“วิโรจน์” ร่ายยิบเตือน “สุทิน” อย่าไปเจรจากับจีนเรื่องเรือดำน้ำแบบคิดเองว่าผิดสัญญา ย้ำไทยปฏิบัติตามข้อตกลงเคร่งครัด มีแต่ CSOC ที่เข้าข่าย แนะยกเลิกสัญญาดีกว่าเอาค่าชดเชยจิ๊บจ้อย บอกหากทัพเรือจะเอาเรือจริงเสนอมาใหม่ในงบปี 2569 ได้
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร แถลงถึงกรณีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อเรือดำน้ำ พร้อมเปรยว่าจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เดินทางมาไทยภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเจรจาหาข้อยุติสุดท้าย ว่าสิ่งที่กังวลมากคือนายสุทินจะไปเจรจาในแบบที่ไทยถูกเอาเปรียบ เพราะหากจำกันได้ ในการอภิปรายงบประมาณ 2567 วาระแรก นายสุทินเคยกล่าวในสภาไว้ว่าทั้งกองทัพเรือ (ทร.) และบริษัท China Shipbuilding & Offshore International (CSOC) ต่างฝ่ายต่างก็เคยผิดสัญญาซึ่งกันและกัน โดย ทร.เคยผิดสัญญาจ่ายเงินล่าช้าในช่วงโควิด-19 ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากสำนักงบประมาณว่า ทร.จ่ายเงินให้ CSOC ตรงตามสัญญาตลอด ไม่เคยผิดสัญญา การที่ รมว.กลาโหมจะไปเจรจาโดยคิดไปเองว่า ทร.เคยผิดสัญญา ถือเป็นท่าทีที่ใช้ไม่ได้
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า ถ้าจะมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น น่าจะเป็น CSOC ที่ผิดสัญญากับ ทร. เพราะสัญญาระบุเลขรุ่นเครื่องยนต์เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นรุ่น 16V396SE84-GB31L เท่านั้น ซึ่งเป็นยี่ห้ออื่นไม่ได้ นอกจากเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า MTU396 โดยประเด็นนี้สำนักงบประมาณกลาโหมก็เคยมาชี้แจงยืนยันใน กมธ.การทหารเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 แล้ว โดย CSOC จะอ้างว่าการที่จัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ไม่ได้นั้นเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นเหตุผลที่ยอมรับไม่ได้เลย เพราะ MTU396 เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และทางการทหาร
“ก่อนที่ CSOC จะทำสัญญาต่อเรือดำน้ำขายให้กับกองทัพเรือประเทศไทย CSOC ควรต้องสอบถามจากเยอรมนีก่อนว่าจะขายเครื่องยนต์รุ่นนี้ให้ได้หรือไม่ จะคิดไปเองว่าเคยซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาต่อเรือดำน้ำเพื่อใช้ในจีนเองแล้ว ถ้าจะซื้อมาต่อเรือดำน้ำขายให้ประเทศอื่น เยอรมนีก็ต้องยอมขายให้ คิดแบบนี้ไม่ได้” นายวิโรจน์กล่าวว่า เมื่อกองทัพเรือทราบว่า CSOC ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ได้ จึงได้ทักท้วงไปว่าการจ่ายเงินในงวดที่ 2 ตามสัญญาที่ ทร.ได้จ่ายชำระไปแล้ว CSOC ต้องระบุรายการสั่งซื้ออะไหล่อุปกรณ์ในการประกอบเรือดำน้ำ ซึ่งเครื่องยนต์ MTU396 ก็เป็นหนึ่งในรายการอะไหล่อุปกรณ์ที่ CSOC จัดซื้อ ทร.จึงได้ทวงถาม CSOC ให้ส่งหลักฐานการสั่งซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาให้ โดย CSOC ได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2563 โดยแนบหลักฐานมาเพียงอีเมล 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นรายละเอียดที่ CSOC ขอใบเสนอราคา เครื่องยนต์ MTU396 จากเยอรมนี โดยเป็นอีเมลลงวันที่ 24 ธ.ค.2561 หลังจากที่ ทร.ได้ชำระเงินงวดที่ 2 ให้ CSOC ไปแล้ว 4 วัน และเป็นการขอใบเสนอราคาหลังจากที่ ทร.ลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำไปแล้วถึง 598 วัน จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า CSOC เรียกรับชำระเงินจาก ทร.โดยยังไม่ได้จัดซื้อเครื่องยนต์ MTU396 ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายการผิดสัญญา
“อีเมลอีกฉบับเป็นการติดตามเรื่อง แต่เยอรมนีแจ้งว่ายังไม่อนุมัติ จึงเป็นเหตุให้ CSOC ต้องเสนอเครื่องยนต์ CHD620 ที่ผลิตภายในจีนมาแทนเครื่องยนต์ MTU396 พร้อมเสนอค่าชดเชยให้กับ ทร. เป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท โดยเป็นส่วนลด 128 ล้านบาท และฝึกอบรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 70 ล้านบาท จึงขอตั้งคำถามว่า ประเทศไทยคุ้มเสี่ยงหรือไม่ที่จะรับเอาเรือดำน้ำที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลกำเนิดพลังงานไฟฟ้า CHD620 ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือผิวน้ำ และแม้แต่จีนเองก็ยังไม่เคยใช้ เพราะใช้แต่เครื่องยนต์ MTU396 เข้าใจว่าปัจจุบันเรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ CHD620 น่าจะมีแค่ที่ปากีสถานเพียง 1 ลำเท่านั้น”
นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า ค่าชดเชยที่คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท คิดอย่างไรก็เป็นค่าชดเชยที่เสียเปรียบมาก ทร.จ่ายชำระเงินค่าเรือดำน้ำไปแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีการก่อสร้างท่าจอดเรือ ระบบสื่อสาร และโรงเก็บต่างๆ อีกราว 2,000 ล้านบาท รวมแล้ว 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่ ทร.ต้องได้เรือดำน้ำลำแรกในปี 2566 แต่ขณะนี้ต้องขยายเวลาไปอีกกว่า 1,200 วัน หรืออีก 4 ปี โดยจะได้รับในปี 2570 หากคิดอัตราดอกเบี้ย 2.5% ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาลไทย อย่างน้อยค่าชดเชยที่กองทัพเรือต้องได้รับจาก CSOC ควรจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 200 ล้านบาทตามที่ CSOC เสนอ
นายวิโรจน์สรุปว่า เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงประเด็นการผิดสัญญา ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของการชดเชย ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจทางการทหาร ตลอดจนความจำเป็นของเรือดำน้ำ จึงเสนอทางออกที่คิดว่าเป็นผลดีต่อประเทศที่สุด 2 ข้อ คือ 1.ควรยกเลิกสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำกับทาง CSOC โดยสำหรับเงินที่จ่ายไปแล้ว ถ้าคืนเป็นเงินไม่ได้ ก็เจรจาให้คืนเป็นของ แต่ต้องกระทบกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยให้น้อยที่สุด และ 2.สำหรับเรือดำน้ำ หากพิจารณาจากเหตุผลของ ทร.ที่ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีเรือดำน้ำประจำการ และแผนการใช้เรือดำน้ำก็เป็นแผนที่ถูกร่างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ถ้ามองว่าจำเป็นเช่นนั้น ก็ให้กองทัพเรือเสนอคำของบประมาณเข้ามาใหม่ในปี 2569 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy พ่วงมาด้วย
“สุดท้ายผมอยากย้ำกับคุณสุทินว่า กองทัพเรือไม่เคยทำผิดสัญญากับ CSOC ดังนั้นคุณสุทินในฐานะ รมว.กลาโหม ต้องห้ามคิดไปเองว่ากองทัพเรือของเราผิดสัญญา แล้วไปเจรจาให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ถ้าเรือดำน้ำจำเป็นก็ไม่ว่ากัน ก็ให้กองทัพเรือเสนองบประมาณเข้ามาใหม่ แล้วมี Offset Policy ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพ่วงมาด้วย ผมว่าประชาชนรับได้ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันจะเอาเงินภาษีของประชาชนไปแลกเรือดำน้ำแบบได้ไม่คุ้มเสียให้ได้” นายวิโรจน์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
‘แม้ว-หนู’จูบปากตีกอล์ฟ ‘แก้วสรร’ให้ลุ้นกลางปี68
ชื่นมื่น! “ทักษิณ” ควง "อนุทิน” ตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาล