และ 3.หากนายพิชิตมั่นใจในคุณสมบัติและข้อต่อสู้ของตนเองจริง เหตุใดจึงชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพียง 1 วัน

"จากข้อสังเกตทั้ง 3 ประการดังกล่าว  ผมเห็นว่านายกฯ ซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองจากการกราบบังคมทูลฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ แม้นายพิชิตจะลาออกจากตำแหน่ง ก็ไม่ทำให้คำร้องของ 40 สว.ต้องตกไป สามารถดำเนินการต่อได้จนจบกระบวนความ" รองเลขาฯ พรรคทสท.กล่าว

ขณะที่ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ และรองประธานวิปรัฐบาล พรรคเพื่อไทย (พท.) ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นกรณีการประชุมตุลาการศาล รธน.ต่อคำร้องคดี 40 สว. ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ โดยบอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ถามถึงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ คนใหม่แทนนายพิชิต นายครูมานิตย์กล่าวว่า อยู่ที่นายกฯ ซึ่งคนในพรรค พท.มีความเหมาะสมพร้อมที่จะเป็นรัฐมนตรีแทนได้ทุกคน แต่อยู่ที่ความเหมาะสม และการพิจารณาของนายกฯ รวมถึงการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคจะร่วมกันพิจารณา

ซักว่ามีกระแสข่าวนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าทีมฝ่ายกฎหมายพรรค พท.เป็นตัวเต็ง นายครูมานิตย์กล่าวว่า อาจารย์ชูศักดิ์เคยเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาก่อนหน้านี้ และเป็นผู้ใหญ่ของพรรคคนหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องข้อกฎหมาย และยังเป็นที่ปรึกษาของวิปรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลกหากจะเป็นอาจารย์ชูศักดิ์ แต่ทั้งนี้อยู่ที่ความเหมาะสมที่ผู้ใหญ่จะพิจารณานำใครเข้าไปทำงาน ซึ่งระบบพรรคมีอยู่ จึงไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์อะไร

อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายถ้าศาลรธน.ไม่รับคำร้องของ 40 สว.ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ หรือศาล รธน.รับคำร้อง แต่ไม่ได้สั่งให้นายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ ก็ต้องดูว่าจะมีการปรับ ครม.เลยหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีตำแหน่งใน ครม.ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง คือรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกับ รมช.การคลัง โดยก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออกจาก รมช.การคลังไปเมื่อ 8 พ.ค. แต่ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ใครมาเป็น รมช.การคลังแทน เพราะเดิมทีแกนนำจะขอคุยกับนายกฯ หลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น 24 พ.ค.นี้

"เมื่อเกิดกรณี 40 สว.ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาล รธน. ก็ทำให้การปรับ ครม.ต้องรอดูความชัดเจนจากผลการประชุมตุลาการศาล รธน.วันที่ 23 พ.ค.นี้ก่อน ซึ่งหากศาล รธน.ไม่รับคำร้อง ก็อาจทำให้มีการคุยเรื่องการเสนอชื่อคนมาแทนนายกฤษฎาและนายพิชิตต่อไป  แต่หากศาล รธน.รับคำร้อง ไม่ว่าจะมีการสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ได้สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็น่าจะทำให้การปรับ ครม.ก็อาจเลื่อนออกไป จนกว่าศาล รธน.จะวินิจฉัยคดีเสร็จสิ้น" นายครูมานิตย์กล่าว

สว.ดิเรกน้อยใจไขก๊อก กมธ.

ที่รัฐสภา มีรายงานว่า นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์  เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่สะดวกใจในการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการบางประเด็น

นายดิเรกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า น้อยใจในการทำงาน หลังถูกเพื่อนสว.บางคนตำหนิผ่านสื่อกรณี 40 สว.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาและนายพิชิตว่าไม่สมควรทำ เพราะ สว.หมดวาระไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เหมือนกับเป็นการสร้างปัญหาให้ประเทศ ต้องการล้มรัฐบาลจินตนาการไปไกล ทั้งที่เป็นความตั้งใจดีในการทำงานเพื่อประเทศ  การให้ความเห็นเช่นนี้ต่อสาธารณะเหมือนต้องการให้ความน่าเชื่อถือตนลดลง ไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพกัน ทั้งที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ เมื่อพิจารณาดูเวลาทำงานที่เหลือช่วงปลายสมัย จึงขอลาออกจาก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ส่วนตำแหน่ง กมธ.อื่นๆ ยังคงทำงานต่อไป

"ผมตั้งใจทำงาน แต่ถูกบั่นทอนกำลังใจ ยืนยันว่าการยื่นตรวจสอบนายกฯ และนายพิชิตเป็นการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่มีใบสั่งจากใครทั้งสิ้น" นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ นายดิเรกฤทธิ์เป็นตัวตั้งตัวตีในการล่าชื่อ สว.40 คนเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐาและนายพิชิตในประเด็นขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งมี สว.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว

นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตผู้สมัคร สส.กทม.เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีนายพิชิตลาออกจากตำแหน่งจากถูกครหาในเรื่องคุณสมบัติว่า ในสากลโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว  การที่นักลงทุนเขาจะกำเงินไปลงทุนในประเทศใดซักประเทศหนึ่ง สิ่งสำคัญประการแรกๆ ที่พิจารณาคือประเทศนั้นมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งแค่ไหน ซึ่งหลักนิติธรรมนี้หมายถึงหลักการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่ และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ตัวกฎหมายมีความเป็นธรรม ทันสมัย มีที่มาชอบธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเที่ยงธรรม ประชาชนเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

"แทนที่รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรมของประเทศเพื่อคืนความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก แต่นายกฯ กลับใช้อำนาจตั้งคนที่มีปัญหาคุณสมบัติในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และสุดท้ายก็ต้องลาออกเพราะทนกระแสสังคมกดดันไม่ไหว และตัวนายกฯ เองกำลังจะถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) จนไม่แน่ว่าจะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อหรือไม่ ซึ่งถ้านายกฯ เศรษฐายึดหลักนิติธรรม ไม่แต่งตั้งผู้ที่มีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่แรก" นายประพฤติกล่าว

นักวิชาการรายนี้ระบุว่า ตนสงสัยที่นายกฯ และคณะบินไปประเทศนู้นนี้ (ด้วยเงินภาษี) หลายสิบประเทศ และจีบแขกบ้านแขกเมืองมาลงทุน จะเปล่าประโยชน์เสียแล้ว เพราะเมื่อนักลงทุนต่างชาติเขาเห็นผู้นำประเทศใช้อำนาจอย่างไม่สนใจหลักนิติธรรมของบ้านเมือง เขาจะคาดหวังประเทศไทยจะมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเพื่อรองรับการลงทุนได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย

ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567