ชิงเคาะค่าแรง 400 ครม.ปาดหน้า‘ไตรภาคี’ 16สภานายจ้างบุกขวาง

ครม.ไฟเขียวค่าแรง 400   บาททั่วประเทศ ก.ย.-ต.ค.นี้ 16 สภานายจ้างบุกกระทรวงแรงงาน ค้านขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โวยปีนี้ปรับแล้ว 2 รอบ หวั่นผู้ประการรายย่อยต้องปิดกิจการ "บอร์ดไตรภาคี" สวนรัฐบาล สั่งอนุฯ จังหวัดพิจารณา ก่อนส่งตัวเลขให้ชุดใหญ่เคาะ ก.ค.

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 3/2567 ว่า ครม.รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอความคืบหน้าในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ จะมีผลบังคับในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 นี้

ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการค่าจ้างได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.กำหนดให้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 2.กำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2567

3.สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 4.สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 และเสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้เดือนกันยายน-ตุลาคม 2567

ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลา 13.30 น. นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้างทั้ง 16 สภาองค์การนายจ้าง ยื่นหนังสือถึงนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เพื่อคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567

นายเนาวรัตน์กล่าวว่า ด้วยสภาพของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเปราะบาง เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อน ขีดความสามารถในเชิงการแข่งขันด้อยลงไปเรื่อยๆ และเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่พร้อมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศแน่นอน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นอกจากนั้นยังมีเรื่องต้นทุน ค่าพลังงาน มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแลจุดนี้ด้วย ซึ่งเราเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทุกอุตสาหกรรมมีแรงงานทักษะอยู่แล้ว และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีปรับมาจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานเหมือนอย่างอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่อาจจะมีความต่างกันในเรื่องของอัตราการจ้างงานที่จะต้องสอดคล้องกับกำไรและขนาดของธุรกิจนั้น" นายเนาวรัตน์กล่าว และว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จึงต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก

"ค่าจ้าง 400 บาท เป็นค่าแรงแรกเข้า แต่ไม่ใช่ค่าแรงของพนักงานที่อยู่นานที่มีการปรับค่าแรงขึ้นตามศักยภาพ ดังนั้น เมื่อค่าแรงแรกเข้าเพิ่มเป็น 400 บาท คนที่อยู่ก่อนก็ต้องปรับตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ปีนี้ปรับขึ้นมา 2 รอบแล้ว แล้วยังจะมาขึ้นอีกครั้งวันที่ 1 ต.ค. เราคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ถ้าขึ้นค่าจ้างแต่รายรับของธุรกิจไม่เพิ่มเท่ารายจ่าย เมื่อเขาอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป จริงๆ แล้วมาตรา 87 กำหนดให้มีการตั้งบอร์ดค่าจ้างฯ ที่เป็นองค์กรอิสระ ให้พิจารณาค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นคนแต่งตั้งขึ้นมา ก็ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลต่างที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่งั้นคุณจะตั้งเขาไว้ทำไม คุณก็ล้มเขาไปเลย" นายเนาวรัตน์ระบุ

ต่อมาเวลา 16.45 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 กล่าวภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ได้นำประเด็นข้อเสนอของจากทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง หลังจากที่มีการประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค.2567 มาพิจารณา และคณะกรรมการไตรภาคีขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือของการเมือง ตามที่ฝั่งนายจ้างกังวล

"ดังนั้น ที่ประชุมไตรภาคีได้มีมติในเรื่องของค่าจ้าง โดยให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดพิจารณาว่าควรจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็นตัวเลขเท่าใด กิจการไหนจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้าง และเห็นด้วยหรือไม่ที่ต้องขึ้นภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 โดยให้เสนอมาภายในเดือน ก.ค.2567" นายไพโรจน์ระบุ

ทั้งนี้ มติและการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาโดยไม่มีอำนาจใดมาแทรกแซง เป็นไปตามกรอบพิจารณาสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และราคาสินค้าในท้องตลาดนั้นๆ เพราะบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เราจะให้เกียรติทางคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดเป็นคนนำเสนอว่าแต่ละจังหวัดควรจะขึ้นค่าจ้างเท่าใด และกิจการใดบ้าง เพราะต้องเข้าใจว่าบางกิจการ อย่าง SMEs ค้าปลีก ค้าส่ง ชาวสวนชาวไร่ อาจจะไม่พร้อมให้ขึ้นค่าแรง อยากให้จังหวัดเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาความเห็น  และนำเสนอมาคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ มาเคาะครั้งสุดท้าย เพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล