ชงศบค.ปรับโซนสี ติดโควิดขาขึ้นรอบใหม่! คุมกึ่งผับสกัดโอมิครอน

ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง 3.8 พันราย ห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์แพร่เชื้อ หวั่นคนไทยหละหลวมยอดติดเชื้อหลักหมื่นใน 2 สัปดาห์ ขอปชช.เน้น wfh หลังกลับจากปีใหม่ เผย “โอมิครอน” แพร่แล้ว 55 จว. คนติด 2,338 ราย จับตา 7 ม.ค. ศบค.ปรับมาตรการใหม่

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,662 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,648 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 14 ราย, มาจากเรือนจำ 68 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 169 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,508 ราย อยู่ระหว่างรักษา 34,877 ราย อาการหนัก 541 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 149 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 14 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย โรคเรื้อรัง 3 ราย มากที่สุด เชียงราย 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,239,475 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,182,829 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,769 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 295,550,360 ราย เสียชีวิตสะสม 5,473,511 ราย ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง แต่ผู้เสียชีวิตยังไม่เพิ่มขึ้นมาก

พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ขณะที่การจำแนกสายพันธุ์จากข้อมูลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.64- 4 ม.ค.65 พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 78.91%, เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 20.92% คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยโอมิครอน 2,338 ราย กระจายไป 55 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดในจังหวัดพบที่ กทม. กาฬสินธุ์ ชลบุรี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต และสมุทรปราการ โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อีกครึ่งติดจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อยังเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน จังหวัดที่ฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวได้น้อยต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษา โดย 10 จังหวัดที่มีการฉีดให้กลุ่มดังกล่าวน้อยที่สุด ประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งการเตรียมการรักษาที่ว่านี้คือการเตรียมการรักษาในโรงพยาบาล และแยกรักษาที่บ้านและในชุมชน เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ ซึ่งต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการจะได้รักษาทันท่วงที เพราะอาการผู้ป่วยช่วงนี้จะเป็นในวัยทำงานที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาการจึงไม่รุนแรง แต่ต้องแยกกักตัวป้องกันการกระจายเชื้อ

พญ.สุมนีกล่าวว่า และหากดูยอดผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. มียอดสะสม 605 ราย มาจากประเทศสหราชอาณาจักรมากที่สุด 85 ราย, สหรัฐอเมริกา 76 ราย, เยอรมนี 45 ราย, สวีเดน 38 ราย, ฝรั่งเศส 28 ราย สูงสุดคือระบบ Test and Go

สำหรับ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 529 ราย, กทม. 408 ราย, อุบลราชธานี 315 ราย, สมุทรปราการ 259 ราย, ขอนแก่น 164 ราย, ภูเก็ต 138 ราย, เชียงใหม่ 135 ราย, นครศรีธรรมราช 91 ราย, พัทลุง 87 ราย, นนทบุรี 78 ราย ซึ่งใน กทม. ตัวเลขเคยลดลงไปก่อนวันสิ้นปี และกลับมาสูงหลังวันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา และอันดับที่ 1-7 เป็นจังหวัดที่มีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ขณะที่มี 2 จังหวัดที่ไม่พบการติดเชื้อคือ นราธิวาสและอำนาจเจริญ

ผอ.สำนักสื่อสารฯ กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การแพร่ระบาดในร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับบาร์ พบที่ จ.เชียงใหม่ เป็นสถานบันเทิงย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ส่วน จ.พะเยา ขอนแก่น เป็นร้านลักษณะผับกึ่งบาร์ ที่ จ.ชลบุรี เป็นร้านเหล้า ที่ จ.มหาสารคามพบในร้านอาหารกึ่งผับ ขณะที่ จ.อุดรธานี อุบลราชธานีและ กทม.พบในสถานบันเทิง

พญ.สุมนีเผยว่า ศปก.ศบค.ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมมาตรการต่างๆ เสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 7 ม.ค. โดยวาระสำคัญคือการปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์ จะมีการจำกัดจำนวนคนและการรวมกลุ่มทำกิจกรรม รวมถึงอนุญาตดื่มสุราในร้านอาหาร และจะมีการพิจารณาปรับมาตรการในการควบคุมโรค จากเดิมมีแนวโน้มจะเปิดสถานบันเทิงหรือไม่ แต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ และไม่ได้ดำเนินการมาตรการที่ ศบค.กำหนด ตรงนี้จะเป็นข้อมูลและเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจสำคัญในวันที่ 7 ม.ค. ว่าจะมีการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือคาราโอเกะหรือไม่ รวมถึงจะมีการปรับมาตรการของผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยแบบ Test and Go ที่มีการชะลอก่อนหน้านี้ รวมถึงมีวาระเพิ่มการเรื่องการจัดการสายพันธุ์โอมิครอน จึงขอให้ประชาชนติดตามการประชุมเพื่อปฏิบัติตัวได้ตามมาตรการ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 4 ม.ค. ถือเป็นวันแรกของการรับมือโควิด-19 เข้าปีที่ 3 สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1.เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2.ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งปีนี้จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนต่อไป

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนก แต่ก็ไม่อยากให้ผ่อนคลายมากเกินไป เชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้ ไทยจะพบการติดเชื้อใหม่ทะลุหมื่นรายแน่นอน และภายในปลายเดือนนี้ จะเห็นตัวเลขวันละ 2-3 หมื่นราย อีก 3-4 วัน เราก็เกินหมื่นรายต่อวัน แต่บางคนอาจมองว่าไม่เห็นตัวเลขเสียชีวิตจะเพิ่ม อาจประมาท นี่เป็นสิ่งอันตราย ซึ่งคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อแล้วเสียชีวิตหรือไม่ ที่สำคัญคือคนรอบข้างที่อาจติดเชื้อจากตัวเองแล้วเสียชีวิตได้เช่นกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการ ภาคธุรกิจ เอกชน กลับมาเปิดดำเนินปกติ เพื่อเตรียมแนวทางการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่างๆ ให้ทันสถานการณ์ พร้อมนำเข้าสู่พิจารณาเพื่อปรับมาตรการในที่ประชุม ศบค. 7 ม.ค.นี้

นายธนกรกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะทำการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อระลอกหลังปีใหม่เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรกจะประเมินสถานการณ์จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ส่วน 2 สัปดาห์หลังจะประเมินผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการเสียชีวิต ก่อนตัดสินใจปรับมาตรการต่างๆ ขอความร่วมมือประชาชน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สตรีมีครรภ์ ติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด หรือหากเคยฉีดแล้วก็ควรติดต่อขอฉีดเข็มกระตุ้น เนื่องจากวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 สามารถลดการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง