ถุงขนมจมรัฐบาล! จับตาศาลรธน. 23 พฤษภา ‘เศรษฐา’ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

อิตาลี ๐ จับตาจุดเปลี่ยนการเมืองไทย  เรือไปทั้งลำ "เศรษฐา" ระทึก! พฤหัสฯ นี้  ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากรับคำร้องคดีตั้งทนายถุงขนมเป็น รมต. นายกฯ แผ่นเสียงตกร่องกฤษฎีกาไฟเขียวแล้ว ขณะที่นักกฎหมายชี้ หากสั่งพักงานคดีจบเร็ว เปิดคำร้อง 40 สว. ข้องใจ "เสี่ยนิด" พบ "น.ช.ทักษิณ" 3 ครั้ง ก่อนทูลเกล้าฯ  ถวายชื่อ "พิชิต" เป็นรัฐมนตรี เปิดมาตรฐานทางจริยธรรมมัดแน่น

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ที่สาธารณรัฐอิตาลี นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) โดยนายกรัฐมนตรีย้อนถามกลับว่า สว.ยังไม่หมดอายุใช่หรือไม่

ผู้สื่อข่าวระบุว่า ยังไม่หมด แต่ก็ใกล้แล้ว ต้องรอได้ สว.ชุดใหม่มาก่อน ชุดเก่าถึงจะพ้นหน้าที่ ทำให้นายเศรษฐา ถึงกับร้องอ๋อ และกล่าวว่า "ผมคิดว่าท่านก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะถือเป็นหน้าที่ของ สว. ส่วนตัวของผมก็ต้องพิสูจน์ในเรื่องที่ผมทำไปว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย และผมก็เคยบอกไปแล้วว่าก่อนที่จะมีการแต่งตั้งให้นายพิชิตดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการสอบถามไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และผมมั่นใจว่าจะสามารถตอบคำถามได้ เพราะอยู่บนหลักการของความถูกต้อง แต่แน่นอนว่าฝ่ายตรวจสอบก็มีหน้าที่ที่จะตรวจสอบ และผมเองก็ต้องยอมรับ และต้องมานั่งดูว่ามีเหตุและผลหรือเปล่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตไม่เข้าไปพูด เพราะถือว่าเป็นไปตามกลไกการปกครองของประเทศไทยอยู่แล้ว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง สว.ระบุว่านายกรัฐมนตรีเมินเสียงคัดค้านในการแต่งตั้งนายพิชิต นายเศรษฐากล่าวว่า  เป็นธรรมดา ในการที่ตนจะแต่งตั้งรัฐมนตรี ตนไม่ได้ถามทางกฤษฎีกาในทุกๆ กรณีไป แต่กรณีของนายพิชิต ยืนยันว่าไม่ได้เมิน และยืนยันว่าทุกๆ เสียงที่มีการท้วงติงเข้ามาตนพิจารณามาโดยตลอด ตรงนี้มั่นใจ นายพิชิตตนก็ได้ทำ เนื่องจากกรณีของนายพิชิต ก็ได้ถามกฤษฎีกาไปโดยเฉพาะเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรจะต้องทำอยู่แล้ว

"ยืนยันไม่เคยเมินเสียงคัดค้าน และไม่เคยที่จะไม่ให้ความสำคัญและไม่รับฟังเสียงท้วงติง อย่างที่ผมได้บอกมาตลอดเวลาว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ" นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้อง 40 สว. มีเนื้อหาสรุปบางตอนว่า ผู้ร้องเห็นว่านายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 2 ด้วยการแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน ทำให้เข้าใจผิดว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะ ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และ (5) ด้วย

ข้องใจนายกฯ พบนักโทษ 3 ครั้ง

ทั้งที่ตามความจริงแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) และ ประกอบกับผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี จึงเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 อาจมีเจตนาไม่สุจริต เลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน

ประกอบกับการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ดังกล่าวมาข้างต้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง โดยมีข้อสังเกต การพบครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 เมษายน 2567 ก่อนวันที่ 27 เมษายน 2567 จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร และผู้ถูกร้องที่ 2 หรือไม่

เพราะหลังจากนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ทั้งที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ออกจากทะเบียนทนายความ แสดงว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วยเหตุผู้ถูกร้องที่ 1 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี ดังนี้

"ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน"

"ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ"

"ข้อ 11 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"

" ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง"

"ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่"

นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต  วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า เรื่องนี้ นายเศรษฐาเกี่ยวข้องด้วย เพราะหนึ่ง  ตัวนายกฯ ต้องรู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่นายพิชิตเคยทำมันเป็นมาอย่างไร แต่คุณเศรษฐากลับไปรับรองเรื่องนี้ บอกว่านายพิชิตไม่มีอะไร อันนี้คือประเด็นแรก  ประเด็นข้อที่สองก็คือ ต่อมามีการทำหนังสือสอบถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีนัยว่าจะล้างสิ่งที่นายพิชิตเป็น มันไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งมีการส่งเรื่องไปแล้ว ก็แปลว่าหาทางที่จะทำให้ คุณสมบัติของนายพิชัยเป็นได้ ทั้งที่ข้อหนึ่งรู้แล้วทำไม่ได้

แต่ข้อสอง ก็คือหาทางทำให้ได้ และยังมีชั้นที่สามอีก คือพอคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหนังสือตอบกลับไป ก็เอาความเห็นดังกล่าวมาบอกว่า นายพิชิตไม่มีปัญหาอะไรแล้ว จนต่อมากฤษฎีกา ออกมาอธิบายว่า ประเด็นที่ถามคือถามเรื่องกรณีเคยถูกจำคุก เป็นคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งกฤษฎีกาก็บอกว่าจำคุกก็คือจำคุก ไม่ว่าจะโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาก็ตาม แต่อีกข้อหนึ่งพูดเรื่องจำคุก โดยคำพิพากษาก็ต้องอิงคำพิพากษา เป็นแค่คำสั่งไม่ได้ แต่กฤษฎีกาก็บอกว่าแต่คุณสมบัติข้ออื่น เขาไม่เกี่ยว

เรือไปทั้งลำ

“มันก็ชัดในตัวมันเองแล้วว่า ชั้นที่หนึ่ง คุณรู้อยู่แล้ว และต่อมามีการส่งหนังสือไปถามกรรมการกฤษฎีกา เพื่อฟอก ชั้นที่สาม เอาหนังสือกฤษฎีกาที่เขาพูดเรื่องอื่นมาอธิบายอีก สว.เขาก็มาคิดว่าแบบนี้ คุณมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ แล้วเขาอาจคิดเพิ่มว่า หากยื่นเฉพาะคุณพิชิต ก็ไปเฉพาะคุณพิชิต แต่ถ้าร้องนายเศรษฐาด้วย เรือไปทั้งลำ ครม.ไปทั้งหมด เขาก็ต้องเอา เมื่อเทียบกับอีกหลายกรณี เช่นเคสคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกินแปดปี ที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น หากศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย ถ้าพิจารณาแล้วมีมูล หรือมีข้อที่เขาเห็นว่าคำร้องที่ยื่นมามันอาจเป็นไปตามนั้น ก็อาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถ้าแบบนั้น ศาลก็อาจพิจารณาคำร้องเร็ว เพราะหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปก็คงไม่เป็นผลดี” อดีตที่ปรึกษา กรธ.ระบุ

นายเจษฎ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีโอกาสเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนทางการเมืองสูงมาก เพราะหากพิจารณาโดยลำดับอย่างที่บอก ซึ่งเรื่องถุงขนม ไปถามใคร เขาก็คงไม่บอกว่าสิ่งที่ทำไปมันเป็นการซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งคนที่รู้อยู่แล้ว แต่พยายามหาทางทำให้มันไม่เป็นอุปสรรค แล้วเอาสิ่งที่คนอธิบายที่เป็นประเด็นอื่นมาอธิบายว่าบอกแล้วว่าไม่เกี่ยวข้อง อันนี้ก็คือมีการทำสามชั้น คือ นายพิชิตหนึ่งชั้น เพราะว่าทำเอง แล้วคนที่รู้เห็นเป็นใจกับนายพิชิต พยายามทำหนังสือไปถาม (คณะกรรมการกฤษฎีกา) แล้วก็เอาสิ่งที่ตอบมา มาคอยอธิบาย ก็เท่ากับมีการทำสามชั้น

ทั้งนี้ การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี กรณีตกเป็นผู้ถูกร้องในศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่เป็นเรื่องการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  สมาชิกภาพของ สส.และ สว. แต่ให้ใช้บังคับกับรัฐมนตรีได้ด้วย

โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ารัฐมนตรีมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และหากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมนตรีผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่ “วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่” อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้จะไม่กระทบต่อบรรดากิจการที่รัฐมนตรีผู้ถูกร้องได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปกติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมกันสัปดาห์ละ  1 ครั้ง คือทุกวันพุธ แต่พบว่าวันพุธที่ 22  พ.ค.ที่จะถึงนี้ ตรงกับวันหยุดราชการ  คือวันวิสาขบูชา

โดยมีรายงานว่า ตุลาการศาล รธน.อาจจะนัดประชุมกันวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งต้องดูว่าผลการประชุมที่ประชุมตุลาการศาล รธน.จะรับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่ และหากรับคำร้องไว้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งอย่างไรกับผู้ถูกร้องทั้งสองคน คือนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองคนหรือไม่ หรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แค่คนใดคนหนึ่ง หรือรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่ไม่สั่งให้ทั้งสองคนหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วให้กระบวนการสู้คดีเป็นไปตามปกติ

เทียบกรณี 'ประยุทธ์'

โดยหากศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย  ศาลก็จะให้ทั้งนายเศรษฐาและนายพิชิต ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายังศาลรัฐธรรมนูญต่อไปภายใน 15 วันตามขั้นตอนปกติ แต่ขยายเวลาในการส่งเอกสารได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องที่ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แล้วศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัยพบว่า มีทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่ตกเป็นผู้ถูกร้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คละเคล้ากันไป

โดยในส่วนของนายกรัฐมนตรี พบว่านายกฯ คนแรกที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ในคำร้องคดีให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯเกิน 8 ปีหรือไม่ แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ชนะคดี และกลับมาทำหน้าที่นายกฯ อีกครั้ง

แต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยตกเป็นผู้ถูกร้องในศาลรัฐธรรมนูญ เช่นคดีอยู่บ้านพักทหารหลังเกษียณอายุราชการ ที่ สส.ฝ่ายค้านในสมัยนั้นยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็รับคำร้องไว้แต่ไม่ได้ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ รัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ยังมีเช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สมัยเป็น รมว.คมนาคม ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ ซึ่งหลังศาลรับคำร้อง ก็สั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้นายศักดิ์สยามพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีในเวลาต่อมา จากนั้นนายศักดิ์สยามก็ได้ลาออกจากทั้ง สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

ส่วนคำร้องที่ผู้ถูกร้องเป็นรัฐมนตรี ซึ่งศาลรับคำร้องไว้ แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็มีหลายคดี เช่น คำร้องคดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและ สส.ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามเพราะเคยถูกจำคุกที่ออสเตรเลีย

ซึ่งคำร้องคดีดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่ก็ไม่ได้สั่งให้ ร.อ.ธรรมนัสหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้องดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่ต้องพ้นจากสถานภาพ สส. และรัฐมนตรี เนื่องจากต้องคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ ไม่ใช่ศาลไทย

หรือคำร้องคดีความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี สมัยเป็น รมช.มหาดไทย ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีสมัยเคยเป็นนายก อบจ.สงขลา แล้วถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐฯ ก็ปรากฏว่าศาลก็รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่งให้นายนิพนธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น รมช.มหาดไทย แต่อย่างใด

รวมถึงคำร้องคดีนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีต รมว.การต่างประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ กกต.ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าภรรยาถือครองหุ้นเกิน 5% ในบริษัทสองแห่ง จึงเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 187 รวมถึง พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ที่กำหนดห้ามรัฐมนตรี และคู่สมรสถือหุ้นเกิน 5% ในบริษัทเอกชน และไม่แจ้งต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าประสงค์จะรับประโยชน์ในการถือหุ้น 2 บริษัทนี้

ซึ่งตอนศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็ไม่ได้สั่งให้นายดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น รมว.การต่างประเทศ และต่อมานายดอนก็ชนะคดี ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ทำให้ไม่ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง