พ.ร.ฎ.เลือกวุฒิสภาบังคับใช้

ราชกิจจานุเบกษา

ไทยโพสต์ ๐ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาประกาศใช้แล้ว   ขณะที่เวทีเสวนา สว. เก่าไปใหม่มา   นักการเมืองและนักวิชาการต่างชี้ 250 สว. ยุค คสช. แช่แข็ง-กร่อนเซาะ ประชาธิปไตย โดยให้คะแนนเต็ม 10 ในการรักษาอำนาจ คสช. วิจารณ์ระบบเลือก สว. สร้างความสับสน เป็นระบบครึ่งบกครึ่งน้ำ

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567  สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “เก่าไปใหม่มา : สว.ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย" ที่หอประชุมศรีบูรพา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์     โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นายจตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายประจักษ์ ก้องกีรติ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ  สภาผู้แทนราษฎร และ ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเวทีได้กล่าวถึงวุฒิสภาชุด คสช.ที่ได้หมดวาระ 5 ปี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางฝ่ายการเมือง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่า สว.ชุดที่ผ่านมาดีหรือไม่ดี แต่มองเรื่องระบบที่ให้อำนาจ สว.มากมายกว่าที่เคยมีในอดีต ทั้งเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การเลือกนายกรัฐมนตรี พิจารณากฎหมายสำคัญ กำกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป แต่ไม่ได้มีการลงโทษการไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเป็นผู้ที่ตั้ง สว.มา พร้อมขอให้ช่วงการรักษาการอะไรที่ไม่จำเป็นไม่ต้องรีบดำเนินการ

ขณะที่นายพริษฐ์ กล่าวถึงบทบาท 250 สว. ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในการแช่แข็งประชาธิปไตย และสืบทอดอำนาจบุคคลที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ที่มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ชี้ว่าเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะบทบาทร่วมโหวตนายกฯ เข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง ปี 2562 และ 2566 ตอกย้ำว่า สว.หลายคนมีเจตนาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล  และมองว่า 250 สว.ยังเป็นอุปสรรคการแก้รัฐธรรมนูญ

ด้าน ศ.สิริพรรณ ประเมินการทำงานของ สว.ชุด คสช.ว่า สว.ชุด 250 คนมีการเห็นชอบกฎหมายที่ผ่านจากสภา   แต่กฎหมายที่สำคัญคือร่างแก้รัฐธรรมนูญ 26 ฉบับ มีเพียง 1 ฉบับผ่าน ที่เหลือที่ถูกปัดตกเปรียบเป็นการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปฏิเสธปิดสวิตช์ตัวเองหรืออำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี 

ขณะที่นายประจักษ์กล่าวว่า ได้ให้คะแนน สว.ชุดที่ผ่านมาเต็ม 10 ในการรักษาอำนาจของ คสช. ที่ได้แต่งตั้ง 250 สว.มา แต่การส่งเสริมประชาธิปไตยและการตรวจสอบถ่วงดุลให้คะแนน 0  หรือสอบตก โดยมอง สว.ยังขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อหากไม่มี 250 สว. ประเทศไทยเดินหน้าทางประชาธิปไตยได้นานแล้ว พร้อมมองถึงความจำเป็นระบบการเมืองรัฐสภาว่าจำเป็นต้องมี สว.หรือไม่

ในประเด็นเกี่ยวกับระบบวุฒิสภา ทั้งอดีตของวุฒิสภาไทยและในต่างประเทศ ศ.สิริพรรณระบุว่า วุฒิสภาเป็นสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎร เดิมนายปรีดี พนมยงค์ เคยออกแบบให้ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่เมื่อเปลี่ยนให้มาจากการแต่งตั้ง กลายเป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจรัฐ และในเวลาต่อมาวุฒิสภายังมีข้อครหาสภาผัวเมีย  จึงเป็นข้อถกเถียงในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กล่าวถึงระเบียบการได้มาซึ่ง สว. ทำให้ผู้สมัครกังวลในการดำเนินการจนมีการยื่นร้องศาลปกครอง พร้อมเสนอแนะให้ กกต.ผ่อนปรน ออกระเบียบอะลุ่มอล่วยให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์เลือกได้

ส่วนนายประจักษ์ กล่าวถึงรูปแบบการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าไม่เคยมีประเทศใดในโลกมีระบบนี้ มองเป็นระบบที่ไม่ชอบธรรม และไม่ยึดโยงประชาชน ชี้เป็นความพิสดารและสร้างความสับสนโดยตั้งใจ เปรียบเป็นระบบครึ่งบกครึ่งน้ำ และไม่ได้ตอบโจทย์การเป็นตัวแทนประชาชน แต่เป็นระบบการเลือกเหมือนกล่องสุ่ม มอง สว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ทำให้ฝ่ายการเมืองมาช้อนซื้อด้วยกล้วยหรือล็อบบี้ภายหลังได้ง่าย เชื่อเป็นเกมที่ผู้นำได้ออกแบบมา และสิ่งที่ประชาชนทำได้คือประชาชนต้องไปสมัครเพื่อสกัดการจัดตั้ง

นายจาตุรนต์ย้ำว่า สิ่งที่น่ากลัวในการเลือก สว.ครั้งนี้คือการจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโดยฝ่ายการเมืองหรือจากนายทุน และ กกต.กำลังทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จากระเบียบที่ออกมาเกินไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพ พร้อมเสนอให้แก้ระเบียบแนะนำตัว ให้ประชาชนแสดงความเห็นและให้ผู้สมัครให้สัมภาษณ์ออกสื่อได้ 

นอกจากนี้ ในเวทีเสวนาช่วงท้ายยัง ฝากไปยัง สว.ชุดใหม่ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือก ศ.สิริพรรณเน้นย้ำว่า   สิ่งแรกของ สว.ใหม่ คือเจอภารกิจสำคัญพิจารณา พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญ หวัง สว.ใหม่มีคุณภาพ ลบคำสบประมาทเรื่องการซื้อเสียง สว. และฝากถึงรัฐบาลทำให้มีบรรยากาศแก้รัฐธรรมนูญมากกว่านี้ ส่วนนายประจักษ์ ฝาก สว.ใหม่ เพราะมีเดิมพันถึงโอกาสที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็ง เปลี่ยน สว.ที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำเป็นตัวแทนประชาชน

โดยนายจาตุรนต์คาดหวังว่า สว.ชุดหน้ามีความเชื่อมโยงกับประชาชน พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้ สว.อย่างน้อย 67 คน ร่วมสนับสนุนยกมือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายพริษฐ์ฝากถึง สว. 200 คน ทำหน้าที่ตระหนักถึงอำนาจอย่างรับผิดชอบเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ใช้ดุลพินิจในการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระและตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ด้วยเชื่อประชาชนจะสนับสนุนการทำงานของ สว.ใหม่อย่างแน่นอน

วันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 โดยมีรายละเอียด​ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 107 วรรคห้า และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567"

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา 4 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยอายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พ.ค. พ.ศ.2567 ซึ่งมาตรา 269 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 โดยมาตรา 107 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ เปิดเผยว่า  หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกสมาชิกวุฒิสภา เรื่องกำหนดวันดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการเลือก สว. สำนักงานจะนำเสนอที่ประชุม กกต. ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งสัปดาห์หน้ามีกำหนดประชุมในวันจันทร์ อังคาร และพุธ เป็นปกติอยู่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นันทนา' คึก! ลั่นปฏิบัติการ สว.เล็กเปลี่ยนสภา

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะแกนนำสว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ปฏิ