โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ขอทบทวนนำนิรโทษกรรมรวมความผิด ม.112 "ก้าวไกล" แนะคลายปัญหาคดีทางการเมือง  ชง รบ.ออกมติ ครม.สังคายนาสิทธิประกันตัว "กมธ.นิรโทษกรรม" มีมติส่ง 3 ข้อเสนอทะลุฟ้าให้รัฐบาลดำเนินการ เล็งตั้ง คกก.นิรโทษกรรม ยันยังไม่ตัดคดีม.112 ออก

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล  วันที่ 16 พ.ค. เวลา 10.00 น. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน​ แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า​ พร้อมด้วย ​น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์​ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง​ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเศรษ​ฐา​ ทวี​สิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ภายหลังจากที่​ น.ส.เนติพร   เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง กลุ่มทะลุวัง เสียชีวิตระหว่างคุมขัง โดยมีนายสมคิด​ เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวมีการนำโปสเตอร์นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์ของนายทักษิณ​ ชิน​วัตร อดีตนายกฯ​ และ น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีการพูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองมาจัดกิจกรรมด้วย

นอกจากนี้ ตัวแทนได้อ่านแถลงการณ์​ ที่มีการยื่นข้อเสนอ​ 4 ข้อ 1.เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2.ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด​ได้รับสิทธิในการประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม​ รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง​ ไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา​ ถอนคำร้อง ​ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา​ ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ 4.เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรม​ประชาชนทุกฝ่าย​ ทุกข้อหา​ ที่มีมูลเหตุมาจากคดีทางการเมือง

"ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังว่าจะไม่มีบุคคลใดจะต้องเสียชีวิต​ และทุกๆ คนจะได้รับสิทธิ​ในการประกันตัวและสิทธิ​ในการแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค." ท้ายแถลงการณ์ระบุ

น.ส.ปนัสยา​กล่าวว่า​​ รู้สึกกังวล รพ.กรมราชทัณฑ์จะไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด​ขณะนำตัวไปรักษายัง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เนื่องจาก รพ.ราชทัณฑ์ระบุไว้ว่าจะเก็บภาพในกล้องวงจรปิดไว้เพียง 3 วันเท่านั้น​ จึงขอตั้งคำถามถึงขั้นตอนกู้ชีพ​ของ น.ส.เนติพร และรู้สึก​เสียใจที่การสูญเสียของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นในรัฐบาลนายเศรษฐา​​

ด้านนายสมคิด​กล่าวว่า​ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล เสียใจ​และเกินกว่าคำว่าเสียใจ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ก้าวล่วง​ฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทุกท่านทราบอยู่ว่ากรณีที่ถูกถอนประกันเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ​ นอกจากนี้ที่มีการตั้งคำถามว่าการศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกขยายออกไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่จะเสร็จ ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ จะมีการประชุม​ และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้า  แต่ขณะนี้อยู่ในการปิดสมัยประชุมสภา

ทะลุฟ้าจี้คืนสิทธิประกันตัว

ถามว่า มีการระบุการนิรโทษกรรมไม่รวมผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 และ 110 นายสมคิดกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด แต่มีกรรมาธิการส่วนหนึ่ง​ ซึ่งเป็นความคิดของบุคคล ไม่บอกว่าพรรคใดคัดค้าน​ที่จะเอาฐานคดีใน ม.112 มาด้วย แต่ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียดในแนวทาง ตนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย

"อีกเหตุผลที่พรรค พท.ไม่พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเลย หลายพรรคก็มาด่า เพราะพรรคมีบาดแผลจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ มันเจ็บปวดมาแล้ว ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับมาตรา 112 ฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะบอกว่าเห็นหรือไม่ทำเพื่อนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เราพูดไม่ได้​เพราะจุดนี้​ แต่เสียงว่าอย่างไร เราเอาด้วย​ เราไม่คัดค้าน เอาเสียงส่วนมากว่าอย่างไร​เราก็เอาด้วย วันนี้พรรคเสนอให้ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​เพื่อให้ทุกฝ่ายตกผลึกให้เร็วขึ้น​ ถ้าหากปล่อยแต่ละฝ่ายไป​ก็จะไม่จบ วันนี้เราเชิญทุกฝ่ายมา แต่จะจบแน่นอนก่อนสภาเปิด" นายสมคิดกล่าว

จากนั้นเวลา 12.45 น. กลุ่มทะลุฟ้า  นำโดยนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน และน.ส.ภัสราวลี เดินทางต่อไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ., นายนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการ กมธ. และนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า อันดับแรกช่วยพิจารณาเรื่องมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมอีกครั้งหนึ่งอย่างจริงจัง ตอนแรกที่เริ่มต้นตนได้เข้าร่วมประชุมกับทุกท่าน มีเหตุผลมากมายบอกว่ามาตรา 112 ยังไม่เป็นปัญหา เป็นคดีที่ต้องแยกออกไป เป็นคดีที่พูดคุยกันยาก มีความเป็นไปได้ว่า ตอนนั้นจะเกิดการตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาเรื่องมาตรา 112 แยกออกมา แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด

"หลังการสูญเสียนี้เกิดขึ้นแล้วจะกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังได้หรือยัง การนิรโทษกรรมจะรวมมาตรา 112 ได้หรือยัง จะพูดได้หรือยังว่ามาตรา 112 มีปัญหาจริงๆ จะเอาเหตุผลไหนมาปฏิเสธว่ามาตรา 112 ไม่มีปัญหา ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ เรื่องนี้หาก กมธ.จะไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย จะต้องอธิบายเหตุผลให้กับพี่น้องประชาชนฟังอย่างชัดเจนว่าเหตุผลในการไม่รวมคืออะไร เหตุใดจึงมองว่ามาตรา 112 ไม่ใช่คดีความทางการเมือง และเป็นคดีที่มีปัญหา ในเมื่อคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเรียกร้องด้วยชีวิตของเขาจนเขาเสียชีวิตไปแล้ว" น.ส.ภัสราวลีกล่าว

นอกจากนี้ ส่วนที่สอง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการในการดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด ในเมื่อเห็นปัญหาของคดีความทางการเมืองที่สะสมขนาดนี้ เพื่อยุติการสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ขอให้ชะลอคดีความก่อนได้หรือไม่ หยุดพักการดำเนินการกระบวนการต่างๆ ก่อนได้หรือไม่ และส่วนที่สาม คนที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ปล่อยพวกเขาออกมาได้หรือไม่

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ข้อเสนอเหล่านี้เราไม่ได้มีมติใดๆ ว่าจะปฏิเสธหรือไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ เพียงแต่ขอเรียนว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบนี้ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นนโยบายในภาพรวมที่สำคัญ ต้องเชิญฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกัน และร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก ลำพังหาก กมธ.ทำอะไรไปโดยที่ฝ่ายอื่นไม่ได้รับทราบด้วยไม่ได้

"เรื่องมาตรา 112 ถูกบรรจุไว้ใน กมธ. ไม่ได้ถูกตัดออก แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน หาข้อดี-ข้อเสีย เราเห็นใจว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญ และจะพยายามทำเรื่องนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่มีสติปัญญาและกำลังความสามารถ" ประธาน กมธ.นิรโทษกรรมกล่าว

กมธ.นิรโทษฯ ยังไม่ตัด 112 ออก

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)  ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า การเสียชีวิตของบุ้งสะท้อนให้เห็นปัญหาประเด็นคดีทางการเมืองยังเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน รวมถึงคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ที่มักไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งการเสียชีวิตของบุ้งก็เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ จนมีการประท้วงอดอาหาร แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่เป็นการตัดสินใจของเจ้าตัว

นายชัยธวัชกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ควรจะมีการทบทวนว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรให้ดีกับทุกฝ่าย และในระหว่างที่ยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลก็มีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น การมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร การลดความตึงเครียดในคดีทางการเมือง ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล การกลั่นกรองคดีต่างๆ ในชั้นตำรวจสามารถทำให้ดีขึ้นได้ หรือการคืนสิทธิประกันตัวก็ทำได้ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ถ้าตำรวจยึดหลักต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยไม่มีเหตุยกเว้นให้ประกันตัวไม่ได้

"กมธ.นิรโทษกรรมควรจะมีการเสนอความเห็นจาก กมธ.นิรโทษกรรมไปยังรัฐบาล เพื่อคลี่คลายปัญหาคดีทางการเมือง หรือความรู้สึกของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ในระหว่างที่ยังไม่มีรายงานข้อสรุปของ กมธ.นิรโทษกรรม" นายชัยธวัชกล่าว

วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร  ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องที่กลุ่มทะลุฟ้ามายื่นหนังสือหลังการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร

นายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม   สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. แถลงผลการประชุม โดยนายสมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่ทางกลุ่มทะลุฟ้ามายื่นหลังการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ทะลุวัง โดยได้พิจารณาในหลายเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล ซึ่งทาง กมธ.ได้มีการเสนอความเห็นที่หลากหลาย จึงต้องนำเสนอไปยังรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

นายสมคิดกล่าวว่า ทางกลุ่มทะลุฟ้าถามมา 4 ข้อ คือ 1.ให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร 2.ให้ดำเนินการใดๆ โดยให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นถอนฟ้อง ถอนคำร้องที่ร้องมา ซึ่งทั้ง 3 ข้อเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ 4.เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กมธ.โดยตรง คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฉะนั้นทาง กมธ.จึงมีมติส่งหนังสือความคิดต่างไปยังรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะมีการประชุมกันในวันที่ 20 พ.ค. เวลา 15.00 น.

 “เรื่องดังกล่าวเป็นความร้อนใจของ กมธ.ทุกคน และเชื่อว่าทุกคนคงไม่มีแค่คำว่าเสียใจ แม้ กมธ.ชุดนี้จะไม่มีอำนาจโดยตรงในการแก้ปัญหา แต่เราสามารถออกความเห็นไปยังรัฐบาลได้ และผมคิดว่าไม่ว่า กมธ.ชุดไหนมาทำ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก” นายสมคิดกล่าว

ด้านนายนิกรกล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ครั้งถัดไป วันที่ 23 พ.ค. ที่ประชุมจะมีการโหวตว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาหรือไม่ และจากเดิมที่ กมธ.มีการประชุมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดังนั้นหลังจาก 2 สัปดาห์ต่อไป กมธ.จะมีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อรีบดำเนินการให้ทัน พร้อมเอาเข้าที่ประชุมสภา ที่จะเปิดสมัยประชุมในต้นเดือน ก.ค.

นายนิกรกล่าวว่า เพื่อความรอบคอบ กมธ.ชุดใหญ่ได้มีกรอบการทำงานให้กับ อนุ กมธ.ว่าอีก 2 สัปดาห์จะต้องทำให้เรียบร้อย แล้วนำเสนอต่อที่ประชุม โดยจะต้องมีการโหวตและเป็นมติเกี่ยวกับการจำแนกกรณีคดีความผิดหลัก ความผิดรอง ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงนิยามคำว่า “จูงใจทางการเมือง” ซึ่งก็จะสามารถเคาะได้ในอีก 2 สัปดาห์

"ตอนนี้ต้องเร่งรัด อย่างกรณีที่เกิดขึ้น  ทาง กมธ.ก็ต้องตอบสนองโดยเร็ว เพราะเรื่องที่เขาร้องเรียนมาเขาต้องการให้เรารีบดำเนินการ เราจึงต้องนัดประชุมทุกสัปดาห์ ส่วนเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ยันยันว่าไม่ได้มีการตัดทิ้ง โดยในอีก 2 สัปดาห์จะนำมาพูดคุยกัน และสรุปอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร" นายนิกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง