จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง พร้อมมอบประวัติการรักษาให้ญาติและทนาย "ทนายด่าง" บุกขอเอกสารรอบ 8 ก้าวไกลจ่อชงสภาแก้ รธน.ปลดล็อกธรรมนูญศาลทหาร ลั่้นคืนความยุติธรรมให้ ปชช. จับตาโมเดล "คกก.นิรโทษกรรม” ตั้ง 13 อรหันต์ ผ่าทางตันล้างผิด 112 พบตรงกับร่างกฎหมายฉบับก้าวไกล

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณี นายฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนพาดพิงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำการรักษา และการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง อย่างผิดวิธี จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ น.ส.เนติพรเสียชีวิตนั้น โดยระบุว่า

กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงกระบวนการรักษา และการช่วยชีวิต น.ส.เนติพร เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ว่า ทีมบุคลากรทางการแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ช่วยชีวิต น.ส.เนติพร ในภาวะวิกฤตตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล โดยมีแพทย์ดำเนินการใส่ท่อช่วยหายใจ ได้นวดหัวใจ พร้อมให้ยากระตุ้นหัวใจ ยากระตุ้นความดันโลหิต ตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง และทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลา จนส่งตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังคงให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังทุกรายตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ล้วนแล้วแต่ได้มาตรฐานถูกต้องทุกประการ ตลอดจนกระบวนการการรักษาที่เป็นไปตามหลักวิชาชีพ ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอให้ติดตามข้อมูลทางการแพทย์ และผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมเกียรติ เพื่อเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ต่อไปสำหรับประวัติการรักษาพยาบาลของ น.ส.เนติพร ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เตรียมพร้อมให้ญาติหรือทนายความที่ได้รับมอบอำนาจมารับเอกสารในวันเปิดทำการ

ด้านนายกฤษฎางค์กล่าวภายหลังการแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ว่า แม้ว่าการใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหารเป็นสิ่งที่พบได้ แต่ตามมาตรฐานวิชาชีพ การตรวจสอบเพื่อยืนยันตำแหน่งท่อช่วยหายใจทันทีเป็นเรื่องพื้นฐาน หากไม่แน่ใจต้องมีวิธีการในการยืนยันเพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งท่อช่วยหายใจอยู่ในที่ที่ถูกต้อง แม้การใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งและตรวจสอบไม่ได้อาจไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นหนึ่งในอีกความผิดพลาดร้ายแรง ที่ทำให้โอกาสการคืนชีพของบุ้งน้อยลงจนหรือแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต

"ผม ครอบครัว และเพื่อน จึงต้องตั้งคําถามกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การดูแลก่อนการเสียชีวิตขณะกู้ชีพ และจนถึงระหว่างการส่งตัวเพื่อรักษาต่อ เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทราบถึงมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดเช่นนี้อีกในอนาคต" นายกฤษฎางค์กล่าว และว่า วันที่ 20 พ.ค. เวลา 09.30 น. ทนายความพร้อมเพื่อนของบุ้งจะเดินทางไปขอรับเอกสารรายงานการรักษาของบุ้งที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังถูกเลื่อนมาถึง 7 ครั้ง และเชื่อไปครั้งนี้ก็คงไม่ได้

'พิธา' ปัดก้าวไกลโหน 'บุ้ง'

ที่ภิรัช ฮอลล์ ไบเทคบางนา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า

ได้เรียกร้องไปแล้วให้ราชทัณฑ์เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องเกี่ยวกับ น.ส.เนติพรอย่างโปร่งใส เพราะถ้าไม่มีความชัดเจน หรือมีความเข้าใจผิด จะทำให้เกิดความบาดหมางของสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ รมว.ยุติธรรมระบุให้ข้อมูลกับทางครอบครัวของ น.ส.เนติพร ในวันที่ 20 พ.ค.ที่จะถึงนี้ หากมีการเปิดเผยตรงนี้ จะได้เห็นว่าการต่อท่อหายใจผิดจริงหรือไม่ ขอให้สังคมตั้งสติ และรอฟังข้อมูล

เมื่อถามว่า เหตุใด สส.ก้าวไกล ไม่ออกมาในช่วงที่เคลื่อนไหว แต่กลับออกมาตอนนี้ จะถือเป็นการฉกฉวยโอกาสหรือไม่ นายพิธายืนยันว่า ไม่ได้เป็นการฉกฉวยแน่นอน เพราะการเคลื่อนขบวนของเยาวชนไม่ว่าจะกลุ่มไหนมีอิสระเป็นของตนเอง ไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ความโปร่งใสชัดเจนจากทางกรมราชทัณฑ์ 2.ทางตำรวจและอัยการ ให้ตอบสนองนโยบายจากรัฐบาล ในการไม่เอาผิดจากผู้เห็นต่างทางการเมือง และชะลอคดีความ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลตำรวจโดยตรง ซึ่งถือเป็นต้นน้ำแก้ปัญหา 3.การนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งถือเป็นปลายน้ำของการแก้ปัญหา ต้องเร่งผลักดันให้เร็วที่สุด ไม่ควรแยกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป โดยเฉพาะอนาคตของชาติ ต้องไม่ให้เขาต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลได้พยายามสื่อสารพูดคุยกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวและเยาวชน ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ว่าให้คิดถึงชีวิตตัวเองก่อน    ส่วนกรณีที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ย้ายออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กลับมาที่เรือนจำว่า น.ส.ทานตะวันคงจะเสียใจที่สูญเสียเพื่อน แต่ชีวิตตัวเองก็สำคัญ ตนเป็นห่วง จึงขอฝากพ่อแม่ของ น.ส.ทานตะวัน ให้ดูแลด้วย

ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.30 น. ภาคประชาชนนัดหมายทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง ญาติผู้เสียชีวิต รวมถึง สส.ก้าวไกล อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช., นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดานางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นต้น

นายชัยธวัชให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาว่า เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีบทเรียนที่ยังเป็นโจทย์ที่ยังแก้ไม่ตก โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ามีการออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ด้วยการกล่าวหาทำให้สังคมเข้าใจว่าประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งผู้มีอำนาจต้องเลิกที่จะทำให้ประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งในสังคมจะไม่จบไม่สิ้น รวมทั้งมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม คดีที่ญาติผู้เสียชีวิตพยายามฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้นำรัฐบาล และผู้นำศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีคดีไหนเลยที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเพื่อพิจารณาผู้ที่กระทำผิดเลย เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว หวังว่าจะมีความคืบหน้า

อย่างไรก็ตาม คดีอาญายังมีปมปัญหาอยู่ด้วย เพราะญาติผู้เสียชีวิตเคยมีการฟ้องตรงไปบ้างแล้ว ปรากฏว่าศาลยุติธรรมแจ้งว่าต้องไปฟ้องที่ศาลทหาร มีการทดลอง 2 รายไปฟ้องที่ศาลทหาร อัยการศาลทหารยก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แล้วไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในยามสงคราม ต้องถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมเสมอเหมือนกับประชาชนทั่วไป ดังนั้นต้องมีการผลักดันให้มีการแก้ไขธรรมนูญศาลทหารต่อไป

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง มุ่งหวังแก้ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ซึ่งติดล็อกที่รัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 193 ซึ่งพูดถึงการบริหารจัดการและงบประมาณของศาลยุติธรรม และอีกมาตราคือ มาตรา 199 ซึ่งระบุชัดเจนว่า บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยศาลทหารเท่านั้น ดังนั้นจะมีการเสนอในสมัยประชุมหน้าอย่างแน่นอน ฝากไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรคว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการแก้ไข 2 มาตรา เพื่อความยุติธรรมของประชาชน

จับตาโมเดล 'คกก.นิรโทษ'

วันเดียวกัน นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม และประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เปิดเผยความคืบหน้าว่า นอกจากคณะอนุ กมธ.จะไปรวบรวมสถิติ-ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่อาจจะได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว ยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาโมเดลการตั้ง "คณะกรรมการนิรโทษกรรม" ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และหากจะให้มี จะให้มีรูปแบบอย่างไร เช่น ที่มา โครงสร้าง อำนาจหน้าที่-วาระการทำงาน

ขณะนี้โครงสร้างของคณะกรรมการนิรโทษกรรมยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เบื้องต้นจะมีกรรมการรวม 13 คน โดยประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ รมว.ยุติธรรม สส.ที่ได้รับเลือกมาที่เป็นตัวแทนของฝ่ายค้านกับรัฐบาล อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ทำหน้าที่อยู่ อดีตอัยการหรืออัยการที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการคณะกรรมการนิรโทษกรรม

นายยุทธพรกล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นอยู่กับส่วนราชการสังกัดใด โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษ รวมถึงสามารถเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับความเสียหายต่างๆ ไปยังฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป เป็นต้น สำหรับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เบื้องต้นยังอยู่ที่กรอบเดิมคือ ต้องเป็นคดีที่อยู่ใน 25 ฐานความผิดที่จะเป็นบัญชีแนบท้ายในกฎหมายนิรโทษกรรม

ส่วนกรณีบางฝ่ายต้องการให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยนั้น นายยุทธพรกล่าวว่า 25 ฐานความผิดที่พิจารณา ไม่เคยมีการตัดฐานความผิดเรื่อง 112 ออกไป แต่เรื่องการจะให้นิรโทษกรรมคดี 112 หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังมีความแตกต่างทางความคิดกันอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกัน และหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีการให้นิรโทษกรรมในช่วงเวลาที่ยาวนานถึงเกือบ 20 ปีขนาดนี้ เพื่อสร้างความปรองดองในสังคม

มีรายงานว่า โมเดลการให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรม จะทำหน้าที่เหมือนกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่คอยพิจารณาเรื่องการให้นักโทษได้รับการพักโทษหรือได้รับการลดโทษ หากกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้แล้ว กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี จำเลย ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตามบัญชีแนบท้ายฐานความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรม หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม จะส่งรายชื่อไปให้คณะกรรมการพิจารณาว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

สำหรับโมเดลดังกล่าวไปสอดคล้องกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ.... ของพรรคก้าวไกล ที่ยื่นเข้าสภาฯ และผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว โดยร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม จำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง

ขณะที่พรรคไทยภักดีออกแถลงการณ์คัดค้านข้อเสนอพรรคก้าวไกลต่อรัฐบาล ประเด็นผู้ต้องหามาตรา 112 ทั้ง 4 ข้อ เนื่องจากคดีความตามมาตรา 112 เป็นความอาญาที่มีสาเหตุจากการละเมิดองค์พระประมุขแห่งรัฐ ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ใช่คดีทางการเมืองแบบที่พรรคก้าวไกลพยายามที่จะบิดเบือน ขอสนับสนุนการบังคับใช้บทบัญญัติตามกฎหมายมาตรา 112 อย่างเด็ดขาดเข้มแข็ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง