ฟอกข้าวขาวจั๊วะ กรมวิทย์การันตี ไร้สารพิษ7ชนิด

เหลือเชื่อ! ข้าว 10 ปีกินได้จริงๆ ไม่ต้องกลัวเป็นมะเร็ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจ  ขอให้มั่นใจไม่พบสารพิษจากเชื้อรา 7 ชนิด ไร้อะฟลาท็อกซิน สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด คุณค่าทางโภชนาการไม่แตกต่างจากข้าวสารที่จำหน่ายในท้องตลาด แต่ถ้าส่งออกต้องตรวจอีกที "หมอวรงค์" แฉแหลก มีข้าวกระสอบใหม่โผล่ผสมในโกดัง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  พร้อมด้วยนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร นายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า แถลงข่าวผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางด้านสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ ด้วยระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

นายแพทย์ยงยศกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างข้าวสารจากองค์การคลังสินค้าจำนวน 2 ตัวอย่าง ถุงละ 3 กิโลกรัม จำนวน 1 ถุง และ 5 กิโลกรัม  จำนวน 1 ถุง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าด้านกายภาพและสิ่งแปลกปลอม พบเม็ดข้าวทั้งเมล็ดสีเหลืองมีกลิ่นอับ และพบมอดมีชีวิตและชิ้นส่วนแมลง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้าวหอมมะลิไทย (มกษ. 4000-2560) ซึ่งต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต

ด้านความปลอดภัยตรวจไม่พบสารพิษจากเชื้อรา 7 ชนิด ได้แก่ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ดีออกซีนิวาลีนอล (Deoxynivalenol) ฟูโมนิซิน (Fumonisins) โอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) และซิตรินิน (Citrinin) ส่วนผลการทดสอบสารรม ได้แก่ Hydrogen Phosphide Bromide Ion Ethylene Oxide สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตรวจไม่พบเช่นกัน

สำหรับผลการทดสอบโลหะหนัก 5 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว  แคดเมียม ดีบุก ปรอททั้งหมด และสารหนูทั้งหมด พบตะกั่วและสารหนูทั้งหมด ปนเปื้อนในปริมาณที่ต่ำกว่าปริมาณสูงสุดที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข  (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน

สำหรับผลการทดสอบด้านคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน พบว่าไม่แตกต่างจากข้าวสารที่จำหน่ายในท้องตลาด จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่นำมาตรวจในชุดการวิเคราะห์เดียวกัน

 “ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักการ โดยดำเนินงานด้วยความสุจริต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ” นายแพทย์ยงยศกล่าวทิ้งท้าย

ซักว่า ในการตรวจข้าวตัวอย่างได้ตรวจถึงจำนวนปีของข้าวสารนั้นหรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า จากการรีวิวเกี่ยวกับการตรวจข้าวทั่วโลก จนถึงตอนนี้ยังหาวิธีตรวจอายุข้าวไม่ได้ แต่ให้นักวิทยาศาสตร์กรมวิทย์ไปหาทางตรวจให้ได้

เมื่อถามว่า กรมวิทย์ยืนยันหรือไม่ว่า ข้าว 10 ปี สามารถรับประทานได้ ไม่เป็นอันตราย นพ.ยงยศกล่าวว่า  ต้องบอกว่าไม่ใช่ข้าว 10 ปี แต่ต้องบอกว่าข้าวที่กรมวิทย์ได้รับการส่งมาจากกระทรวงพาณิชย์มีคุณค่าทางโภชนาการ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ วิตามินไม่แตกต่างจากข้าวสารที่จำหน่ายในปัจจุบัน แต่ข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาผิดมาตรฐานสินค้าการเกษตร เรื่องวัตถุปลอมปน เศษซากแมลง มอดที่มีชีวิตซึ่งไม่ควรมีแต่ก็มี อย่างไรก็ตามถ้าตัดขาปลวก ปีกด้วง ตัวมอดเป็นๆ ออกไปก็คงไม่แตกต่างกัน

ถามย้ำว่า กรมวิทย์ตีเป็นเปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ว่า คุณค่าทางโภชนาการของข้าว 10 ปีที่พบนั้นสูงกว่าหรือน้อยกว่าข้าวใหม่อย่างไร นพ.ยงยศกล่าวว่า "ขอเริ่มต้นใหม่ว่า นี่เป็นตัวอย่างข้าวที่กรมฯ ได้รับมาจากกระทรวงพาณิชย์  ย้ำว่าเราไม่ได้บอกว่าข้าว 10 ปี แต่เป็นตัวอย่างข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่แตกต่างจากข้าวที่อยู่ในท้องตลาดที่เราหาซื้อในปัจจุบัน แต่ก็ต้องมองเรื่องการปนเปื้อนอีกเช่นกันที่พบว่าไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีเศษสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตจำนวนมาก"

เมื่อถามว่า เนื่องจากประชาชนยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทย์ฯ เพราะฉะนั้นถ้า อย.เป็นคนไปเก็บมาส่ง ทางกรมวิทย์พร้อมตรวจหรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า ยินดี คนกรมวิทย์รออยู่ที่นี่

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะหารือกับ รมว.สาธารณสุขเพื่อให้มีข้อสั่งการไปยัง อย.ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจกรมวิทย์ หรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า กรมวิทย์ยินดีซัปพอร์ตเพื่อทำประโยชน์ แม้ว่าค่าตรวจค่อนข้างแพงหลายแสนบาท ในส่วนของ รมว.ก็บอกว่าให้ตรวจและรายงานตามความเป็นจริง

นางวิชาดา จงมีวาสนา ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กล่าวว่า ที่ผลการตรวจคุณค่าทางโภชนาการพบว่าข้าวเก่าจะมีคุณค่าทางโภชนาการบางอย่างสูงกว่าข้าวใหม่นั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความชื้นของข้าวแต่ละชนิด เวลาเอามาชั่งหรือเอาตัวอย่างมาก็มีผลต่อจำนวนกรัม และแร่ธาตุบางชนิดที่ปรากฏก็อาจจะขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตของข้าวด้วยเช่นกัน

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน  กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของการนำข้าวเหล่านี้ไปทำการส่งออก จะต้องมีมาตรฐานการปรับปรุงคุณภาพ และตรวจสอบมาตรฐานอีกว่า ข้าวที่จะส่งออกนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การสุ่มตรวจนั้นสามารถทำได้เรื่อยๆ แต่บริษัทที่เราใช้ครั้งนี้ถือเป็นบริษัทชั้นนำ มีการเก็บตัวอย่างตามมาตรฐาน แต่หากไม่สบายใจก็สามารถเก็บตัวอย่างมาตรวจได้อีก เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือที่สุด

ขณะที่นายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการองค์การคลังสินค้า กล่าวว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามถึงกระบวนการนำข้าวที่เหลืออยู่ 1.5 หมื่นตันออกประมูลต่อจากนี้ ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการเรื่องทีโออาร์การประกาศจำหน่าย คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือน พ.ค.นี้ อคส.จะประกาศจำหน่ายข้าวตัวนี้ ซึ่งการจัดทำทีโออาร์ต้องทำอย่างรอบคอบมากที่สุด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมดำเนินการทุกขั้นตอนโดยละเอียด เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความโปร่งใส จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ข้าวดังกล่าวพร้อมสำหรับการขายให้กับตลาดที่ต้องการ ซึ่งจะมีกระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้สอดคล้องมาตรฐานและความต้องการของผู้ซื้อต่อไป เพื่อนำรายได้กลับคืนสู่คลังประเทศอย่างคุ้มค่าที่สุด

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ไม่แปลกใจที่ผลตรวจสอบข้าว 10 ปี ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบอะฟลาท็อกซินและสารปนเปื้อน มีคุณค่าทางอาหาร ประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องทราบ ข้าว 10 ปีสองคลังนี้ แม้จะเป็นข้าวหอมมะลิ แต่ก็เป็นคลังที่ผู้ชนะประมูลรับข้าวไปบางส่วน ส่วนที่เหลือไม่มารับ เพราะมีข้าวขาวปลอมปนเข้ามา ภาษาชาวบ้านคือข้าวเหลือทิ้ง

ที่สำคัญคือ มีการเปิดคลังเข้าไปจัดเรียงกองข้าวใหม่  พบมีกระสอบข้าวใหม่ที่ดูสภาพยังดี ไม่มีรหัสของโครงการรับจำนำข้าวพ่นติดข้างกระสอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีข้าวกระสอบใหม่เข้าไปผสมหรือไม่

คำถามที่ต้องถามคือ ตกลงแล้วข้าวที่เอามาส่งตรวจคือข้าวใหม่หรือข้าวเก่า เป็นหอมมะลิหรือข้าวเจ้า ทำไมจึงทำเงียบๆ ไม่โปร่งใส ทางที่ดีควรจะให้นักวิชาการเข้าไปสุ่มตรวจ เพื่อความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นต่อข้าวไทย".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กดดันรางวัลเยอะ ‘แพทองธาร’ ดีใจนึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียลมา 3 เดือน!

"อิ๊งค์" กดดันหนัก! บริหารประเทศ 3 เดือนได้รางวัลเพียบ ดีใจโพลสำรวจ ปชช.ให้เบอร์ 1 “นักการเมืองแห่งปี” นึกว่ามีแต่คนต่อว่าในโซเชียล "หมอวรงค์" เฉ่งยับ!