ผวาค่าแรง400 ดัชนีเชื่อมั่นร่วง เอกชนบี้ชะลอ

เอกชนหวั่นปรับขึ้นค่าแรง 400   ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เม.ย.ร่วง  ส.อ.ท.วอนรัฐชะลอ พร้อมอุ้มราคาพลังงาน 3 เดือน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ  ตัวแทนนายจ้างโวยมติ ครม.บีบบอร์ดไตรภาคี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่การปฏิบัติผิดปกติ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.2567 ว่าอยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือน มี.ค. 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน อย่างไรก็ตาม  ในเดือนเมษายนมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง  ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย.ยังมีปัจจัยบวกจากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นจากภาวะขาดแคลนอาหารและปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีภาระหนี้ยังได้รับผลดีจากการที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย (MRR) ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ตามคำร้องขอของนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,268 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนเม.ย.2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 79.4%,  ราคาน้ำมัน 56.6%, เศรษฐกิจในประเทศ 56.4%, สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.2%, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐ 39.5% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 68.5% ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลง จาก 100.8 ในเดือน มี.ค.2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันของภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงสงครามรัสเซีย- ยูเครน กดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยภาคเอกชนจึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ 1.ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ 2.เสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด และ 3.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการดำเนินการตามแนวคิด ESG รวมทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุดหนุนค่าใช้จ่ายที่นำไปลงทุนเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วันเดียวกัน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในเดือน ต.ค.ว่า หลังจากที่มีการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายนายจ้างยังไม่ได้นัดหารือกันถึงเรื่องนี้

เมื่อถามว่า การที่ ครม.ประกาศไทม์ไลน์มาแล้ว เป็นการบีบหรือกดดันบอร์ดค่าจ้างหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า ใช่ แต่ต้องย้ำว่านายจ้างยินดีที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ขอให้ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ตามปฏิทินที่กำหนดร่วมกันไว้ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้น ซึ่งบอร์ดมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นขึ้นเท่าไหร่นั้นคงตอบไม่ได้ จนกว่าจะถึงวันที่พิจารณาแล้วเสร็จ

ส่วนกรณี 16 สภาองค์การนายจ้างเสนอว่ายินดีที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น แต่ขอให้เป็น 1 ม.ค.2568 นั้น นายอรรถยุทธ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเป็นไปตามปฏิทินของรอบการปฏิบัติงาน แบบนี้ยอมรับได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติที่ผิดปกติ ทั้งที่เศรษฐกิจยังเหมือนเดิมทุกอย่าง อยู่ๆ จะให้พิจารณาได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' เผยค่าแรง 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ ขึ้นกับคณะกรรมการไตรภาคี

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงค่าแรง 400 บาท ที่กระทรวงแรงงานป