“กกต.” คิกออฟเลือก สว. มั่นใจได้ 200 รายแน่ “มท.” ยันอนุทินกำชับอย่าให้พลาด เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ นิติฯ มธ.จัดสัมมนาจวกเละ “ปริญญา” แนะ กกต.แก้ระเบียบเปิดให้สังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใส “พิชาย” คาใจเลือกกันเองเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างไร ขณะที่ “โอฬาร” อัดการได้มาขัดหลักประชาธิปไตย พร้อมเห็นตรงกันยกร่าง รธน.ใหม่โละ สว.ได้
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ค.2567 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานในการจัดกิจกรรม Kick Off การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ภายใต้แนวคิด “20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมงาน รวมทั้งมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือก สว. ปี 2567 ระหว่างสำนักงาน กกต. กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมจัดเสวนาการเตรียมความพร้อม สว. ปี 2567 โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต., นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนางสุดฤทัย เลิศเกษม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
โดยนายแสวงกล่าวว่า เรื่องการเตรียมความพร้อมเราจะเดินไปพร้อมกับเครือข่าย ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไปรษณีย์ไทย เรามีความพร้อมได้ซักซ้อมกับทุกหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงสื่อมวลชน ที่มีส่วนที่ทำให้การเลือก สว.ประสบผลสำเร็จ เราต้องเดินไปด้วยกันจนได้ สว. 200 คน
ขณะที่นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า มท.พร้อมตั้งแต่ กกต.ยังไม่ได้เริ่มแล้ว เราเตรียมเรื่องการทำให้คนมีทะเบียนบ้านที่ถูกต้อง มีบัตรประชาชนที่ถูกต้อง เราก็ดำเนินการทุกช่องทาง ทั้งออนไซต์และออนไลน์ เพราะต้องยอมรับว่าการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เฉพาะประชาชน แต่ใหม่สำหรับราชการด้วย
“เมื่อวานนี้ก็ซักซ้อมกัน ท่าน มท.1 เป็นประธานในการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ท่านย้ำเลยว่างานนี้ห้ามพลาด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของชาติ และที่สำคัญที่สุดตัวท่าน มท.1 ก็อยากได้ สว.ชุดใหม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่ต้องห่วงเราเต็มที่ มีการตั้งทีมงานไว้ให้บริการซักไซ้ไล่เลียง ที่สำคัญเปิดสายฮอตไลน์แข่งกับ 1444 ของ กกต. และบริการ 24 ชั่วโมง”
นายแสวงย้ำว่า หากผู้สมัครไปจับกลุ่มขอคะแนน หรือฮั้วกัน ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิทธิ์การเลือกตั้งได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย และในการเลือก สว.ทุกระดับทั้งอำเภอ จังหวัด และประเทศ จะมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือจัดพื้นที่สังเกตการณ์ เพื่อให้ประชาชนร่วมติดตามตรวจสอบได้ด้วย และหากประชาชนพบการทุจริต ก็สามารถร้องเรียนได้ผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรดของ กกต. ซึ่งจะมีรางวัลชี้เบาะแสด้วย
วันเดียวกัน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 โดยมีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.นิติศาสตร์ มธ., นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อ.คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อ.รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, นายวันวิชิต บุญโปร่ง อ.คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อ.คณะรัฐศาสตร์ มธ.
นายปริญญากล่าวว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ การเลือก สว. ที่จะมีขึ้น จะเป็นบันไดสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ห่วงระบบการเลือกมีปัญหา เพราะเป็นระบบที่มีปัญหามากที่สุด และ กกต.ออกระเบียบที่ไม่เอื้อให้คนทั่วไปที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีประโยชน์จูงใจคนอื่นมีโอกาสเป็น สว.ได้ แต่ยังมีเวลาที่จะสามารถแก้ระเบียบ กกต.เกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ โดย กกต.ควรประกาศให้ชัด เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ และควรให้มีการบันทึกภาพหรือไลฟ์สดทางออนไลน์เพื่อเห็นกระบวนการในการเลือก ให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และอยากให้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวเพิ่มเติม นอกเหนือจากแนะนำผ่าน กระดาษ A4 เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ
นายปริญญากล่าวอีกว่า เชื่อว่าวันที่ 2 ก.ค. จะประกาศรายชื่อ สว. 200 คนได้ยาก แต่ขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือก นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเชิญชวนให้คนเข้ามาสมัคร สว. สามารถทำได้ ซึ่งการจ่ายเงินให้ไปสมัคร สว.เป็นสิ่งที่ กกต.ชี้ว่าอาจฮั้วกัน และเห็นว่าการเชิญชวนให้เลือกใครโดยไม่ได้รับผลประโยชน์สามารถทำได้ แต่ กกต.ชี้ว่าทำไม่ได้
นายพิชายกล่าวว่า การกำหนดให้เลือกกันเอง ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายและนักวิชาการเห็นว่า ต้องสมัครก่อน แล้วจึงเลือกกันเอง ประชาชนทั่วไปถ้าไม่สมัครไม่มีสิทธิ์เลือก คำถามคือ จะเรียก สว. ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้หรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า สส.และ สว.คือผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า วันที่ 2 ก.ค.นี้ เราจะได้ สว. 200 คนแน่นอน
นายพิชายกล่าวอีกว่า เราอาจไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี สว.ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเท่าที่มีสองสภา ประสิทธิภาพในการพิจารณากฎหมายก็ไม่ดี หากพูดว่าไทยไม่เคยมีระบบสภาเดียว ก็พูดไม่ถูก เพราะไทยมีสภาเดียวแบบครึ่งๆ กับสองสภามาแล้ว ขณะนี้วุฒิสภาหมดหน้าที่หมดความชอบธรรม ไม่มีความจำเป็นใดๆ วุฒิสมาชิกมีความโน้มเอียงผูกติดอยู่กับผู้มีอำนาจในขณะนั้นเสมอ เหมือนเป็นการเพิ่มเสียงให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม สว.ที่กำลังจะเลือกเชื่อว่าดีกว่า สว.ชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดสรรแน่นอน
นายโอฬารกล่าวว่า คนพฤกษภาทมิฬพยายามหาทางออก แต่สุดท้ายเรายังอยู่ในวงจรอุบาทว์เช่นเดิม ตอนนี้เราเห็นความขัดแย้ง เห็นสัญญาณรัฐประหาร และเสถียรภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ การได้มาซึ่ง สว. ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ทั้งในแง่การมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ยึดโยงจากกลุ่มอาชีพก็จริง แต่ออกแบบให้ซับซ้อนเพื่อให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกยากต่อการเข้าถึง เท่ากับเป็นการกีดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับคนที่พร้อมที่มีกลไกได้ สว. 200 คน และในแง่โอกาสและความเสมอภาค แต่ความจริงผู้สมัครที่จะได้สิทธิเลือกต้องจ่ายค่าสมัครก่อน 2,500 บาท ถามว่าทำไมไม่ 5 บาท 3 บาท 7 บาท รวมถึงในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รับรองตัวเองได้ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดรับรองตัวเองไม่ได้ ถามว่าสิทธิ์ความเป็นคนอยู่ที่ใด
นายโอฬารกล่าวต่อว่า การเลือก สว. เป็นโอกาสของกลุ่มคนมีเงิน มีชื่อเสียง และกลุ่มคนที่มีเครือข่าย ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ประชาชนทั่วไปที่อยากจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจในฐานะ สว. ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ฐานที่มั่นสุดท้ายของขั้วอำนาจเก่าคือ สว. เพราะถ้าหลุดจาก สว.นี้ไปจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างใหญ่ๆ
นายวันวิชิตกล่าวว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ เป็นภาวะการเชื่อมจิตครั้งสุดท้ายกับคณะรัฐประหาร ที่พยายามทำให้เห็นว่ามีความพยายามรักษาอำนาจ สร้างความซับซ้อนสร้างเงื่อนไขและสร้างปริศนาทางความคิด ว่าการได้มาซึ่ง สว. 200 คน ทั้งนี้ ตกใจที่มีผู้สนใจสมัครน้อย ประชาชนยังไม่ตื่นตัว ส่วนข้อสงสัยว่ามี สว.ไว้ทำไม ส่วนตัวเห็นว่ามี สว.ไว้จอดรถทัวร์ สิ่งที่อยากเห็นหลังจากนี้ ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ในแวดวงวิชาการ แต่ต้องทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของ สว.ชุดนี้ คือความว่างเปล่า และเวลาพัฒนาประเทศ แต่ก็ขอบคุณที่ทำให้ประชาชนตื่นรู้ และมีคำตอบว่า สว.ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว
นายปุรวิชญ์กล่าวถึงการเลือก สว. 20 กลุ่มอาชีพว่า ยังหาเหตุผลรองรับไม่ได้ว่า ใช้เกณฑ์ใดในการแบ่ง ไทยถือเป็นประเทศแรกในโลก และส่วนตัวพยายามหาคำตอบว่าทำไมต้องใช้วิธีการเลือกกันเอง ซึ่งเชื่อว่าอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจประชาชน จึงมีกระบวนการซับซ้อนซ่อนเงื่อนใช้วิธีเลือกไขว้ เป็นการทำให้งงอย่างจงใจ สว.ชุดใหม่มีความสำคัญในการกำหนดและตัดสินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังเคยมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26 ครั้ง การเลือก สว.ครั้งนี้ จึงเป็นการเดิมพันมากที่สุด และเป็นเหตุผลที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมากที่สุด
“ไม่ขัดข้องหากไทยจะมีสองสภา แต่อำนาจต้องไม่เยอะ หรือถ้าจะยกเลิกสภาสูงก็ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ ข้อมูลวิชาการพบว่าการร่างรัฐธรรมนูญ หมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของสภา เป็นหมวดที่ถกเถียงกันยาวนานมากที่สุด และทั่วโลกมี 78 ประเทศเป็นระบบสองสภา และอีก 112 ประเทศเป็นสภาเดียว” นายปุรวิชญ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้