เดินหน้าเรือดำน้ำจีน ไม่ยกเลิกสัญญา รักษาความสัมพันธ์ 2 ชาติ พร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือทางการทหาร หลีกเลี่ยงใช้คำ "ค่าชดเชย" อุบไต๋รายการที่จะให้เพิ่มเติม-บาร์เตอร์เทรด ยื่นหมูยื่นแมว รอ "ครม." เห็นชอบก่อน ทร.เผย ในหลวง-พระราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเจิม รล.ช้าง เรือยกพลขึ้นบก ต่อจากจีนเสาร์นี้
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำเบื้องต้น ระหว่างคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำจีนของกระทรวงกลาโหม นำโดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ โดยนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ด้วย
ทั้งนี้ การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่างไทย-จีนดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาการเจรจาอาจจะล่าช้า เพราะทางฝ่ายจีนอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างกองทัพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้รวมศูนย์หน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ เป็นหน่วยงานเดียวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมจีน โดยหน่วยงานของจีนที่ส่งมาคือ The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ และ ‘The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ
มีรายงานด้วยว่า โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือทางออกใน 2 ทาง คือ 1.เดินหน้าต่อ หรือ 2.ยกเลิก ซึ่งหากการเปลี่ยนจากโครงการเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการ เรือดำน้ำด้วยเช่นกัน เมื่อได้ประเมินข้อดี-ข้อเสียแล้วพบว่าการยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยฝ่ายไทยอาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน โดยทางฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด เพราะต้องการให้ โครงการเรือดำน้ำเดินหน้าอย่างชัดเจนก่อน
สำหรับขั้นตอนต่อไป กระทรวงกลาโหมจะสรุปผลการเจรจานำเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการแก้สัญญา 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และการเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมนี MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD620 เพื่อให้ ครม.เห็นชอบต่อไป ทั้งนี้มีข้อมูลว่าเครื่องยนต์ CHD 620 ได้ผ่านมาตรฐานจากสมาคมจัดชั้นเรือของประเทศอังกฤษ และประเทศปากีสถาน ได้จัดซื้อเรือดำน้ำจีนที่ติดตั้งเครื่องยนต์ CHD 620 ซึ่งน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำในอีกไม่นานนี้
แหล่งข่าวระบุว่า ในการเจรจาครั้งนี้ หน่วยงานทางการจีนได้รับข้อเสนอของไทยในการเพิ่มเติมการสนับสนุน โดยไม่ได้ใช้คำว่าชดเชย และจะนำกลับไปพูดคุยกับทางการจีนอีกครั้ง เช่นเดียวกับข้อแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านการเกษตร แต่ที่สำคัญคือการจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยต้องมีมติในเรื่องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้ทางไทยยังไม่เปิดเผยรายการอย่างละเอียดที่ทางจีนจะให้กับไทย
ขณะที่มีรายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหมระบุว่า การเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่จบทั้งหมด และช่วงนี้คณะพูดคุยคงยังไม่เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจจะไม่ไป เพราะจะคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล คาดว่าน่าจะจบเร็วๆ นี้ และคงต้องไปหารือนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแล เพราะต้องไปรายงานเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง และมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
วันเดียวกัน กองประชาสัมพันธ์กองทัพเรือได้เผยแพร่ข้อมูลว่า กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2567 โดยเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษ “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่างๆ ในประเทศไทย
โดยการเสร็จพระราชดำเนินมาครั้งนี้ นำความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจมาสู่กองทัพเรือ และกำลังพลประจำเรืออย่างหาที่สุดมิได้ โอกาสนี้ จึงขอเชิญพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับเรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบกจำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่างๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติงานร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารที่่ไม่ใช่สงคราม สนับสนุนภารกิจการบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล จัดหามาเพื่อนำไปใช้ในภารกิจในการป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์์ของชาติทางทะเล ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี จึงแล้วเสร็จ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน