"เศรษฐา" เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ 27 พ.ค.นี้ หลังจีดีพีไทยไตรมาสแรกโตต่ำสุดในอาเซียน "ครม." ไฟเขียวแนวทางการจัดทำงบประมาณ ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 ใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมเคาะงบ 95 ล้าน ทำแพลตฟอร์มการชำระเงินภายใน 160 วัน "พิชัย" เล็งยื่น ครม. 28 พ.ค. เพิ่มสูงสุด 1.22 แสนล้านบาท ทำดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้น ศก.แข่งเพื่อนบ้าน "จุลพันธ์" ย้ำทำงบเพิ่มเติมไม่ใช่ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ณ เมืองมิลาน และกรุงโรม ได้โพสต์ข้อความผ่าน x ระบุว่า "กลับไปกรุงเทพฯ จะประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยเร็วครับ วันจันทร์ที่ 27 พ.ค. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ จะเรียกได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการก็ได้นะครับ"
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 2567 ลงเหลือเติบโต 2-3% หรือช่วงกลางของคาดการณ์ที่ 2.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% ซึ่งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ถือว่าขยายตัวได้ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยสิงคโปร์ โต 2.7%, อินโดนีเซีย โต 5.1%, มาเลเซีย โต 3.9%, ฟิลิปปินส์ โต 5.7% และเวียดนาม โต 5.7%
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า
จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเรื่องของแหล่งเงินได้มอบหมายให้
สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้หารือกันเพิ่มงบประมาณทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยสำนักงบประมาณเสนอให้ใช้งบกลาง ซึ่งเป็นการของบเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เนื่องจากผลของการเร่งการใช้งบประมาณสู่เศรษฐกิจได้ดีกว่าเป้า อัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสแรก 1.7 แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เกิดการติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ถือว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตและไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย แต่ยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตสูงกว่าไทย เราจึงต้องหาการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
นายพิชัยกล่าวว่า การจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต้องเช็กหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ เพื่อไม่ให้หนี้ไม่เกินกรอบ 70% และทั้งหมดจะนำมาเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาในรายละเอียด ก่อนที่จะยื่นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พ.ค.นี้ และยื่นสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
"เรายังไม่ได้ระบุวงเงินที่จะขอเพิ่มได้ชัดเจน แต่ตัวเลข 1.22 แสนล้านบาทเป็นวงเงินที่สูงสุดที่จะเป็นไปได้ตามกฎหมายตอนนี้" รองนายกฯ และ รมว.การคลังกล่าว
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในปีงบประมาณ 2567
นายชัยกล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวนทั้งสิ้น 3,480,000 ล้านบาท สงป.ได้จัดสรรงบประมาณแล้วรวมทั้งสิ้น 3,457,941.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.37 โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 1,749,963.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.61 ของงบประมาณที่จัดสรร ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก ดังนั้น การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จึงเป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ
"แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม มีสาระสำคัญ เช่น มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง จัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเป็นการกำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้" นายชัยกล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นผู้ดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) กรอบงบประมาณโครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 95 ล้านบาท และให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. ในการสนับสนุนข้อมูล และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป
ทั้งนี้ สพร.ได้จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินขึ้น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศไทย ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอันก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อทุกภาคส่วน ประกอบกับการดำเนินโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับการพัฒนาพื้นฐานทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานต่างๆ ของภาครัฐที่มีความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานภาครัฐ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
โดยมีระยะเวลาดำเนินการในระยะแรก จำนวน 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2567 จัดซื้อจัดจ้างและประชุมเชิงปฏิบัติการ เดือน ก.ค.-ธ.ค.2567 ดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ และเดือนต.ค.2567-มี.ค.2568 ให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งาน งบประมาณจำนวน 95 ล้านบาท โดย สพร.จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
"ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 ได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการดังกล่าวพร้อมกรอบงบประมาณ 95 ล้านบาทแล้ว" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงินดังกล่าว จะใช้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งจะรวบรวมการทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับเงินสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะเงินเบี้ยยังชีพทั้งหมด รวมถึงการรวมกระเป๋าเงินดิจิทัลของธนาคารรัฐเข้ามาอยู่รวมกันด้วย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า หลัง ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง การประชุมร่วม 4 ฝ่าย คลัง-สำนักงบประมาณ-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) หรือสภาพัฒน์ ต้องไปพิจารณากระบวนการในการทำงบประมาณเพิ่มเติมว่ายอดจะเป็นเท่าไหร่ กลไก และแหล่งเงินจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1- 2 สัปดาห์จากนี้เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป
"การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมามีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมมาแล้วเป็นสิบๆ ครั้ง โดยภาพรวมการดำเนินงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ มีเพดานกำหนด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ หลักๆ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต" นายจุลพันธ์กล่าว
รมช.การคลังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม.ได้มอบหมายให้คลังและสำนักงบประมาณไปหารือกันว่ามีแนวทางไหนที่เหมาะสมที่สุดในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งในแนวทางมีทั้งการโอนเปลี่ยนงบประมาณ การใช้งบกลาง และการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากได้ประชุมหารือกัน ก็สรุปว่าแนวทางที่เหมาะสมคือการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม โดยยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมนี้ เป็นไปตามกลไกในการบริหารจัดการตามมติ ครม.
ถามถึงการประชุม ครม.เศรษฐกิจที่นายกฯ นัดวันที่ 27 พ.ค. นายจุลพันธ์กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ระดับ 1.5% ซึ่งถือเป็นระดับที่ชะลอตัว โดยในที่ประชุม ครม. นายพิชัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่ำ โดยเฉพาะการชะลอตัวในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม และมองว่าจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม 2567 ว่าจะเพิ่มขึ้นไปเท่าใด แต่สองทางเหลือที่เหลือนี้จะการจัดทำงบกลางและการจัดทำ พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมกลางปี ซึ่งทั้งสองส่วนนี้รวมกันจะต้องได้ 1.75 แสนล้านบาท ตามที่เราคุยกันไว้
"ในส่วนของกรอบวงเงินของทั้งสองส่วน จะต้องมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐช่วงปลายสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา 28 พ.ค.67” รมช.การคลังกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ