ขึ้นค่าแรงส่อสะดุด! ขบวนแรงงานขยับทวงสัญญา 400 บาทเท่าเทียมทั่วประเทศ จี้คุมราคาสินค้า ปกป้องรัฐวิสาหกิจหลุดไปอยู่ในมือกลุ่มทุน ขณะที่ "พิพัฒน์" รับหน้าเสื่อแทนรัฐบาล โยนรอความคืบหน้าในวงประชุมไตรภาคี ด้านปลัดแรงงานงัดช่องคณะอนุ กก.ค่าจ้างจังหวัดศึกษาแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่เอกชนยืนกรานดูเป็นรายจังหวัด
เมื่อวันจันทร์ เวลา 08.30 น. ที่หน้าอาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์เลขาธิการ สรส. เข้ายื่นหนังสือต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สนับสนุนให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ โดยนำสินค้า อาหาร และพืชผักที่ใช้ในชีวิตประจำวันติดป้ายราคามากองไว้ พร้อมประกาศว่าค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศ ค่าจ้างจึงต้องปรับอัตราเดียวกันทั้งประเทศ
โดยเนื้อหาหนังสือมีใจความสรุปว่า การที่มีกลุ่มทุนผู้ประกอบการออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องปกติเพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ความมั่งคั่งของพวกเขา หรือการที่มาอ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น แม้ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานจะยังไม่ขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นไปแล้ว แล้วถ้าไม่ปรับค่าจ้างผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้อย่างไร หรืออ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประโยชน์จะตกแก่แรงงานข้ามชาติ
“ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติมีสัดส่วนน้อยมาก เพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นที่มาทำงานในประเทศไทย แต่แรงงานไทยจำนวนกว่า 41 ล้านคน และจำนวนมากที่ยังคงรับค่าจ้างขั้นต่ำ บางอาชีพก็ไม่มีหลักประกันรายได้ กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง เช่น แรงงานนอกระบบ คนงานไรเดอร์ แม้กระทั่งลูกจ้างภาครัฐที่จ้างโดยหน่วยงานราชการ เกือบทุกกระทรวงที่ยังคงรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน กลุ่มทุน ผู้ประกอบการที่เขาเดือดร้อนเพียงเพราะกำไร ความมั่งคั่งเขาลดลง หรือกับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นคนบริโภค จ่ายภาษีก้อนใหญ่ให้แก่รัฐ" หนังสือระบุ
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ “ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั้งประเทศและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน” และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐและเอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี
“การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน แต่รัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า ค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐคือรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป” หนังสือระบุ
ขณะที่นายพิพัฒน์ได้รับหนังสือจากกลุ่มแรงงาน พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณาเรื่องค่าจ้าง ซึ่งได้มีการหารือกันแล้ว คิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาทเพื่อเป็นก้าวแรกก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และเอสเอ็มอี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัปสกิล รีสกิลให้กลุ่มลูกจ้าง โดยยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย
หลังจากนั้น นายพิพัฒน์ได้เป็นประธานการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมเอสเอ็มอีไทย โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมหารือ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
นายพิพัฒน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตั้งนโยบายไว้ว่า ในปี 2567 เราอยากจะเห็นค่าจ้าง 400 บาททั้งประเทศ สิ่งไหนที่สามารถทำได้เราก็จะเดินหน้า สิ่งไหนที่ติดปัญหา เราก็จะต้องจับเข่าคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ในการประชุมของไตรภาคีในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เป็นเรื่องของไตรภาคีซึ่งเป็นไปตามกลไก ส่วนในอีก 76 จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งจะได้เชิญผู้ประกอบการทุกกลุ่มมาพูดคุยหารือกันเหมือนในวันนี้ว่ามีทางออกที่ดีที่สุดอย่างไร
ด้านนายไพโรจน์เปิดเผยว่า ยืนยันว่าวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะมีการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่อาจจะดูความพร้อมของแต่ละกิจการธุรกิจด้วย ยืนยันว่าจะคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และจะมีการขอมติผ่านตามกลไกไตรภาคี ที่จะมีอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างระดับจังหวัด ที่จะเสนอขอความเห็นไปว่าแต่ละจังหวัดธุรกิจใดมีความพร้อมก่อน โดยพรุ่งนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรายละเอียดชัดเจน แต่การประชุมไตรภาคีจะมีขึ้นเดือนละหนึ่งครั้ง คาดว่าจะมีแนวทางชัดเจนได้ก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากยังยืนยันที่จะขึ้น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะกระทบ เช่น เอสเอ็มอี ค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสด แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็นสิบล้านคน ที่ต้องใช้เวลาปรับตัว แต่หากธุรกิจใดที่พร้อมก็ค่อยๆ ปรับไป โดยเฉพาะกับสมาคมค้าปลีกตลาดสดที่บอกว่า ถ้าวันนี้ขึ้น 400 บาท เจ้าของธุรกิจนี้กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ และการยื่นหนังสือครั้งนี้ ที่หอการค้าจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมกัน รวมถึงสมาคมการค้า 92 สมาคม ที่ประกอบด้วยเจ้าของโรงงานผู้ประกอบการกว่า 1.5 หมื่นบริษัทที่ยื่นพร้อมกัน
"โดยสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีตามระบบกลไกไตรภาคี ที่มีการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต และความสามารถของธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด” ดร.ชนินทร์ ระบุ
ตัวแทนภาคเอกชนกล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจว่าการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายรัฐบาล แต่ทางภาคเอกชนก็ย้ำว่า การปรับขึ้นมีกลไกการปรับขึ้น ควรคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย เพราะต้องยอมรับว่าแม้หลังผ่านวิกฤตโควิด แต่หลายธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวดี และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ ปรับมาแล้ว 2 ครั้ง คือ 1 ม.ค. 67 และ 13 เม.ย. 67 หากจะปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ มองว่าไม่สมเหตุสมผลในช่วงเวลา ตามดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนยินดีจะให้ความร่วมมือ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อทั้งกิจการผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด
ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี