กกต.-มท.ติวเข้มเลือกสว. เหลือ10สำนวนใบดำ-แดง

"กกต.-มท." ติวเข้มทุกจังหวัดจัดเลือก สว. "อนุทิน" กำชับผู้ว่าฯ  และนายอำเภอวางตัวเป็นกลาง "แสวง"  ตอกนักวิชาการขยันจ้อไม่อ่าน กม. ทำสังคมสับสน ขืน กกต.ทำนอก รธน.เจอคุก  ขู่ผู้สมัครฮั้วมีข้อมูลครบฟันทันที แจงปม "พิชิต" ยังอยู่ในขั้นประมวลข้อมูล เผยเหลือ 10 สํานวน ส่งศาลชี้ขาดแจกใบดำ-แดง สส.

ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ นายอำเภอ และ ผอ.สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง สนับสนุนการเลือก สว. การร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย และเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาชุมนุมสาธารณะ และใช้กลไกของกระทรวงในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการเลือก สว. อาทิ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย ข้อมูลข่าวสารการเลือก สว.ไปสู่ประชาชน รวมถึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพบปะประชาชน 

ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนกระบวนการเลือก สว. ภารกิจ บทบาทของจังหวัด อำเภอ และเขต ถือเป็นการซักซ้อมร่วมกันในพื้นที่ ทำความเข้าใจครั้งสุดท้ายก่อนลงสนามจริง   โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า หน่วยงานของ มท. เหมือนกระดูกสันหลังของการเลือก หรือเส้นเลือดใหญ่ของการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่ามีประสบการณ์ และให้ความร่วมมือในการจัดการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือก สว.ครั้งนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ แต่ข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีคนรับใบสมัครไปแล้วประมาณ 17,000 คน ดังนั้น ภาระงานของผู้ปฏิบัติงานหน้างานจะมีมาก นอกจากจัดการเลือก สว.แล้ว ยังมีหน้าที่ส่งศาลฎีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ถือเป็นภาระหนัก เพราะเวลามีจำกัด ซึ่งได้กำชับสำนักงานให้สนับสนุนผู้ว่าฯ นายอำเภอเต็มที่ ที่ไหนมีพนักงานเพียงพอก็ประกบทุกหน่วย เชื่อว่าด้วยการสนับสนุนของ มท. จะทำให้การเลือก สว.สำเร็จเรียบร้อย

ส่วนที่เป็นประเด็นมาร่วม 2-3 เดือน ที่คนอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูล หรือรับแล้ว แต่เบี่ยงประเด็นให้คนในสังคมสับสน กกต.เจอสภาพนี้มาตลอด อย่างเช่น ที่มีนักวิชาการที่ไปให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ก็ไม่อ่านกฎหมายสักตัว แล้วพูดไปทำให้สังคมเกิดความสับสน แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ กกต.ออกแบบนั้นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราต้องทำตามกฎหมาย หากหลุดออกจากกฎหมายก็เข้าคุกเข้าตะราง ทั้งนี้ แม้จะบอก สว.ให้เป็นกลาง แต่เป็นการเมืองอยู่ดี ดังนั้นเมื่อมีการแข่งขัน มักไม่ได้พูดถึงความถูกต้อง แต่พูดถึงใครได้ใครเสีย แต่สำหรับ กกต.จะต้องพูดถึงความถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่สังคมสับสน ส่วนหนึ่งคือบรรดานักวิชาการ นักกฎหมาย ที่ไปพูดผ่านสื่อ ไม่อ่านกฎหมายสักตัว แล้วพูดให้สังคมสับสน

 “สว.ครั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 107 ให้มาจากการเลือกกันเองจากผู้มีความรู้  ประสบการณ์ ประวัติการทำงาน อ่านสองบรรทัดก็รู้แล้วว่าประชาชนไม่มีสิทธิ แต่การเลือก สว.นั้น ไม่ใช่การเลือกคนมาจากอนาคตเหมือนการเลือก สส. ที่อนุญาตให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ว่าเมื่อเป็นแล้วจะทำอะไร แต่ สว.จะเข้ามาทำหน้าที่ในการออกกฎหมายต่างๆ ต้องการคนดี ซึ่งดูจากประวัติที่ผ่านมา ไม่ใช่ดูจากคำพูดว่าเข้าไปแล้วจะไปทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ไม่ได้เลือกจากการแสดงวิสัยทัศน์ จุดยืนเหมือนนักการเมือง กกต.ก็ต้องมาออกแบบการเลือกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด” นายแสวงระบุ และว่า ขณะนี้ กกต.ได้แก้ไขระเบียบแนะนำตัวแล้ว สามารถแนะนำตัวผ่านสื่อโซเชียลทุกแพลตฟอร์มได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบแนะนำตัวตามแบบ สว.3 ขอให้ศึกษาระเบียบให้ชัดเจน 

โดยภายหลังการบรรยาย​ นายแสวง ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มผู้สมัคร สว. ไปยื่นศาลปกครองเรื่องระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. และเตรียมนัดพิพากษาในวันที่ 24 พ.ค.นี้ มีแผนรองรับอะไรหรือไม่ ว่าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ต้องดูว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร และยืนยันว่าไม่มีอะไรหนักใจในการเลือก สว.ชุดนี้ เพียงแต่มีคนอื่นหนักใจแทนเรา 

เมื่อถามว่า เรื่องการฮั้วหากมีข้อมูลเราสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้หรือไม่ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า หากมีครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถวินิจฉัยได้เลย แต่เรื่องการฮั้วต้องอาศัยการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องกระบวนการจะเห็นทันที จะดำเนินการได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ อยากทำให้การสืบสวนสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นสำนวนในการทุจริต หรือกระบวนการ อยากทำให้เสร็จ เพื่อให้สะเด็ดน้ำในทุกอำเภอ เว้นแต่มีความซับซ้อนในการหาพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานบุคคล แต่ถ้ามีเพียงพอดำเนินการได้เลย 

นายแสวงยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 พ.ค. กกต.จะจัดงานคิกออฟการเลือก สว. ที่จะเป็นการทำเอ็มโอยูร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ในการรณรงค์และให้ความรู้เรื่องการเลือก สว.

นายอนุทินกล่าวว่า การเลือก สว. ในการเป็นคนการเมือง จะต้องมีความเป็นกลางอย่างแน่นอน เพราะไม่มีเรื่องของพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทำหน้าที่เป็นกลางอย่างเต็มที่ เพราะภารกิจสูงขนาดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักที่กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการ จึงต้องทำให้มั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และเพื่อให้ได้ สว.ที่มีคุณภาพ

"กระบวนการนี้จะต้องคัดเลือกมาทีละกลุ่ม จากแสนคนให้เหลือหลักร้อย และมีโอกาสที่จะมีคำร้องเรียน ดังนั้นหากไม่มีความเป็นกลาง และไม่สามารถอธิบายได้ ก็จะทำให้กระบวนการยิ่งมีความล่าช้าออกไป หรือทำแล้วไม่ถูกต้อง หากเกิดการร้องเรียน 2,000 กรณี ก็ตายกันพอดี ดังนั้นต้องมั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปได้ความบริสุทธิ์ยุติธรรม" นายอนุทินระบุ

ส่วนกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่วางตัวไม่เป็นกลาง จะมีการคาดโทษอย่างไร   นายอนุทินกล่าวว่า "ผู้ว่าฯ ซี 10 นายอำเภอ ซี 9 และไม่มีเหตุจูงใจใดๆ ที่จะต้องไปทุจริต หรือจะทำอะไรที่เกิดประโยชน์กับพวกเขา เฉพาะตัวผู้สมัครเองก็เป็นแสนคนแล้ว ทุกคนก็เฝ้าระวังด้วยตนเอง โอกาสที่จะไปตุกติกก็คงไม่เกิดขึ้น เราต้องเชื่อมั่นในผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทย เพราะคือพ่อเมือง ซีอีโอของจังหวัด และนายอำเภอทั้งหลายก็เป็นนักปกครองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง  อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็คงจะไม่ยอม หากจะไปเล่นเส้นเล่นสาย ดังนั้นจึงไม่กังวลในเรื่องนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนว่าความรับผิดชอบ ถ้ามีความชอบก็อยู่ที่ผู้ว่าฯ มีความผิดก็อยู่ที่ผู้ว่าฯ ซึ่งท่านทั้งหลายจะเลือกความชอบในการทำภารกิจที่สำคัญของบ้านเมืองนี้

วันเดียวกัน นายแสวงยังเปิดเผยถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าขณะนี้อยู่ในชั้นสำนักงานประมวลข้อมูลเพื่อเสนอ กกต. ทั้งนี้ คาดว่าคงไม่ได้เสนอในการประชุมของ กกต.ในครั้งหน้า

เมื่อถามถึงกรณีมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) นายสุวรรณา กุมภิโร สส.บึงกาฬ พรรคภูมิใจไทย หลังจากนี้จะมีคำร้องอื่นอีกหรือไม่ เพราะ กกต.มีเวลาตรวจสอบ 1 ปี หลังประกาศผลเลือกตั้ง สส. นายแสวงกล่าวว่า ความจริงเวลา 1 ปี ไม่มีในกฎหมาย แต่ กกต.กำหนดไว้ปฏิบัติเอง ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 10 สำนวน ที่ได้ส่งให้ศาลพิจารณา ไม่ใช่เรื่องเดียว ยืนยันว่ายังมีเวลาตรวจสอบอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มหาดไทยเร่ง 8 มาตรการแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุกใน 3 เดือน

มท.ขับเคลื่อน 8 มาตรการตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก ในระยะเร่งด่วน 3 เดือน เน้นบูรณาการทุกภาคส่วน ปลัด มท.วอนแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567