เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 กลุ่มนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วม 150 คน นำโดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และนายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ธปท.กับฝ่ายการเมือง
แถลงการณ์ระบุว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ จนนำไปสู่วิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของภาคการเมือง เนื่องจากวิวาทะเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควบคู่กับนโยบายการคลังในทุกประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกัน สังคมยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่องความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
คณะผู้แถลงการณ์จึงขอแสดงความเห็น ดังนี้ ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมีความจำเป็นด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองเหตุผล ประการแรก ธนาคารกลางควรมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองระยะสั้น ที่อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน หากอำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอยู่ในมือของรัฐบาลผู้ใช้เงิน ก็จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะให้ต้นทุนการใช้เงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชน ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงินตราระหว่างประเทศ มีความเชื่อใจธนาคารกลางว่าจะแน่วแน่ในการรักษาเสถียรภาพสามประการที่กล่าวถึงก่อนหน้า จนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) อยู่ในกรอบเป้าหมายจริง ซึ่งจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่าย การลงทุน ปริมาณและการหมุนเวียนของเงิน การสร้างสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพจริง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว หากความเชื่อมั่นดังกล่าวถูกทำลายไป หน่วยเศรษฐกิจก็จะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป จนอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ฟองสบู่ อันจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในที่สุด ดังตัวอย่างประเทศตุรกีในปัจจุบัน
ความสำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับการรับรองจากงานวิชาการจำนวนมาก รวมทั้งประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีหรือมากกว่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าการมีเสถียรภาพของราคา ของระบบการเงิน และของระบบสถาบันการเงินส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การที่ราคามีเสถียรภาพทำให้หน่วยเศรษฐกิจ (ประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน และอื่นๆ) สามารถวางแผนการจับจ่าย วางแผนธุรกิจ และแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคา ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน 2 การออม เป็นไปตามแผนระยะยาวได้ดีกว่า ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว และที่สำคัญคือการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ฟองสบู่และการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงดังที่กล่าวถึงข้างต้น
ความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลางอันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ ‘หลักปฏิบัติ’ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกหลายประการ เช่น ฝ่ายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างสุภาพ มีการพูดคุยที่อิงบนหลักการหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น ส่วนธนาคารกลางเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจของตนให้เป็นไปตามกรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลและรัฐสภา เหตุผลสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน เช่น การออกจดหมายเปิดผนึกอธิบายเหตุผลกรณีที่เงินเฟ้อไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย เป็นต้น
นโยบายการคลังเองก็ต้องรักษาเสถียรภาพด้วยเช่นกัน ผ่านการมีวินัยการคลังที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้หนี้สาธารณะ (ทั้งทางการและหนี้ที่เกิดจากนโยบายกึ่งการคลัง) และรายจ่ายในการบริหารหนี้สูงเกินไป ต้องมีนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ มีการใช้จ่ายด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสประเทศในการก้าวทันพัฒนาการสำคัญๆ เช่น พัฒนาการด้านเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
คณะผู้แถลงการณ์ขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันและกระบวนการให้หน่วยงานด้านการเงินการคลังร่วมกันจัดทำกรอบงบประมาณประจำปีตามหลักวินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรใช้กระบวนการนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
อนึ่ง เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คณะผู้แถลงการณ์ขอแจ้งว่า นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งจะจัดงานเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” วัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่นในการหาทางออกให้กับประเทศไทยที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน จนทำให้กลายเป็นผู้ป่วยแห่งอาเซียน งานเสวนาจะมีขึ้นในวันที่ 28 มิ.ย.2567 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เวลา 13.00-17.00 น. โดยจะจัดให้มีการถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
สำหรับบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ อาทิ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน