‘พท.’รับเดิน2ขาแก้รธน. ก.ก.ขีด1ด.รื้อประชามติ

เพื่อไทย” ประกาศยุทธศาสตร์เดิน 2 ขา ฝ่าด่านรัฐธรรมนูญ อ้างค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าคว้าน้ำเหลว “ชัยธวัช” ไล่บี้แก้ กม.ประชามติภายใน 1 เดือน เตือนสื่อสารไม่ชัดถูกครหายื้อเวลา “ธนกร” หนุนนิรโทษกรรม แต่แยกคดี ม.112

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในงาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 ของ พท.  เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และความคืบหน้าในนโยบายต่างๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคตว่า 7 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาทางการเมืองมากที่สุดฉบับหนึ่ง เป็นผลพวงของการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีที่มาไม่ชอบตามหลักการประชาธิปไตย พี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องการความเปลี่ยนแปลง เรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญเร่งด่วน ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 4 ปีนี้

น.ส.ขัตติยากล่าวว่า ที่ผ่านมา พท. เป็นฝ่ายค้าน เคยชูธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่แม้จะถูกปัดตกไปถึง 3 ครั้ง แต่ พท.ไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจ จากบทเรียนที่ผ่านมา   พบว่าการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ใช่ภารกิจที่จะทำสำเร็จได้โดยง่าย รัฐบาลเพื่อไทย ต้องเลือกก้าวเดินอย่างมียุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า เดินสองขา ฝ่าด่านยกร่างรัฐธรรมนูญ ขาหนึ่ง ฝ่ายบริหารที่นำโดยนายกฯ ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้น  อีกขาหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้เดินหน้ายื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาไปพร้อมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

น.ส.ขัตติยาระบุว่า ในการแก้ไข  พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อทลายข้อจำกัดใน 3 เรื่อง คือ 1.เปิดให้มีการทำประชามติ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติลง 2.เปิดให้มีการลงคะแนนประชามติผ่านช่องทางไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นๆ ได้ เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการลงคะแนน และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.ปรับแก้เงื่อนไขของการผ่านประชามติ ที่ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า double majority ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ขัดกับหลักสากล ให้เหลือเพียงการใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียวเท่านั้น

"บางครั้งการค่อยๆ คว้าชัยชนะทีละเล็ก ย่อมดีกว่าการรีบเร่งวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยอย่างไม่ระมัดระวังจนสะดุดล้ม รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องดีทั้งในแง่ของที่มา ต้องเปิดการมีส่วนร่วมประชาชน เราจะสนับสนุนการทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรม และสนับสนุน ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน” น.ส.ขัตติยากล่าว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งส่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติ (แก้ไขเพิ่มเติม) ต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่มีมติชัดเจนว่าจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน เริ่มทำประชามติถามประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งตนมองว่าควรเร่งทำให้เร็วที่สุด ภายในเวลา 1 เดือน และในช่วงเดือน มิ.ย. ที่สภาจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ควรเริ่มพิจารณาได้ เพราะขณะนี้มีร่างแก้ไขที่บรรจุในวาระแล้วคือฉบับของพรรคก้าวไกลและของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ควรร่วมมือกันทำ ให้ พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไขประกาศใช้เร็วที่สุด

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า ระหว่างที่รอแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ตนมองว่ารัฐบาลมีเวลาที่จะทบทวนคำถามประชามติ ซึ่งฝ่ายค้านได้ท้วงติงไปแล้วว่า คำถามที่รัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นคำถามที่มีปัญหาและไม่ดีในเชิงหลักการของการตั้งคำถามประชามติ โดยการตั้งคำถามที่ดีต้องไม่ซับซ้อน หรือเป็นคำถามซ้อนคำถาม และคำถามที่ดีที่สุด คือ ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 “ควรเอาความเห็นต่างในรายละเอียดออกไป ขณะที่ความเห็นต่างนั้น รัฐบาลสามารถใส่ไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เตรียมเสนอต่อรัฐสภาได้ หากประชามติผ่านแล้ว ดังนั้นในชั้นประชามติไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดที่คนเห็นต่างกัน หากอยากให้ประชามติผ่านหรือเป็นเอกภาพที่สุด” นายชัยธวัช ระบุ

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน นายชัยธวัชกล่าวว่า เป็นปัญหาของรัฐบาลที่สื่อสารไม่ชัดเจน  เพราะในวันที่ ครม.มีมติต่อการทำประชามติเมื่อ 23 เม.ย. ในเอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลไม่ชัดเจนว่ามีมติอย่างไร จนล่าสุดมีมติว่าต้องแก้พ.ร.บ.ประชามติก่อนทำประชามติครั้งที่ 1 ดังนั้นการทำประชามติรอบแรกในเดือน ส.ค.จะไม่เกิดขึ้น เพราะต้องรอแก้ พ.ร.บ.ประชามติก่อน

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวถือว่าจงใจยื้อเวลาหรือไม่ นายชัยธวัชย้ำว่า ตนมองว่ารัฐบาลต้องสื่อสารตรงไปตรงมา และชัดเจนกับประชาชน ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่ายื้อเวลา กลับไปกลับมา

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมติที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่มติเห็นชอบ แยกเรื่องคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างที่ตนเคยย้ำหลายครั้งว่า ตามรัฐธรรมนูญมีกฎหมายปกป้องพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถือเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ ทุกคนต่างทราบดีว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง จึงเป็นเหตุไม่สมควรที่จะเหมารวม และได้รับการยกโทษและนิรโทษกรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง