ปชช.เชื่อไตรภาคีเมินค่าแรง

นิด้าโพลเผย 44.5% หนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำเริ่ม 1 ต.ค.นี้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อไตรภาคีจะเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว อึ้ง! 61% เงินเพิ่มขึ้นไม่คุ้มกับอาหาร-ค่าครองชีพที่กระฉูด เด็ก ปชป.จี้รัฐบาลคลอดดิจิทัลฯ ให้ผู้ปกครองรับเปิดเทอม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค.2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “ค่าแรงขึ้น…คุ้มมั้ยกับค่าแกง?” โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล พบว่า 44.50% ระบุว่าเห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ต.ค.2567, 25.34% ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1  ต.ค., 16.41% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศในปีนี้,  13.05% ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ต.ค. และ 0.70% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล พบว่า 40.23% ไม่ค่อยเชื่อมั่น, 24.12% ไม่เชื่อมั่นเลย, 20.84% ค่อนข้างเชื่อมั่น, 10.23% เชื่อมั่นมาก  และ 4.58% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะเริ่มทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ต.ค.2567 พบว่า 39.01% ไม่ค่อยเชื่อมั่น, 25.95% ไม่เชื่อมั่นเลย,   23.36% ค่อนข้างเชื่อมั่น, 9.92% เชื่อมั่นมาก และ 1.76% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 “เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะคุ้มกับค่าอาหารและค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า 60.84% เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นจะไม่คุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น, 23.97%

เชื่อว่าคุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจสูงขึ้น, 9.46% เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ค่าอาหาร ค่าครองชีพสูงขึ้น, 4.89% เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และ 0.84% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ”

ขณะเดียวกัน นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างๆ  มากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือแบบเรียน ค่าชุดนักเรียนนักศึกษา และอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งเป็นภาระที่เกิดขึ้นประจำของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยจากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและผลกระทบของผู้ปกครองช่วงเปิดเทอมของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   พบว่าปีนี้ผู้ปกครองซื้อสินค้าตามความจำเป็น และซื้อตามจำนวนของบุตรหลานที่เข้าโรงเรียน โดยสินค้าที่ยังซื้อเท่าเดิมคือ ชุดนักเรียน แต่สิ่งที่ใช้ซ้ำได้จะซื้อลดลง เช่น กระเป๋า อุปกรณ์การเรียน ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองยังระมัดระวังใช้จ่าย และผู้ปกครองมากถึง 45.6% บอกมีเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 36.5 จำเป็นต้องจำนำทรัพย์สิน กู้เงินใน-นอกระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต

“ขอเรียกร้องไปถึงรัฐบาลให้เห็นความสำคัญถึงเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของชาติ และที่สำคัญขอให้อย่าทิ้งละเลย ลอยแพ พ่อแม่ผู้ปกครองที่เดือดร้อนในช่วงเปิดเทอมนี้  และขอฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี 3 เรื่อง 1.เร่งรัดขอเงินตามวงเงิน 10,000 บาท ตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต  มาให้กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องใช้เงินในช่วงเปิดเทอมมาใช้ก่อน 2.หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) หรือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ให้กลุ่มผู้ปกครอง และ 3.จัดหาสินค้าเพื่อการศึกษาที่เป็นของดีมีคุณภาพและราคาย่อมเยาให้ในช่วงนี้” นายชนินทร์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เผยคนไทยให้เกียรติคนที่ใช้ ตำแหน่ง ยศ นำหน้าชื่อ และเกือบ 90% ไม่เคยตรวจสอบว่าจริงหรือไม่

นำหน้านามนั้น สำคัญไฉน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับคำนำหน้านาม