นายกฯ ป้อง "อุ๊งอิ๊ง" วิจารณ์ ธปท.สะท้อนความต้องการ ปชช. ย้ำดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ ยันไม่เคยบีบบังคับใครเข้าใจความเป็นอิสระเตรียมหารือ รมว.คลังพูดคุยกับ ธปท.ให้ทำงานได้ดีขึ้น "ภูมิธรรม" ลั่นแบงก์ชาติไม่ใช่องค์กรอยู่เหนือการเมืองที่แตะไม่ได้ หัวหน้า พท.สะท้อนความเห็นตรงไปตรงมา โวยสื่อบางสำนักมีอคติ ใส่สีตีไข่ "ศิริกัญญา" สอนมวยการโบ้ยความผิด ธปท.ผิดฝาผิดตัว ชี้ รบ.ต้องใช้นโยบายการคลังอยู่แล้ว เตือนคำพูดสั้นๆ ทำให้ต่างชาติหวั่นไหว จับตาแก้พรบ.ธปท.ถือเป็นเรื่องใหญ่ ปชป.ชวนพท.อ่านบทความ IMF จะได้ไม่เขลาเรื่องความเป็นอิสระแบงก์ชาติ "เทพไท" ให้คะแนน พท.แค่ 3 เต็ม 10
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พูดบนเวที “งาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นเศรษฐกิจว่า ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นรายจ่ายที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นที่ น.ส.แพทองธารพูด เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า ซึ่งส่วนตัวเข้าใจในความอิสระของแบงก์ชาติ และมั่นใจว่าทำงานร่วมกันและให้เกียรติมาโดยตลอด เมื่อมีข้อเรียกร้องจึงได้เรียกร้อง เมื่อต้องพูดคุยก็พูดคุยกับเรื่องดอกเบี้ยที่เห็นว่าควรต้องปรับลดลง แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็มีเหตุผลที่จะไม่ปรับลด จากนี้รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าพูดคุยกับ 4 ธนาคารใหญ่เพื่อให้ลดดอกเบี้ยลง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการทำงานยึดโยงกับประชาชน จากที่ลงพื้นที่รับฟังมาโดยตลอด ซึ่งในการลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ดก็จะรับฟังปัญหานี้ต่อไป
"ความเป็นอิสระก็เรื่องหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าการมาอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สถาบันการเงิน นักการเมือง เรามาอยู่เพื่อประชาชน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาข้อแตกต่างกันไป ทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์กันได้"
เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีความกังวลกับทุกเรื่อง รวมถึงผลกระทบจากความคิดเห็นที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้ง จึงพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนที่สามารถทำได้ เหมือนคำแนะนำที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุว่าการประสานระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลควรดำเนินการผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันต่อไป เพราะมีความเห็นแตกต่างกันชัดเจนเรื่องดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยแค่ 1 สลึงหรือ 50 สตางค์ก็มีส่วนช่วย ซึ่งวันนี้จะไปรับฟังปัญหาเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน ดังนั้นวิธีการสื่อสารอาจแตกต่างกันไป แต่ยืนยันว่ารัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังคนใหม่ ว่าจะสามารถประสานพูดคุยกับแบงก์ชาติได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น เพราะหากขัดแย้งกันแล้วประชาชนเดือดร้อนก็จะไม่ดี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน แต่ก็มีวิธีอื่นที่สามารถประสานพูดคุยกันได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมองว่าเวทีของพรรคเพื่อไทยเป็นการบีบแบงก์ชาติให้เห็นด้วยกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่เคยบีบใคร เป็นแค่การสะท้อนความต้องการของประชาชน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แบงก์ชาติ ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ประชาชนจะกล่าวถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ หรือแตะต้องไม่ได้ เจตจำนงพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้สื่อสารกับสังคมถึงกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของพรรคที่ผ่านมา คือการแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงก์ชาติยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงก์และประชาชนทั่วๆ ไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส การตัดสินใจของแบงก์ชาติก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล
นายภูมิธรรมระบุว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงก์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความเห็นดังกล่าวมีนัยที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่ จึงเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ การแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น
ธปท.ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง
"ความเป็นจริง แบงก์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงก์ชาติคือกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้
แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองและชีวิตของประชาชน การที่ประชาชนทั่วไปหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงแบงก์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงก์ชาติ ก็ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตนบวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง ผมเฝ้ามองคนข่าวหรือสำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิมแล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติและขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว"
นายภูมิธรรมยืนยันว่า กรณีแบงก์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้และปัญญาที่รอบด้านมากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า การพูดในครั้งนี้ คงไม่ได้สร้างความกดดันมากไปกว่าที่รัฐบาลเคยทำมาอยู่แล้ว เพราะแรงกดดันจากรัฐบาลที่มีไปถึงแบงก์ชาติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดตอนที่ น.ส.แพทองธารพูด ทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.การคลัง ต่างก็พุ่งเป้าไปที่แบงก์ชาติ ที่ดำเนินนโยบายการเงินไม่สอดคล้องกับรัฐบาลอยู่แล้ว แรงกดดันก็คงไม่ได้ต่างจากเดิม อีกทั้งแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลมีน้ำหนักมากกว่า น.ส.แพทองธาร ที่ขณะนี้ยังไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ
"แต่สิ่งที่มีนัยมากๆ ในฐานะหัวหน้าพรรค คือการพูดถึงกฎหมายที่ให้อิสระกับแบงก์ชาติ และยังระบุอีกว่ากฎหมายที่ให้อิสระมากเกินไป เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายของรัฐ ทางฝั่งนิติบัญญัติก็ต้องเก็งข้อสอบแล้วว่า ขณะนี้จะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จากทาง สส. พรรค พท.หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะครั้งล่าสุดที่มีการแก้ไขคือปี 2550 ที่แก้ไขให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระมากขึ้นด้วย ซ้ำเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าจับตา ที่ไม่ใช่แค่จากประชาชน แต่รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ที่จะมองเข้ามาว่า แบงก์ชาติจะคงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่"
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า วิธีการที่จะกดดันแบงก์ชาตินั้นมีหลายวิธี ที่ไม่ต้องสื่อสารต่อสาธารณะก็สามารถทำได้ หรือถ้าต้องการให้เป็นทางการที่สุด คือการให้มีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ ให้มีกรอบที่แคบลง และพยายามกำชับให้แบงก์ชาติปฏิบัติตามกรอบอย่างเคร่งครัดมากขึ้น แต่การออกมาพูดเพียงแค่สั้นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสปีช ก็ค่อนข้างจะส่งผลกระทบต่อวงกว้าง อย่างที่เราเห็นว่า สื่อต่างชาติเริ่มนำเสนอข่าวเรื่องนี้แล้ว
โบ้ยความผิด ธปท.ผิดฝาผิดตัว
เมื่อถามว่า การพาดพิงตำหนิออกสื่อจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การทำงานของแบงก์ชาติเป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ทั้งในฐานะประชาชนและทางฝั่งการเมือง แต่การให้เหตุผลต่อแบงก์ชาติที่สั้นเกินไปคนก็อาจจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ยกตัวอย่างการโบ้ยความผิดว่าการพัฒนเศรษฐกิจของรัฐบาลดำเนินได้ไม่ค่อยดี เพราะแบงก์ชาติมีอิสระมากเกินไป การให้ข้อมูลแบบนี้ก็อาจจะมีปัญหาได้
"เป้าหมายของแบงก์ชาติหรือธนาคารกลางทั่วโลก กับเป้าหมายของรัฐบาล ไม่มีวันเหมือนกันอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลก็มุ่งหวังให้เศรษฐกิจในระยะสั้น เติบโตไปในทิศทางที่ดีและเร็ว แต่สำหรับแบงก์ชาติเขามองในระยะยาวกว่านั้น ดังนั้นแบงก์ชาติไม่ได้สนใจว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตเท่าไหร่ อย่างไร แต่จะให้ความสำคัญกับความมั่นคง และเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะกลาง เป็นต้น ดังนั้น คุณจะทำให้นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารกลางก็มีด้วยเหตุผลว่า ป้องกันไม่ให้แบงก์ชาติถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้นของรัฐบาล ดังนั้นจะมองว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ เป็นอุปสรรคที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุล ก็เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากคุณต้องการกระตุ้นในระยะสั้น คุณต้องใช้นโยบายการคลังอยู่แล้ว" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊กว่า บทความจาก #IMF เรื่องความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง #เพื่อไทย ควรหาโอกาสอ่าน จะได้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการบริหารประเทศ ปลอดอคติจากความเขลาต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเสียที
บางส่วนที่น่าสนใจของบทความ 1.ผลสำรวจของ IMF ยืนยันความสำคัญ "ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ" 2.ธนาคารกลางที่มีคะแนนความเป็นอิสระสูง ทำได้ดีในการควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ 3.ความเป็นอิสระยังส่งผลต่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 4. รัฐบาลและธนาคารกลางต่างมีหน้าที่และบทบาทที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ซึ่งต้องหารือกัน ไม่ใช่แทรกแซงกัน เพื่อให้เกิดการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานที่สำคัญลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการการทำงานที่เป็นเอกภาพของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเพื่อให้เกิดส่วนผสมของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (Fiscal and Monetary Policy Mixed) อันสมดุลเพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์และผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง ยุโรปและเมียนมา เพื่อบรรเทาและแก้ไขความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประชาชนและเอสเอ็มอีที่ยังไม่พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด การมีส่วนผสมของนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น โดยจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังไปพร้อมกันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพและมีการใช้อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ
รัฐบาล-ธปท.ควรร่วมมือกัน
"หากแบงก์ชาติใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น ภาระต่อมาตรการทางการคลังจะลดลง และนำมาสู่การก่อหนี้สาธารณะลดลงได้ หากแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยเนื่องจากต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือกังวลว่าจะเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะตกเป็นภาระต่อกระทรวงการคลังและมาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้น การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจดีขึ้น การก่อหนี้เกินตัว ลงทุนเกินตัว บริโภคเกินตัวจะลดน้อยลง ไม่มีปัญหาหนี้เสีย NPLs ในอนาคต"
ดร.อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยควรร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการเงินแบบดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทย จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลสนับสนุน การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลรวมทั้งแบงก์ชาติจึงมีความสำคัญ
นายนรุตม์ชัย บุนนาค รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศการทำงานตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่ได้เข้ามาเพื่อตำแหน่ง แต่มาเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และชีวิตของพี่น้องประชาชนว่า ขอสื่อสารไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าไม่มีรัฐบาลตระบัดสัตย์ 10 เดือนคนไทยจะได้อะไรบ้าง 1.เด็กจะไม่ถูกปลูกฝังค่านิยม ว่าการโกหก หรือการตระบัดสัตย์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมไทย 2.คนไทยได้ธรรมนูญใหม่ ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ 3.คนที่ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ยังผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษ ไม่ถือเป็นผู้เสพ 4.ประเทศไทยจะไม่มีกัญชาเสรี จะได้กัญชาเพื่อการแพทย์ 5.เศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่านี้เพราะได้ใช้งบประมาณปี 67 ตั้งแต่เดือนตุลาปีที่แล้ว ไม่ถูกกั๊กไว้ทำ Digital Wallet
6.คนไทยทั้งประเทศ ไม่ต้องเป็นหนี้ เงินกู้ 500,000 ล้าน เพื่อมาแจกดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องใช้หนี้ชั่วลูกชั่วหลาน โดยผลได้ทางเศรษฐกิจไม่คุ้ม และใครกันแน่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 7.สถาบันหลักของชาติ ที่ทุกคนเคารพเทิดทูน จะไม่ถูกแอบอ้าง ทำให้เสียหายเช่นทุกวันนี้ 8.คนไทยจะได้นายกฯ และรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมากับมือ ไม่ใช่นายกฯ ที่มาจาก สว. 9.กระบวนการยุติธรรมไทย จะไม่ถูกทำลายจนย่อยยับ เพียงเพื่อต้องการ ช่วยให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้สิทธิพิเศษแบบเทวดา และ 10.ประชาชนจะได้รับการดูแลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน จะไม่ได้รัฐบาลที่อุ้มแต่พรรคพวกตนเอง ให้มาสูบเลือดจากคนจน
"หลายเรื่องรัฐบาล ที่รัฐบาลตระบัดสัตย์ แล้วกล่าวอ้างว่าจะเข้ามาทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนนั้น กลับไม่ตรงกับที่ประกาศไว้ และให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชน ขณะที่หลายนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา กลับไม่ปฏิบัติตาม 10 เดือนที่ผ่านมา จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมเตือนสติรัฐบาล เพื่อสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินต้องรับฟังเสียงพี่น้องประชาชน รับฟังความต้องการ และรับผิดชอบต่อคำพูดคำสัญญาที่ให้ไว้ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แตกต่าง แม้จะไม่ถูกใจรัฐบาล แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ผู้มีอำนาจจำเป็นต้องรับฟัง" นายนรุตม์ชัยกล่าว
ให้คะแนนรัฐบาล 3 เต็ม 10
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง” ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ได้ 3 เต็ม 10 การที่พรรคเพื่อไทยจัดอีเวนต์ “10เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะได้คะแนนเต็ม 10 จะต้องทำงานหนัก และผลักดันนโยบายให้เป็นจริงในทางปฏิบัติให้มากกว่านี้ ตอนนี้ถ้าคะแนนเต็ม 10 ผลงานรัฐบาลชุดนี้ได้เพียง 3 คะแนนเท่านั้น เพราะรัฐบาลได้บริหารประเทศล้มเหลวในทุกๆ ด้าน เช่น
1.ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังไม่สามารถผลักดันโครงการที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเลย นโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ต ยังผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีอนาคต ปัญหาปากท้องของประชาชน ข้าวของมีราคาแพงขึ้นทุกวัน ราคาไข่เพิ่มขึ้น 3 ครั้ง พริกมะนาวปรับขึ้นราคา อาหารประจำวันข้าวแกงปรับตัวแพง แชร์กันกระหึ่มโลกโซเชียล รวมถึงค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นทุกวัน สวนทางกับนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย
2.ปัญหาด้านสังคม มีปัญหาสังคมเกิดขึ้นรายวัน ปัญหายาเสพติดนับวันจะเพิ่มขึ้น รัฐบาลพยายามโชว์ตัวเลขการจับยาเสพติดได้มาก แต่ในขณะเดียวกันผู้ค้า ผู้เสพก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีปัญหาคนหลอนยา ผู้ป่วยจิตเวช ก่ออาชญากรรมฆ่าคนในครอบครัวไม่เว้นแต่ละวัน ปัญหาหนี้นอกระบบ รัฐบาลประกาศขึ้นทะเบียน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้
3.ปัญหาด้านการเมือง รัฐบาลล้มเหลวในเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านประกาศว่า จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เสร็จภายในหนึ่งปี จนถึงบัดนี้จะครบหนึ่งปีแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นเลย และการแก้รัฐธรรมนูญยังมีเงื่อนไข ยกเว้นห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทย เคยประกาศสนับสนุนแก้ปัญหาผู้กระทำผิดกฎหมายมาตรา 112 อ้างว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการรังแกประชาชน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล กลับออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ครอบคลุมผู้กระทำผิดมาตรา 112
4.ปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ นับตั้งแต่คุณเศรษฐา ลงพื้นที่พักค้างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้ลงทุนและนักท่องเที่ยว นับจากนั้นเป็นต้นมา ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นรายวัน มีการวางระเบิดสังหาร การลอบยิงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง การวางระเบิดโรงไฟฟ้าชีวมวล การเผาปั๊มน้ำมัน ฯลฯ
5.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของประเทศ จนถึงวันนี้ตัวเลขของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังติดอันดับโลกอยู่ทุกวัน ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ปัญหาการจัดเก็บสารพิษ และไฟไหม้โรงงาน โกดัง ก็ยังลุกลามไม่จบสิ้น
ยังมีปัญหาอื่นๆ ปลีกย่อยอีกมากมาย ที่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงทำให้การประเมินคะแนนจากเต็ม 10 คงจะได้เพียง 3 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนจากผลงานเหล่านี้คือ 1.ความตั้งใจ ความขยันในการทำงานของคุณเศรษฐา แบบถึงลูกถึงคน เหมือนกับเป็นซีอีโอของบริษัทเอกชน 2.ราคาสินค้าเกษตรยางพาราปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณยางในตลาด และกลไกของตลาดโลกก็ตาม 3.การนำคุณทักษิณกลับสู่ประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย หรือการชุมนุมเกิดขึ้น แม้รัฐบาลเลือกปฏิบัติต่อคุณทักษิณแบบนักโทษเทวดาก็ตาม
"ผมขอประเมินผลงานรัฐบาลในปีแรก ได้ 3 เต็ม 10 เท่านั้น ส่วนจะได้ 10 เต็ม 10 ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งความหวังไว้ ก็คงจะเป็นไปได้ยากมาก เมื่อครบ 4 ปีแล้ว ถ้าทำคะแนนได้ 5 เต็ม 10 ก็ถือว่าเก่งที่สุดแล้ว" นายเทพไทระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้