‘19-21’มิ.ย.ถกงบปี2568 พิพัฒน์ย้ำ1ต.ค.ได้400แน่

ดีเดย์ 19-21 มิ.ย.ถกงบรายจ่ายปี 2568 “ก้าวไกล” ดี๊ด๊าบอกสมาชิกแห่ขอลงชื่อจองกฐินซักฟอก บอกจะทำเสมือนเป็นรัฐบาลเงาว่าจะจัดงบอย่างไร “อนุทิน” ป้องพิพัฒน์เรื่องค่าแรง 400 บาท แต่ รมว.แรงงานย้ำ 1 ต.ค.ได้แน่ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า มอบให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นผู้ดูแล และดำเนินการในการกำหนดเวลาการประชุมของแต่ละฝ่าย 

ขณะเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์เป็นประธาน และมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ในวันที่ 18 มิ.ย.จะมีประชุมสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ ซึ่งเชื่อว่าฉบับของรัฐบาลจะเสนอทันในการประชุมวันดังกล่าว แต่ถ้าร่างรัฐบาลไม่เสร็จเราจะพิจารณาร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาจบในเวลา 16.00 น. ส่วนระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยเริ่มประชุมเวลา 09.00-22.00 น. สำหรับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันสุดท้ายอาจประชุมถึงเวลา 24.00 น.

นายวิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมแบ่งเวลาการอภิปรายให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละ 20 ชั่วโมง และให้เวลาประธาน 1 ชั่วโมง ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีการเตรียมความพร้อมกันอย่างดี

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เกือบเดือนแล้วที่พรรคได้เตรียมการอภิปรายงบปี 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างแต่ละกลุ่มประเด็นช่วยกันจับประเด็นในการอภิปราย ซึ่งจะแตกต่างจากการอภิปรายในปีก่อนๆ โดยครั้งนี้พรรคจะพยายามทำในลักษณะว่าถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลจะจัดงบแบบใด

 “พรรคจะพยายามสวมบทบาทว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลจริง จะเข้าไปขุดลึกทั้งระบบของงบประมาณประเทศ ว่าส่วนใดควรปรับปรุง และถ้าเราเป็นรัฐบาลแล้วเห็นคำขอเช่นนี้จะจัดงบประมาณแบบใด”

เมื่อถามว่า สมาชิกพรรค ก.ก.มีผู้แสดงความจำนงในการอภิปรายงบประมาณ 20-30 คน หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ เพราะคนที่สนใจจริงๆ มีประมาณ 50-60 คน เหมือนการอภิปรายงบปี 2567

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่นายจ้างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ว่า เบื้องต้นมีการประชุมด้วยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าการขึ้นค่าแรง หรือว่าการกำหนดนโยบายค่าแรงงาน นโยบายรัฐบาลก็อยากให้เพิ่มค่าแรง แต่ในเรื่องความเหมาะสมการกำหนดอะไรหลายๆ อย่าง เราก็มีคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคลูกจ้างและนายจ้าง หลักๆ แล้วส่วนใหญ่ต้องออกมาจากมติของที่ประชุมไตรภาคี เมื่อมติออกมา เราจึงค่อยมาพูดคุยกัน มองว่าถ้าเป็นมติก็ไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ไม่พอใจ ถึงต้องตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมา

นายอนุทินย้ำว่า รัฐบาลฝ่ายเดียวบอกจะขึ้นค่าแรงก็บอกเป็นนโยบายได้ แต่ในการปฏิบัตินั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคณะกรรมการไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย ส่วนประเด็นที่สังคมมองว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกตัวแรงในเรื่องนี้ และดูไม่สนใจไตรภาคีเลย ได้มีการคุยกับนายพิพัฒน์หรือไม่นั้น จะมีรัฐมนตรีคนไหนที่ไม่สนใจภาคส่วนไหนได้ ต้องสนใจทุกภาคส่วนอยู่แล้ว นายพิพัฒน์จะไม่สนใจได้อย่างไร จะขึ้นค่าแรงได้หรือขึ้นไม่ได้ นโยบายนี้จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับไตรภาคี เพราะรัฐมนตรีแรงงานคนเดียวไม่มีสิทธิ์ที่จะไปประกาศในเรื่องของค่าแรงได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว

ส่วนนายพิพัฒน์กล่าวถึงไทม์ไลน์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ว่า แน่นอนในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เป็นภาพรวมทั้งประเทศ ส่วนในเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคีนั้นเป็นขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว ซึ่งจากการหารือกับ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้นโยบายกับอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ไปหาข้อมูลภาพรวมรายละเอียดแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ว่าอาชีพไหนไปได้ อาชีพไหนไปไม่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ฉะนั้นทั้ง 2 ส่วนจะทำงานคู่ขนานกันไป เป้าหมายวันที่ 1 ต.ค.จะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง