“นิด้าโพล” เผยคนเกินครึ่งหนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะจบได้ในรัฐบาลนี้ ที่สำคัญมองว่าไม่ช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้น “ธนกร” ตีปี๊บเชื่อทำประชามติจริงไม่หนีจากโพล “วิสุทธิ์” ชงเปิดวิสามัญ 5-7 มิ.ย. ถกแค่งบประมาณไม่พูดเรื่องประชามติ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ได้จัดเวทีเพื่อไทยพบประชาชน มีแกนนำพรรคและ สส.ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาร่วมงานอย่างคึกคัก โดยในเวทีดังกล่าวยังมีการปราศรัยให้ประชาชนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามที่พรรคได้หาเสียงไว้กับประชาชน
ขณะที่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญ…เอาไงดี?” โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,310 ตัวอย่าง
โดยเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ พบว่า ตัวอย่าง 50.07% ระบุว่าเห็นชอบ รองลงมา 29.24% ระบุว่าไม่เห็นชอบ, 12.37% ระบุว่าไม่ไปลงคะแนน และ 8.32% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสำเร็จภายในระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ สส.ชุดปัจจุบัน พบว่า 46.03% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย รองลงมา 31.37% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น, 12.67% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น, 6.80% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก และ 3.13% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น พบว่า 37.95% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 26.03% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น, 19.31% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น, 15.11% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก และ 1.60% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่องการแก้ไขและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ พบว่าส่วนใหญ่ 50.07% เห็นชอบ รองลงมา 29.24% ไม่เห็นชอบ ว่า มองว่าแม้เป็นกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ใช่เสียงจากทั้งประเทศก็ตาม แต่เชื่อว่าถือเป็นแนวทางในภาพรวมที่นำมาเทียบเคียงกันได้ และมั่นใจว่าเมื่อถึงการออกเสียงทำประชามติของประชาชนทั้งประเทศ คาดว่าผลก็จะอยู่ในแนวทางนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มองว่าหมวด 1 เกี่ยวกับอธิปไตยการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีการแก้ไข
ส่วนคำถามที่ถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้นนั้น พบว่า 37.95% ไม่เชื่อมั่นเลย, 26.03% ไม่ค่อยเชื่อมั่น, 19.31% ค่อนข้างเชื่อมั่น, 15.11% เชื่อมั่นมากนั้น นายธนกรระบุว่า เสียงและคำตอบของประชาชนถือว่ามีความสำคัญมากต่อนักการเมือง ต่อสภาผู้แทนราษฎร และต่อรัฐบาล ที่ต้องนำมาเป็นโจทย์ให้ตัวเอง พรรคการเมือง ว่าได้ทำหน้าที่ทั้งในสภาและการดูแลรับฟังปัญหาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดีที่สุดแล้วหรือไม่
“การแก้รัฐธรรมนูญเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศเดินไปข้างหน้า แต่สิ่งสำคัญคือตัวนักการเมือง พรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรัฐบาล ที่จะทำงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ไม่ทุจริตคดโกง ไม่อิงผลประโยชน์ทางการเมือง หากมีการทำงานที่สร้างสรรค์ ไม่สร้างความแตกแยกวนซ้ำอีก ทำให้ประเทศเข้มแข็ง พัฒนาไปข้างหน้า จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ในระยะยาวได้” นายธนกรกล่าว
ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญว่า เบื้องต้นจะเป็นวันที่ 5-7 มิ.ย. โดยมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระแรก ซึ่งเป็นไปตามปฏิทินของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ เนื่องจากงบประมาณในปี 2567 มีความล่าช้า และเป็นงบประมาณจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เราจึงทำได้แค่นำมาตัดปรับลดลง แต่งบประมาณในปีนี้เป็นของรัฐบาลที่เราเป็นแกนนำ จึงเป็นงบประมาณที่ถูกเป้าหมาย ถูกจุด และความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น รวมถึงจะเป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อประชาชนจริงๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประสานมายังสภาบ้างแล้วหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ที่คุยเบื้องต้นได้มีการประสานกับนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง เพื่อจะประชุมร่วมกับวิปสามฝ่าย เพื่อจัดสรรเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายภายในสัปดาห์นี้ ส่วนวันและเวลายังไม่ได้กำหนด แต่เราก็ได้พยายามบอกกับฝ่ายค้านว่าต้องพูดคุยกันแล้ว เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้เตรียมข้อมูลให้เต็มที่ตามเวลาที่ถูกจัดสรร โดยในส่วนของรัฐบาลเราก็จะได้ให้ สส.ไปเตรียมตัวศึกษาและเน้นย้ำว่าควรอภิปรายสนับสนุนในส่วนไหนบ้าง
เมื่อถามว่า หากมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย จะมีการพูดคุยถึงการถกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญด้วยหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้เรายังไม่พูดถึงประเด็นนั้น เบื้องต้นเราจะพูดเฉพาะเรื่องงบประมาณก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้
นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้