‘บุ้ง-แม้ว’เท่าเทียม! ‘ทวี-ราชทัณฑ์’แจ้นแจง พรรคร่วมยี้ปล่อยผี112

"ทวี" ยันราชทัณฑ์ดูแล "บุ้ง" มาตรฐานเดียวกับ "ทักษิณ" ขอครอบครัวมั่นใจผลชันสูตรโปร่งใส "อธิบดีกรมคุก"  แจงยิบขั้นตอนการรักษาก่อนส่งตัวไป รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ลั่นพยายามยื้อชีวิตสุดความสามารถแล้ว ระบุเปิดภาพวงจรปิดในห้องผู้ป่วยต้องขอความยินยอมจากผู้ต้องขังอื่นก่อน "นิกร" เผย กมธ.นิรโทษฯส่ง 3 ข้อเรียกร้องกลุ่มทะลุฟ้าถึงมือนายกฯ แล้ว "อนุทิน" ย้ำจุดยืน ภท.ไม่แตะ 112 “ธนกร” ค้านนิรโทษฯ คนผิด 112 ชี้ยกโทษคนหมิ่นสถาบันเหยียบย่ำหัวใจคนไทยมากไป "คนการเมือง" ร่วมงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 35 

ที่กระทรวงยุติธรรม วันที่ 17 พ.ค.  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยุติธรรม) กล่าวถึงการชันสูตรการเสียชีวิตของ น.ส.นิติพร  เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุ​วัง ว่าเบื้องต้นการชันสูตรผู้เสียชีวิตที่อยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองมาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาสอบถามข้อสงสัย หรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างสาเหตุการตายตามข้อสงสัยได้ ขอให้ครอบครัวมีความมั่นใจ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ไม่อยากกล่าวอะไรที่เป็นการชี้นำ เนื่องจากกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ แต่พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลให้ ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตนั้น ขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมดว่า โดยเบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน และจากการที่ดูกล้องวงจรปิดแล้วมีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ย้อนไปหลายวัน จึงขอให้มีความมั่นใจได้

"บุ้งรับประทานอาหารขณะอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีรายการจัดส่งอาหารที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมดว่าจัดส่งอาหารครบสามมื้อ ซึ่งหลังจากนี้หากไม่ผิดระเบียบของทางกรมราชทัณฑ์ ก็สามารถพาผู้สื่อข่าวไปดูทัณฑสถานได้ เพราะทุกคนที่เข้ามาเป็นเหมือนครอบครัว ไม่ว่าจะมีโทษอะไรก็จะต้องดูแลให้เสมอภาค ไม่เคยรับใครกลับจากโรงพยาบาลถ้าไม่ได้รับการร้องขอ ซึ่งกรณีนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้มีหนังสือส่งตัวกลับหลายฉบับให้กลับมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผมเกรงว่าเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลราชธานีจะเสียกำลังใจ เพราะทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะรักหมอ" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

รมว.ยุติธรรมยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์มีแต่ความเสียใจ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร กรณีที่ทนายความบอกว่าอยากดูภาพจากกล้องวงจรปิด โดยหลักการสามารถให้ได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบก่อน และได้คุยกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วว่าให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก อะไรที่เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องขออนุญาตก่อน ส่วนการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น เพื่อตรวจสอบไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และกรมราชทัณฑ์จะสามารถดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีได้ดีขึ้นมากกว่านี้หรือไม่

ถามว่า สังคมมองว่าเป็นการดูแลสองมาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่า มีมาตรฐานเดียว โดยกรณีของบุ้ง ถ้าธรรมศาสตร์ฯ ไม่ทำหนังสือส่งตัวมา เราก็ให้อยู่ที่ธรรมศาสตร์ฯ ต่อไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เราไม่ใช่พนักงานสอบสวน เพราะเรือนจำมีไว้ให้ออก และทำอย่างไรให้เขาออกไปอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ

ราชทัณฑ์ยื้อชีวิตบุ้งถึงที่สุด

ส่วนนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานมา ขั้นตอนแรกพบว่าบุ้งและตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้นตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามบุ้งที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่ายังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจ สภาพร่างกายตามปกติทุกวัน ทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ ตรวจเสร็จแล้วก็มาตรวจตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.00 น. บุ้งได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่ามีอาการวูบ

จากนั้นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำจำนวน 4 คน ก็ได้ยกบุ้งทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำ CPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคส ฉีดอะดรีนาลินเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำ CPR ตลอดเวลาต่อเนื่อง จนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จึงแจ้งว่าเสียชีวิตอย่างสงบ

ถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยบุ้งเสียชีวิตระหว่างนำตัวส่ง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า จะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว สัญญาว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุในการประสาน รพ.ธรรมศาสตร์ฯ โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง

"ได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ซึ่งจากการได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ยืนยันว่าได้ทำไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

ซักว่าในการแถลงข่าวที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลไม่ชัดเจน นายสหการณ์กล่าวว่า  ในการแถลงข่าวครั้งล่าสุดผู้ให้ข้อมูลเป็นแพทย์ ที่ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้ และไม่ใช่แพทย์เวร จึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้ จึงทำให้เกิดการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจน

ถามว่า ทนายความของบุ้งระบุได้รับทราบผลการตรวจกระเพาะอาหารของบุ้งเบื้องต้นภายในกระเพาะอาหารไม่มีอาหารเลย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ย้อนถามว่าผลชันสูตรศพออกมาแล้วหรือ ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดส่วนนี้ แต่ได้ประสานไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แล้วทราบว่ารายละเอียดบางส่วน ทาง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ยังต้องประสานการทำงานร่วมกับสถานพยาบาลอื่นในการตรวจชันสูตร ยืนยันว่าผลการชันสูตรพลิกศพยังไม่ออก ส่วนทนายความรับทราบจากทางใดตนไม่ทราบเช่นกัน

เมื่อถามถึงกรณีทนายบุ้งขอภาพกล้องวงจรปิดภายในห้องพักผู้ป่วยทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ก่อนเสียชีวิตและแผนการรักษาล่วงหน้า 5 วัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าทางผู้แทนของผู้เสียชีวิต (พ่อหรือแม่ของบุ้ง) ได้เข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิดคงต้องดูอีกที เพราะมันไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ในห้องนั้นด้วย คงต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมจากผู้อื่นก่อน

"ถ้าหากทางครอบครัวยังมีความข้องใจเรื่องการเสียชีวิต อำนาจคำสั่งของศาลสามารถดำเนินการไต่สวนได้หมดเพื่อพิสูจน์ความผิดต่างๆ" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

ถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยเหตุใดจึงไม่ส่งตัวบุ้งไปเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ใกล้เคียง อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า อยากเรียนว่าระยะห่างระหว่างทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ไม่ไกล ขึ้นโทลล์เวย์ได้ และทั้งบุ้งและตะวันต่างมีประวัติการรักษาพร้อมอยู่แล้ว อาจทำให้กระบวนการรักษาน่าจะดีกว่า

ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเปิดสมัยประชุมวิสามัญจะนำเรื่องนิรโทษกรรมเข้าพิจารณาเลยหรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ขยายการประชุมวิสามัญถึงวันที่เท่าไหร่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล หากรัฐบาลยังไม่ปิด มีกฎหมายอะไรที่ค่อนข้างสำคัญ เราก็ดำเนินการต่อ เพราะสภาต้องประชุมตามที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิด  ถ้ายังไม่ปิดก็ว่ากันไป

"ทางสภาพร้อมหากมีการชงกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณา ก็อยู่ที่รัฐบาลและสมาชิกจะเสนอ" ประธานสภาฯ กล่าว

ข้อเสนอ กมธ.นิรโทษถึงนายกฯ

ด้านนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ค. นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี   โดยมีสาระสำคัญว่า ขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาคดีการเมืองตามข้อเรียกร้องของกลุ่มทะลุฟ้า คือ 1.ตรวจสอบการเสียชีวิตของบุ้งให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2.ดำเนินการใดๆ ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีการจับกุม คุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม สั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และ 4.เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยรวมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุแห่งคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ..... ได้เสนอต่อรัฐสภา และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว

"ข้อเรียกร้องที่ 1-3 นั้น ทาง กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าอยู่ในความสนใจของสังคมและประชาชน อีกทั้งเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหาร จึงเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามที่เหมาะสม และเห็นสมควร ส่วนข้อที่ 4 การเร่งรัดออกกฎหมายนิรโทษกรรมถือเป็นหน้าที่และอำนาจทางด้านนิติบัญญัติ ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของ กมธ.นิรโทษกรรมที่จะต้องดำเนินการ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาของ กมธ. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในต้นเดือน ก.ค. เพื่อให้ทันเข้าสู่การพิจารณาในการเปิดสมัยประชุมสภาครั้งหน้า" นายนิกรกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังย้ำจุดยืนของพรรค ภท. ต่อกฎหมายนิรโทษกรรมกับคดี ม.112 ว่า เราไม่แตะอยู่แล้วจุดยืน

ถามถึงกรณีมีมวลชนและพรรคการเมืองบางกลุ่มอยากให้นำเรื่อง ม.112 มารวมในกฎหมายนิรโทษกรรม นายอนุทินกล่าวว่า เรายืนยันตามที่ภูมิใจไทยได้เคยมีจุดยืนเอาไว้ จุดยืนมันก็ต้องเป็นจุดยืน

นายคารม พลพรกลาง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย และอดีต สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ที่อดีตสส.พรรคก้าวไกลเคยยื่นร่างแก้ไขต่อสภาในรัฐบาลที่ผ่านมา โดยประเด็นที่ทางป.ป.ช.ได้สอบถามว่า ตนได้ลงชื่อแก้ไขด้วยหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะได้ออกจากการทำกิจกรรมร่วมกับพรรคก้าวไกลมาแล้ว รวมถึงยังมีการสอบสวนตนในฐานะพยานว่าใครเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการในการร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา ตลอดจนถามไปถึงสมัยที่ตนเป็น สส.พรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค ว่ามีการร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งตนได้ตอบว่าไม่มี

"พอมาเป็นพรรคก้าวไกล ก็มีกระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นตามที่สังคมได้รับทราบ รวมถึง ป.ป.ช.ก็มีการสอบถามว่าในกลุ่ม สส.ของพรรคก้าวไกลที่ร่วมเซ็นชื่อสนับสนุนแก้ไข ใครอ่อนหรือใครแรง ใครบวกหรือใครลบ ซึ่งก็มีชื่อทั้งหมดที่เป็น สส.ในปัจจุบันนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการสอบสวน สส.พรรคก้าวไกลที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายคารมกล่าว

อดีต สส.พรรคก้าวไกลยังระบุว่า ป.ป.ช.ยังสอบถามในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย ได้มีการถามความเห็นเรื่องมาตรา 112 กับการประกันตัว ที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้อง ตนตอบไปว่าอำนาจในการประกันตัวเป็นเรื่องของศาล ถ้าเราก้าวล่วงดุลยพินิจผู้พิพากษาในทุกๆ มุม เมื่อเราได้ประโยชน์เราก็จะชมผู้พิพากษา ฉะนั้น ดุลยพินิจเรื่องการประกันตัวของผู้พิพากษาถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและรัฐบาลตรากฎหมายนิรโทษกรรมโดยรวมคดีผู้กระทำความผิด ม.112 เข้าด้วยหลังเกิดเหตุบุ้งว่า ตนไม่เห็นด้วยกับทั้งการแก้ไข ม.112 รวมถึงการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดในคดี ม.112 ดังกล่าว เพราะถือเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และย้ำมาโดยตลอดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงขอคัดค้านหากมีผู้เสนอให้รวมคดีนี้เป็นคดีการเมือง ควรมุ่งไปแก้ไขที่ต้นเหตุคือผู้ที่ให้ข้อมูลบิดเบือนและอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวมากกว่า หากไม่มีผู้ใหญ่กลุ่มนี้คอยยุยงส่งเสริมให้ข้อมูลผิดๆ คงไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

รำลึก 32 ปีพฤษภาประชาธรรม

นายธนกรกล่าวว่า เห็นด้วยที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม มีคดีที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง มีข้อสรุปออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เรื่องการกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.112 นั้น ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การจะนิรโทษกรรมควรเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่เป็นแกนนำและมวลชนที่ร่วมชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน หากเป็นคดีที่ไม่ร้ายแรง ก็เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมได้ 

 “คนที่พูดกล่าวหาให้ร้ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำผิดมาตรา 112 แบบซ้ำซาก หากมีการเหมารวมยกเข่งนิรโทษกรรมให้คนเหล่านี้ ถือเป็นการเหยียบย่ำหัวใจคนไทยมากเกินไป เพราะกฎหมายนี้มีไว้ปกป้องประมุขของประเทศไม่ให้ถูกละเมิด เชื่อว่าถ้านิรโทษฯ ให้ไม่มีใครรับได้แน่นอน” นายธนกรกล่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงเรื่องความผิด ม.112 ว่า การผิด ม.112 เป็นการจาบจ้วงสถาบัน อาฆาตมาดร้ายสถาบัน มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งก็ถูกดําเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม เห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน หลายคนก็เป็นเหยื่อของขบวนการแก้ไข ม.112 เพราะได้พูดคุยสอบถามหลายคนก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือถูกกระทำจากสถาบัน แต่ถามว่าเดือดร้อนเรื่องอะไร ไม่มี แต่ถูกยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ออกมาเคลื่อนไหวจนตัวเองเดือดร้อนต้องถูกดําเนินคดี ก็เห็นใจทุกคน แต่ไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เพราะว่าเป็นเรื่องของกระบวนการที่มีการดําเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แล้วไม่เกี่ยวกับการเมือง

นายชัยวุฒิกล่าวว่า มีหลายคนไปพูดว่ากระบวนการยุติธรรมเราบิดเบี้ยวไม่ให้ประกันตัว ตนก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ ก็เข้าใจว่าทุกคนก็เคยได้รับการประกันตัว เพียงแต่ว่าบางคนมีเงื่อนไขไม่ให้ทำผิดซ้ำ คือไม่ให้ไปกระทำความผิดอีก ซึ่งหลายคนก็ได้รับการประกันตัว แต่กลับไปทําผิดซ้ำอีก ขัดคําสั่งของเรื่องการประกันตัว ก็ต้องถูกจับเข้าไปในคุกใหม่ ซึ่งอันนี้ก็เห็นใจน้องๆ

"บางคนที่ได้รับการประกันตัวก็หนีไปแล้ว เช่น ไมค์ ระยอง ก็หนีไปแล้ว ผมว่าหลายสิ่งหลายอย่างขบวนการนี้มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมาย แล้วก็มีการทําผิดซ้ำ ถ้าเราไม่เข้าใจและปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้ดําเนินการต่อไปเรื่อยๆ ผมว่ามันจะกระทบกับความมั่นคง กระทบกับจิตใจของคนไทยหลายๆ คนที่เขารับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้" นายชัยวุฒิกล่าว

วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดงาน ‘รำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535’ ซึ่งช่วงเช้าเป็นพิธีวางพวงมาลา  ก่อนมีพิธีสงฆ์และการเสวนาในช่วงบ่าย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า มีญาติวีรชน พรรคการเมืองต่างๆ ทยอยเดินทางเข้าร่วม เช่น นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ตัวแทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านฯ, นายดำรง พุฒตาล ที่ปรึกษา (กิตติมศักดิ์) ประธานรัฐสภา, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงการเรียกร้องความเสียหายและชดใช้จากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลที่แล้วเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่พอได้รัฐบาลเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้ขอประกาศว่า เมื่ออนุสาวรีย์สร้างแล้วเสร็จ ก็พร้อมที่จะรับการชดใช้ มิใช่การเยียวยา และย้ำถึงภารกิจ ซึ่งคือการต่อต้านการรัฐประหารด้วย

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานนี้ว่า เพื่อให้สิ่งที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอยู่กันได้โดยสันติวิธี และมีอำนาจสูงสุดของประเทศคือราษฎรทั้งหลายตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากรัฐธรรมนูญ 2534 ไม่สืบทอดอำนาจ และผู้มีอำนาจไม่มีอำนาจต่อ การเรียกร้องในเดือนพฤษภา 35 ก็คงไม่จำเป็นต้องนองเลือด

ความผิดพลาดในอดีต เราไม่ควรต้องมาเสียเลือดเนื้อกันอีก ไม่ควรต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทั้งฉบับอีก ไม่ควรต้องมาต่อต้านการรัฐประหารอีก แต่น่าเสียดายที่เหมือนว่า 32 ปีผ่านไป ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เราทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรามาช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแค่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" ผศ.ดร.ปริญญากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง