ล่าชื่อขวางกดดันธปท.

"คลัง" เคาะแล้ว ผู้มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ตัดยอดตั้งแต่ 31 มี.ค.67 และใช้ฐานข้อมูลภาษีปี 2566  เป็นเกณฑ์ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี อดได้เงินหมื่น   ขณะที่ "สมาคมเศรษฐศาสตร์ฯ" ล่าชื่อ ออกแถลงการณ์ ชี้ฝ่ายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง ด้าน กกร.ปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567  ใหม่ที่ 2.2-2.7%

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าที่ประชุมได้สรุปกำหนดกรอบเวลาสำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ 10,000 บาท โดยตามเงื่อนไขจะต้องมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.2567 และกำหนดกรอบสำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปี ที่จะได้รับสิทธิ์ตามโครงการ จะต้องไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2567 หรือวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกำหนดจะใช้ฐานข้อมูลภาษีปี 2566 เป็นเกณฑ์ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี ที่จะเข้าร่วมโครงการ

สำหรับเงินฝาก 500,000 บาท  ประกอบด้วย เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก และรวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากชื่ออื่นที่มีลักษณะเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว โดยเงินฝากดังกล่าวให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากในสกุลเงินบาทเท่านั้น โดยเป็นการรวมทุกบัญชีรวมกันในสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ด้านการยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) ยังไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติม และเงื่อนไขทุกอย่างในโครงการยังคงเหมือนเดิม ซึ่งกำหนดลงทะเบียนในไตรมาส 3/67

 “จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยในการประชุมวันนี้มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อย่างกรณีประชาชนที่อายุ 16 ปี ที่ผู้ปกครองมีการฝากเงินออมให้อย่างต่อเนื่อง จนมีเงินฝากในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาทนั้น ก็ถือว่าเป็นคนมีฐานะ ตรงนี้ก็ต้องตัดออก” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้ให้ข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ด้วยว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน กลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น และนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในขณะนี้คือการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งยังให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในหลายประเด็นเกี่ยวกับโครงการ พร้อมได้เน้นย้ำให้การดำเนินโครงการต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้เงินผิดประเภทด้วย

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือในเรื่องระบบและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้ เช่น เรื่องการยืนยันตัวตนจะเชื่อมอย่างไร ตัดสิทธิ์ที่วันไหน เรื่องเงินฝากตัดวันไหน รวมอะไรบ้าง รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากร กรมการปกครอง เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปและดำเนินการต่อ

 “แอปพลิเคชันที่จะใช้ในโครงการ กระบวนการยังดำเนินต่อเนื่อง ต้องมีการทำข้อตกลงกับหลายหน่วยงาน เช่น การตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ก็จะต้องหารือกันว่าจะเชื่อมถึงข้อมูลอย่างไร ใครรับผิดชอบส่วนไหน โดยเบื้องต้นจะใช้แอปพลิเคชันทางรัฐในการเชื่อมโยงข้อมูล” นายเผ่าภูมิกล่าว

ไม่ควรกดดันแบงก์ชาติ

วันเดียวกันนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะ นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และนายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมรายชื่อเตรียมออกแถลงการณ์เรื่อง ความขัดแย้งระหว่าง ธปท.กับฝ่ายการเมือง มีใจความว่า

 ความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลางอันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ ‘หลักปฏิบัติ’ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกหลายประการ เช่น ฝ่ายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างสุภาพ มีการพูดคุยที่อิงบนหลักการ หลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น ส่วนธนาคารกลางเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจของตนให้เป็นไปตามกรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลและรัฐสภา เหตุผลสำคัญสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน เช่น การออกจดหมายเปิดผนึกอธิบายเหตุผลกรณีที่เงินเฟ้อไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย เป็นต้น 

คณะผู้แถลงการณ์ขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันและกระบวนการให้หน่วยงานด้านการเงินการคลังร่วมกันจัดทำกรอบงบประมาณประจำปีตามหลักวินัยการเงินการคลังอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรใช้กระบวนการนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าที่ประชุมมีมติปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่า GDP จะเติบโตในกรอบ 2.8-3.3% ปรับลดอยู่ที่ 2.2-2.7% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเหลืออยู่ที่ 0.5-1.5% จากเดิมที่ 2.0-3.0% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-1.0% จากเดิมที่ 0.7-1.2% เนื่องจากการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังปรับลดคาดการณ์การค้าโลกปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3%

ขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7%

และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7% ซึ่ง IMF ประเมินว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน ที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลก ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม

ขณะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ตาม  คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคน ตามที่คาดไว้เดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี

"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ต่ำกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐ 2.การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้" นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน กกร.มีความเห็นต่อประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ว่าการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย

คัดค้านค่าแรง 400 บาท

ทั้งนี้ กกร.จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงานเพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกันนี้ จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ กล่าวถึงการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศว่า ไม่หนักใจอะไร เพราะจะต้องดูแลในเรื่องของปากท้องประชาชน ซึ่งตอนอยู่กระทรวงแรงงานก็ดูในเรื่องของความมั่นคงและความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงาน เรื่องของกระทรวงพาณิชย์เป็นเรื่องของภาพรวมประเทศ เรื่องของเศรษฐกิจนำเข้าส่งออก เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพของแต่ละคนของแต่ละวัน ส่วนนี้เป็นหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ให้นโยบายไว้แล้วว่าจะต้องทำให้ทุกอย่างมีความสมดุล

อย่างไรก็ตาม ค่าแรง 400 บาทถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเข้าหากัน เชื่อว่ามีวิธีการดูแล ซึ่งทั้งนายกฯ และรองนายกฯ ภูมิธรรมดูแลในเรื่องของค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้ว  หากกลัวค่าครองชีพสูงขึ้น ก็มีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว และในส่วนของภาคเอกชนเชื่อว่าหากค่าแรงขึ้นทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ ค่าครองชีพก็จะต้องมีการดูแล

ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงงาน 400 บาท ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ยอมรับว่ากระทบต่อต้นทุนสินค้าบ้าง และสินค้าบางรายการจำเป็นต้องปรับขึ้นไป แต่ไม่ใช่ว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้สินค้าขึ้นแบบไร้ทิศทาง เพราะต้นทุนใดที่ขึ้นจริงก็จำเป็นต้องให้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง แต่หากวิเคราะห์ออกมาแล้วไม่ได้กระทบมาก ก็ไม่จำเป็นสินค้าจะขึ้น โดยยังมีเวลาพิจารณาอีกหลายเดือนกว่าเงินค่าแรงงานจะประกาศใช้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนรองรับเอาไว้แล้ว

ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน  กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามที่จะตรึงราคาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร แต่ในขณะนี้เรายังตรึงไม่ได้ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เราใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงิน ก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า เงินมากเราก็ตรึงราคาได้มาก แต่ถ้าเงินน้อย เราก็ตรึงได้น้อย ถ้าเราเก็บเงินได้มากเดี๋ยวเราก็ตรึงได้อีก แต่ว่าระบบนี้เราไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ต้องปรับระบบใหม่

"ผมกำลังเขียนกฎหมายอยู่ และจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ตอนนี้เขียนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว" รมว.พลังงานกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง