สัญจรเพชรเทงบ515ล. ยื้อตั้งรมช.แทนกฤษฎา

ครม.สัญจรเมืองเพชร อนุมัติงบ 515 ล้าน 18 โครงการ ลง 4 จว.ภาคกลางตอนล่าง "เศรษฐา" โอ่ลงพื้นที่ได้เข้าถึงปัญหา ปชช.อย่างถ่องแท้    เล็งครั้งหน้าประชุมนอกสถานที่เมืองโคราช ปัดยังไม่คุย "พีระพันธุ์" เคาะชื่อ "รมช.คลัง" คนใหม่แทนกฤษฎา  "พิชัย" ปัดโดนหาแบ่งงานไม่ให้เกียรติ ลั่นเป็นคนทำงานมีเหตุมีผล "อิ๊งค์" เชื่อ "ทักษิณ" หวังดีคุยกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา แจงวิจารณ์ "แบงก์ชาติ" เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาล "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ตีตกปมร้องตรวจสอบ "พิชิต-เงินดิจิทัลฯ" ชี้ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เวลา 10.00 น.  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่  ครั้งที่ 3/2567 “ฐานเศรษฐกิจสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด ชั้น 2 อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ต.นาวุ้ง อ.เมืองฯ จ.เพชรบุรี  โดยนายกฯ และ ครม.สวมใส่เสื้อสีเหลือง ผ้าลายสุวรรณวัชร์ ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ มอบเป็นของที่ระลึกให้ ครม.

ก่อนการประชุม นายเศรษฐาได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ โดยเมื่อมาถึงบูธกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบกล้าไม้ "ต้นหัวใจเศรษฐี" ให้ ซึ่งนายเศรษฐากล่าวว่า ถ้าอยากจะเป็นเศรษฐีต้องพยายามให้มากๆ จากนั้นนายกฯ เยี่ยมชมสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดเพชรบุรี โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยได้มอบเนกไทผ้าไหมอิตาลีให้นายกฯ รวมทั้งยังรับมอบผ้าลายเพ็ชรราชวัตรสีแดง จากกลุ่มผ้าบ้านชะอาด อ.ชะอำ ซึ่งถอดแบบจากผ้าห่อคัมภีร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากวัดลาด อ.เมืองเพชรบุรี โดยนายกฯ ระบุว่า จะนำผ้าผืนดังกล่าวไปใช้ระหว่างเดินทางเยือนฝรั่งเศส เนื่องจากมีลักษณะบาง เหมาะกับช่วง spring (ฤดูใบไม้ผลิ)

นอกจากนี้ นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการชั้น 2 อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และทดลองดื่มน้ำลามปาล์มโซดา รวมทั้งถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี  สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) และผู้แทนภาครัฐ

ต่อมาเวลา 11.20 น. นายเศรษฐา แถลงผลการประชุม ครม.สัญจรว่า ครม.รับทราบและเห็นชอบหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด จำนวน 10 โครงการ กรอบวงเงิน 246 ล้านบาท โดยให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดขอรับการจัดสรรของบประมาณปี 2567 และงบกลาง และเห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน จำนวน 8 โครงการ กรอบวงเงิน 268 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 และงบกลาง

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 รวม 4 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์ รวม 18 โครงการ วงเงิน 514.89 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนแรกเป็นโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จในช่วง 1 ปี รวม 10 โครงการ วงเงิน 246.26 ล้านบาท อีกส่วนเป็นโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน 8 โครงการ วงเงิน 268 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้รับทราบในหลักการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอโครงการเข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดวงเงิน 246.26 ล้านบาท อาทิ จ.เพชรบุรี 3 โครงการ วงเงิน 47.7 ล้านบาท, จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสนอ 2 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท, จ.สมุทรสงคราม มี 1 โครงการ วงเงิน 48.5 ล้านบาท และ จ.สมุทรสาคร เสนอ 2 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท ส่วนโครงการของภาคเอกชน มี 8 โครงการ วงเงิน 268 ล้านบาท  อาทิ โครงการฝายแม่น้ำปราณบุรี วงเงิน 23 ล้านบาท, โครงการต่อยอดจังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งเรียนรู้ของยูเนสโกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วงเงิน 10 ล้านบาท, โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำหนองไก่เถื่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการชลประทานเพชรบุรี วงเงิน 40 ล้านบาท  เป็นต้น

เวลา 11.20 น. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการลงพื้นที่ต่อเนื่อง จ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ว่า ตนเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของครม. ที่เราต้องไม่นั่งอยู่แค่สำนักงานอย่างเดียว การที่เราต้องลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ได้เห็นแววตา ได้เห็นถึงปัญหาจริงๆ และได้มีการสอบถามจริงๆ โดยไม่ผ่านมาหลายๆ คน เชื่อว่าจะทำให้เราได้เข้าใจถึงปัญหาถ่องแท้ขึ้น ได้มีการพูดคุยกันได้อย่างดีขึ้น และยังไงก็ถือเป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป

ยังไม่เคาะคนแทน 'กฤษฎา'

นายเศรษฐากล่าวว่า การประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งต่อไป คิดว่าคงเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน แต่น่าจะประมาณปลายเดือน มิ.ย. หรือต้นเดือน ก.ค.โดยประมาณ

ถามถึงการจัดรายการนายกฯ พบประชาชน นายเศรษฐากล่าวว่า เห็นทีมงานกำลังเช็กอยู่ พอดีต้องเดินทางไปต่างประเทศคืนวันที่ 15 พ.ค. กลับมาก็ประมาณปลายเดือน แต่อยู่อีก 3-4 วันก็ต้องไปเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงอีก คิดว่าต้นเดือนหน้าน่าจะได้ แต่อาจจะพยายามฟิตให้ได้ประมาณปลายเดือน พ.ค.นี้สักหน เพราะเดินทางกลับจากต่างประเทศพอดี น่าจะมีเรื่องมาเล่าได้

ซักถึงตำแหน่ง รมช.การคลัง ที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออก ได้มีการพูดคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)หรือยัง นายเศรษฐากล่าวว่า

ยังไม่มีครับ

พอถามว่า ได้เห็นรายละเอียดของจดหมายลาออกของนายกฤษฎา ที่ระบุนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ไม่ให้เกียรติกันในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ครับ เห็นแล้วครับ

"ผมเชื่อว่าผมรู้จักท่านมานานแล้ว ก็คงมีโอกาสได้เจอกัน และเราก็ไม่มีความขัดแย้งอะไรกัน ผมเชื่อว่าเป็นการเข้าใจผิดในเรื่องของการแบ่งงานมากกว่า และมันยังมีเรื่องอีกเยอะแยะที่ยังสามารถให้ท่านช่วยเหลือได้ แต่เมื่อท่านตัดสินใจไปแล้วก็ตามนั้นครับ" นายเศรษฐากล่าว

ช่วงบ่าย นายกฯ พร้อม ครม.เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการตัวอย่างด้านการเกษตรและรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ที่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุปโครงการ และได้วางพวงมาลัยสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พลับพลาที่ประทับเก้าเหลี่ยม และรับมอบของที่ระลึกจากชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนเดินทางกลับ กทม.

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีนายกฤษฎาระบุสาเหตุการลาออกมาจาก รมว.ว่าการ ไม่ให้เกียรติกัน ไม่สามารถทำงานร่วมกันว่า ไม่เป็นไร เรื่องนี้ไม่สามารถตอบแทนนายกฤษฎาได้ ถ้าจะตอบต้องมีเวลานิดหนึ่ง

 “เข้าใจได้ แต่วิธีการทำงานของผมมีเหตุมีผล” นายพิชัยกล่าว

ถามถึงเวลานัดพูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรับจูนการทำงานระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย รมว.การคลังกล่าวว่า ใกล้แล้วครับ  คุยๆ เรื่องทุกอย่างคุยได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีนายกฤษฎาเช่นกันว่า  ไม่รู้สึกตกใจ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นเราไปก้าวก่ายไม่ได้ ซึ่งตนไม่ได้หารือกับท่านตั้งแต่ต้น และหลังจากที่นายกฤษฎาลาออกก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

ถามว่า เห็นเหตุผลการลาออกของนายกฤษฎาแล้วหรือไม่ ที่อ้างว่าไม่ให้เกียรติการทำงาน นายจุลพันธ์กล่าวว่า  จดหมายตนไม่เห็นด้วยซ้ำ เห็นเพียงแต่จากสื่อ ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง เนื่องจากจดหมายไม่ผ่านที่โต๊ะตน

"เรื่องการแบ่งงานไม่มีคำว่าพรรคอยู่แล้ว ใน ครม.ไม่มีเรื่องของพรรคการเมือง มีแต่ความเหมาะสม ซึ่งในมุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หากมองในมุมของคนที่เข้ามาโดยไม่อยู่ในการเมือง สำหรับผมก็ตาม ไม่มีกระทรวงใดที่สำคัญมากกว่ากัน ทุกกระทรวงมีบทบาทมีหน้าที่ในการทำงานสนองนโยบายรัฐบาลและขับเคลื่อนประเทศ  เพราะฉะนั้นทุกกระทรวงทุกกรมมีน้ำหนักเท่ากัน ซึ่งนี่เป็นมุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและผม" นายจุลพันธ์กล่าว

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีนายกฤษฎาลาออกจาก รมช.การคลัง และสมาชิกพรรค รทสช.ว่า ได้โทรศัพท์ไปคุยกับนายกฤษฎาแล้ว เจ้าตัวยืนยันว่าจะลาออก

ถามว่า เหตุผลที่นายกฤษฎาบอกในหนังสือลาออกจาก รมช.การคลัง ที่เป็นปัจจัยทำให้ตัดสินใจลาออก นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนเองก็ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของนายกฤษฎา จะไปวิเคราะห์วิจารณ์คนอื่นคงไม่ได้ และคงไม่มีปัญหา คงหาคนแทน

"ที่บอกนายกฤษฎาจะลาออกจากพรรคด้วย ผมก็ยังไม่เห็นหนังสือ และไม่ทราบ เพราะอยู่ จ.เพชรบุรี แต่ก่อนหน้านายกฤษฎาเคยบอกว่าเมื่อไม่ได้ทำงานการเมืองแล้วก็อยากไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องส่วนตัว" นายพีระพันธุ์กล่าว

อิ๊งค์วิจารณ์ ธปท.เพื่อ ปชช.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการประเมินการทำงานของพรรค ภท. ที่วันนี้ (14 พ.ค.) ครบรอบ 1 ปีของการเลือกตั้งว่า วันนี้พรรค ภท.ยังทำงานทุกวัน ทุกคนทำงานอย่างหนัก นโยบายต่างๆ ของเราคือพูดแล้วทำ นโยบายค่าแรงก็ตอบสนอง และวันนี้นายกฯ ก็อยากให้มีการแข่งขันวัวลานอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ดูเรื่องการแก้ไขระเบียบกฎหมาย ตนก็จะเสนอที่ประชุมครม. ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเป็นวัฒนธรรม ก็จะไปศึกษากัน จะได้แก้ทีเดียวพร้อมกันเลย นี่ก็เป็นการตอบสนองคำสั่งนายกฯ ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล

ถามถึงกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รมว.สธ. ระบุในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ว่ามีหลายหน่วยงานไม่เห็นด้วยในการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด แต่ไม่กล้าคัดค้าน นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูมติที่ประชุม ถ้าออกมาเป็นเอกฉันท์ตนก็ต้องยึดตามนั้น ขณะนี้ สธ.ก็ไปศึกษา ตามที่นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ก็ถูกแล้ว เพราะทุกอย่างดีที่สุดคือมีข้อมูลมายืนยัน และรับฟังพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ใช้กัญชาและไม่ใช้กัญชา

"ทั้งหมดต้องมีขั้นตอนกระบวนการ  ไม่อยากให้เป็นนโยบายประจำบุคคล สมมติวันหนึ่งผมเข้าไปเป็น รมว.สธ. ก็ต้องนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ ฉะนั้นจึงต้องใช้ข้อมูลให้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่เป็นข้อมูลทางวิชาการ เพราะเป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายเชื่อถือได้" นายอนุทินกล่าว

ซักว่า นายสมศักดิ์ระบุเป็นมารยาททางการเมืองในขณะนั้นจึงไม่คัดค้าน นายอนุทินกล่าวว่า การร่วมรัฐบาลทุกคนก็ต้องรักษามารยาท แต่สุดท้ายก็ต้องรักษากฎหมายและประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้นสิ่งที่ท่านพูดก็ถูก ที่ต้องรักษาทุกๆ อย่างเอาไว้ การออกกฎระเบียบอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นมติของที่ประชุม พอเป็นมติก็เลยเรื่องมารยาทไปแล้ว หากจะแก้ไขก็ต้องให้ที่ประชุมแก้ไข

  เมื่อถามว่า ในที่ประชุม ครม.นายกฯได้พูดถึงเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้เลย นายกฯ สั่งการแล้วให้กระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ผลการใช้ผลการปฏิบัติ ว่ามีอะไรแตกต่างไปจาก 2 ปี ที่แล้ว ถ้าไม่มีอะไรแตกต่างก็ไม่มีเหตุผลที่จะเลิก แต่ถ้ามีอะไรแตกต่างไปในการที่เป็นโทษ ไม่ดีต่อพี่น้องประชาชน ก็ต้องเลิก ก็มีแค่นี้เอง

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพูดคุยกับตัวแทนชนกลุ่มชาติพันธุ์ประเทศเมียนมาว่า  นายทักษิณเป็นอดีตนายกฯ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เชื่อว่ามีความห่วงใยบ้านเมืองอยู่เสมอ แม้ว่าจะไปอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลา 17 ปี แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงพี่น้องคนไทย อะไรที่ช่วยได้ก็ต้องช่วย ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็คิดแบบนี้เช่นกันว่า ถ้ามีสิทธิ์ช่วยได้ก็จะช่วย คนละไม้คนละมือ

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า นายทักษิณตั้งแต่สมัยเป็นนายกฯ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด ซึ่งประเทศไทยก็มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาถึงกว่า 2,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นก็อยากให้เกิดความสันติ ซึ่งปัจจุบันนายทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งอะไร แต่สมัยที่เป็นนายกฯ ได้มีการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งก็มีโอกาสที่ได้รู้จักทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงทหารของเมียนมา จึงยังมีความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ได้สร้างไว้

"ด้วยความเป็นห่วงประเทศ ถ้ามีการได้พูดคุยอะไรเป็นเพียงเพราะอยากมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศไทยเท่านั้น ส่วนจะประสบผลสัมฤทธิ์มากน้อยขนาดไหน ก็ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้พูดคุยกับนายทักษิณ" น.ส.แพทองธารกล่าว

ถามถึงกรณีปาฐกถาวิพากษ์วิจารณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงาน 10 เดือนที่ไม่รอ ไปต่อให้เต็ม 10 ที่พรรคเพื่อไทยที่กระทบต่อผู้ว่าฯ ธปท.ว่า จริงๆรัฐบาลและ ธปท.มีวัตถุประสงค์เป้าหมายร่วมกันคือประชาชน เพราะหากมีเป้าหมายร่วมกัน จะสามารถทำงานจนทะลุเป้าหมายได้ ซึ่งความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงความเป็นอยู่ต้องเป็นเป้าหมายร่วมกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยตนก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรค ก็ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 

 “การปาฐกถาในเวทีใหญ่ที่พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นเรื่องสังคม เหตุการณ์ปัจจุบัน มีการเตรียมการก่อนอยู่แล้ว และต้องเตรียมคำตอบให้กับสื่อมวลชนเมื่อถูกถาม ฉะนั้น การพูดอิ๊งค์มองว่าเป็นการพูดเพื่อสนับสนุนการผลักดันนโยบายของรัฐบาล มองว่าหากจะมีถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งรัฐบาล ธปท. ซึ่งก็สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มาโดยตลอด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ" น.ส.แพทองธารกล่าว

ผู้ตรวจตีตกปมพิชิต-เงินหมื่น

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงผลวินิจฉัยคำร้องที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) และ (5) นั้น ผู้ตรวจฯ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) และเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นหรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการแล้ว ตามมาตรา 37 (4) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา

"ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงส่งเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป" เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

นอกจากนี้ พ.ต.ท.กีรประบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีมีผู้ยื่นเรื่องขอให้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่รัฐบาล และ ครม.กำหนดนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และตรา พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่  เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดนโยบาย และการแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจทางการบริหารของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศในฐานะองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร จึงไม่ใช่การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

"ที่ร้องเรียนไม่ใช่การร้องว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือร้องเรียนว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้" พ.ต.ท.กีรปกล่าว

 ส่วนกรณีรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567, 2568 ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงิน 3 ส่วน และเมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ครม.มีมติเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ดังนั้นจึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม และไม่มีประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

3 นายกฯ 'อิ๊งค์-ทักษิณ-เศรษฐา' ร่วมเปิดงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยจัดสัมนาภายใต้โครงการ เสริมศักยภาพ สส. และบุคลากรทางการเมือง มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯในฐานะหัวหน้าพรรค นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ รวมถึงแกนนำ