ยุบก.ก.ศาลยืดอีก15วัน กกต.ไขปมสว.กลุ่มสตรี

กกต.ตอบข้อซักถามประชาชน เกี่ยวกับเลือก สว. เผยกลุ่มสตรีต้องเป็นผู้หญิงโดยกำเนิดเท่านั้น ห้ามหญิงข้ามเพศสมัคร คนละเรื่องกับอัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์​ให้ยึดตาม พม.  เน้นสายเลือด ขณะที่ศาล รธน.อนุญาต  "ก้าวไกล" ขยายเวลาชี้แจงยุบพรรคอีก 15 วัน เป็นครั้งสุดท้าย ต้องจบใน 2 มิ.ย.

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567    สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบข้อสอบถามเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 11 (14) และ (15) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ.2561 เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 11 (14) กลุ่มสตรี และ (15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ดังนี้

1.กลุ่มอาชีพที่ 14 "กลุ่มสตรี" มีความหมายอย่างไร และรวมถึงบุคคลใดบ้าง นับรวมบุคคลที่มีเพศชายที่เชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิสตรีและหญิงข้ามเพศด้วยหรือไม่ หรือนับเฉพาะบุคคลที่มีเพศกำเนิดเท่านั้น

โดย กกต.ตอบข้อซักถาม​ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (141) "กลุ่มสตรี" หมายความเฉพาะบุคคลที่มีเพศเป็นหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น

2.กลุ่มอาชีพที่ 15 จะมีกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ความเป็น "กลุ่มอัตลักษณ์" และ "ชาติพันธุ์" อย่างไร

กกต.ตอบกลับว่า สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอข้อมูลในการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความหมายของ "กลุ่มอัตลักษณ์" และ "ชาติพันธุ์" ดังนี้

"อัตลักษณ์ทางเพศ" หมายถึง การกำหนดเพศสภาพตามความรู้สึกภายในของบุคคลในการเป็นชาย หญิง หรือเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบทวิเพศ หรือการมีหรือไม่มีเพศสภาพหรือเพศสภาพอื่นๆ โดยอาจไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะทางเพศก็ได้

ทั้งนี้ "ชาติพันธุ์" หมายถึง เป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างในด้านต่างๆ จากคนส่วนใหญ่ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษเดียวกัน (สายเลือด) มีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณเหมือนกัน (เชื้อชาติ) มีพันธะเกี่ยวข้องสืบเนื่องกันมายาวนาน แสดงเอกลักษณ์ออกมาโดยการผูกพันลักษณะของสัญชาติ และเชื้อชาติเข้าด้วยกันมีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน รวมตัวกันเป็นพหุวัฒนธรรมมุ่งมั่นในการอนุรักษ์พัฒนาสืบทอดบนพื้นฐานดินแดนและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษของตน โดยจำแนกพื้นที่จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1.กลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง หรือชนชาวเขา จำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เย้า (เมี้ยน) ลีซซู (ลีซอ) ลาหู่ (มูเชอ) อาข่า (อีก้อ) ลั่วะ ถิ่น ขนุ จีนฮ่อ คะอิ่น และปะหล่อง (ดาลาอั้ง)

2.กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ จำนวน 38 กลุ่ม ได้แก่ มอญ ไทลื้อ ไททรงดำ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยอง ไทหญ่า ไทยวน ภูไท ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวกา ลาวตี้ ลาวเวียง แสก เขมร เซเร ปรังบรู (โซ่) โซ่ง โช (ทะวิง) อืมปี ก๋อง กุลา ชอุโอจ (ซุอุ้ง) กูย (ส่วย) ฮกรู (ซาวบน) ฌ้อ โย้ย เขมรถิ่นไทย เวียดนาม (ญวน) เญอหมี่ ซอ (บีซู) ชอง กระชอง มลายู กะเลิง และลาวโซ่ง (ไทดำ)

3.กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในทะเล หรือชาวเล จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักละโว้ย

4.กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี่ (ตองเหลือง) และมานิ (ซาไก)

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 และประกาศ กกต. เรื่อง การมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกันตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

วันเดียวกันนี้ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. ขอเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีไม่ให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งสื่อมวลชนเผยแพร่การแนะนำตัวผู้สมัครต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางให้การต่อศาลอย่างพร้อมเพรียง

โดยภายหลังการไต่สวนนานกว่า 3 ชม. นายเทวฤทธิ์เปิดเผยว่า ในการไต่สวนวันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะทาง กกต.ที่แจ้งต่อศาลว่าได้มีการปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ในส่วนของข้อ 7 และ 8 ที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่เข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. สามารถแนะนำตัว ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ระเบียบข้อ 11 (2) (5) ก็ยังมีผลกระทบต่อผู้สมัคร ที่ทำงานในสายสื่อสารมวลชนและศิลปะการแสดง ที่อาจจะมีปัญหา ในกรณีที่เปิดเผยตัวตน รวมถึงแสดงความสามารถผ่านสื่อสาธารณะ​ประเภทต่างๆ ก็อาจจะมีปัญหากรณีที่ถูกร้องคัดค้านว่า ผิดระเบียบการคัดเลือก สว. โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี จากระเบียบดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครไม่กล้าจะเข้าสมัครได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลว่าจะมีคำสั่งเป็นในทิศทางใด ในวันที่ 24 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวในรายงานว่า ในวันที่ 16 พ.ค.2567 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และพวก ยื่นฟ้องขอเพิกถอนระเบียบดังกล่าวในเวลา 13.30 น.

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาในคดีที่ กกต.​ ขอให้ศาลพิจารณากรณีพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าข่ายลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเหตุยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามไม่ให้คณะกรรมการบริหารพรรค และผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ 10 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

ซึ่งพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ขอขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่ 3 เป็นครั้งสุดท้ายอีก 15 วัน โดยศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามขอ ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา วันที่ 2 มิ.ย.2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง