ไฟเขียว‘ธนาธร’ชวนสมัครสว.

"เลขาฯ กกต." ไฟเขียว   "ธนาธร" ชวนคนลงสมัคร สว.ได้ ยันมีมาตรการป้องกันฮั้วทุกพื้นที่ “นิกร” เผยประชามติยึดร่าง ครม. ปลดล็อก 2 ชั้น    เสียงข้างมาก 3 พ.ค.เปิดรับฟังความเห็นปชช. รับกาบัตรต้องเลื่อนอย่างน้อย 5  เดือน "กมธ.นิรโทษฯ” ชงล้างคดีมีเหตุจูงใจทางการเมือง พ่วงคดีไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน พร้อมแยกพิจารณาคดี 112 

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2  พฤษภาคม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการทักท้วงรูปแบบการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กกต.จะนำไปปรับปรุงหรือไม่ว่า รูปแบบของการเลือกตั้งคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ กกต.เป็นคนกำหนด สิ่งที่ กกต.ทำได้คือเรื่องการแนะนำตัวระเบียบ สำหรับกรณีที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก  หรือรูปแบบการเลือกเป็นไปตามกฎหมาย    กกต.แก้อะไรไม่ได้แน่นอน ส่วนการแนะนำตัวมาจากกฎหมาย กกต.ไม่ได้ทำเกินกฎหมาย กฎหมายบอกว่าให้แนะนำตัวกับผู้มีสิทธิเลือก ซึ่งคือผู้สมัครด้วยกันเอง ระเบียบจึงออกมาแบบนี้

อย่างไรก็ตาม กกต.ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน เพราะสุดท้าย สว. ถึงจะไม่ได้เลือกโดยตรงจากประชาชน แต่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ดังนั้นประชาชนมีสิทธิติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ ตั้งแต่หลังปิดรับสมัคร เนื่องจากระหว่างการสมัครไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เพราะจะมีส่วนได้เสียระหว่างกลุ่มต่างๆ โดย กกต.จะนำชื่อของผู้สมัคร สว.ทุกคนลงในแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต  และนำไปไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ซึ่งประชาชนจะทราบทั้งรายชื่อ ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัคร สว.ทุกคน และผู้สมัคร สว. จะสามารถติดต่อกันได้ในช่องทางต่างๆ ที่อยู่ในแบบ สว.3 เพื่อให้เขาได้แนะนำตัวเอง

นายแสวงกล่าวถึงจำนวนผู้สมัครว่า  ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ในชั้นระดับจังหวัดจะเหลือ 55,000 คน มีข้อมูลทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ในระดับประเทศ ประชาชนก็สามารถติดตามได้ตลอด และในวันคัดเลือกเราจะถ่ายทอดกล้องวงจรปิดจากทุกที่ ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเข้าไปนั่งรอลงคะแนน เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้สังเกตการณ์ภายในได้ตลอด ทั้งระดับอำเภอ ทั้ง 928 อำเภอ ชั้นระดับจังหวัด 77 จังหวัด และในระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่เมืองทองธานีอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งด้วยระบบนี้คิดว่าเพียงพอที่จะทำให้ทั้งประชาชนและผู้สมัครมีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้

สำหรับกรณีที่ขณะนี้มีผู้สมัครบางคนออกมาประกาศตัวลงสมัครนั้น นายแสวง กล่าวว่า ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวนสามารถทำได้ กกต.เองก็เชิญชวน เพียงแต่ขอให้เป็นคนที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และเป็นผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มที่จะลงสมัคร ดังนั้นไม่ได้มีข้อห้ามอะไรในการทำแบบนี้

กกต.ไฟเขียว 'ธนาธร'

เมื่อถามถึงกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายแสวงกล่าวว่า ได้ตอบไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ นาย ก. นาย ข. จะทำแบบนี้ก็ทำได้

ส่วนที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวันประกาศและไทม์ไลน์นั้น เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า เรื่องเวลาของ สว. ไม่ได้เหมือนเวลาของ สส. ที่จะต้องมีการกำหนดว่าจะต้องเลือกตั้งภายในกี่วัน แต่ สว.จะนับหนึ่งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา และจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ รวมแล้วไม่เกิน 60 วัน

เมื่อถามถึงข้อปฏิบัติของสื่อมวลชน ในส่วนการสัมภาษณ์และแนะนำตัวผู้สมัครก่อนหน้านี้ จะต้องมีการลบหรือซ่อนเนื้อหาหรือไม่ นายแสวงระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย เราดูทั้งสื่อ ทั้งพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ที่คิดว่าจะสมัคร จากการรวบรวมยังไม่มีอะไรที่เป็นการหมิ่นเหม่หรือล่อแหลมที่จะผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ระเบียบการแนะนำตัวออกมาใช้กับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้กับสื่อ สื่อจึงรายงานเสนอวิเคราะห์ให้ความเห็น จัดเวที หรืออะไรได้หมด แต่ให้พึงระวังในกฎหมายอื่นที่อาจจะไปหมิ่นประมาทผู้สมัคร หากเป็นข้อเท็จจริงนำเสนอได้ ไม่มีข้อห้าม

เมื่อถามว่า กกต.มีกลไกในการป้องกันการทุจริตหรือการฮั้วไว้อย่างไรบ้าง นายแสวงกล่าวว่า ด้วยตัวระบบ กฎหมายออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว เรามีมาตรการในทุกพื้นที่

ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

โดยนายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า ได้เชิญนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย,   นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะทั้งคู่เป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขกฎหมายประชามติในส่วนของสภา จึงต้องการรับฟังความคิดเห็น โดยผลการหารือให้นำจุดแข็งของแต่ละร่างมารวมกันเพื่อให้ได้กฎหมายประชามติที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ทำประชามติได้ทุกเรื่อง ซึ่งจะเสนอในนามของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีสาระสำคัญ อาทิ การออกเสียงประชามติสามารถนำไปรวมกับการเลือกตั้งอื่นได้เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาของประชาชนที่ต้องมาออกเสียงสามารถออกบัตรเลือกตั้งอื่นได้ เช่น การลงคะแนนผ่านไปรษณีย์และการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน และประเด็นสำคัญให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนของเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

ทั้งนี้ วันที่ 3 พ.ค. คาดว่าร่างดังกล่าวจะสามารถเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนได้ผ่านเว็บไซต์ สปน. ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วจะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบได้ต่อไป จะเสนอร่างดังกล่าวได้ทันการเปิดสภาสมัยวิสามัญ หลังการพิจารณาร่างงบประมาณปี 68 เมื่อสภาเปิดสมัยสามัญ เดือน ก.ค. ก็จะได้พิจารณาวาระต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้ามาแล้ว

เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะได้ลงประชามติเดือนไหน หลังจากที่เคยระบุปลายเดือน ก.ค.ต้นเดือน ส.ค. ประชาชนจะได้ออกเสียง นายนิกรกล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าจะทำได้ภายใน 5 เดือนหลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ และอยากให้การทำประชามติครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดช่วงต้นเดือน ก.พ.68 และขอยืนยันการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำเสร็จในกรอบเวลา 4 ปีของรัฐบาลนี้

นิรโทษฯ คดีการเมืองตั้งแต่ปี 48

ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม  กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือในคณะอนุ กมธ. เพื่อจำแนกคดีที่มีฐานความผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมืองว่า ในแง่ของระยะเวลา ได้พิจารณาโดยยึดแนวทางของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติ ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธาน คือวันที่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี แบ่งออกเป็นอีก 4 ช่วงเวลา ดังนี้ 1.ตั้งแต่ปี 2548-2551 2.ตั้งแต่ปี 2552-2555 3.ตั้งแต่ปี 2556-2562 และ 4.ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งใน 4 ช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง),  การชุมนุมของกลุ่ม นปช. (เสื้อแดง), การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทางการเมืองย่อยๆ รวมถึงชุมนุมในโลกออนไลน์

นายยุทธพรกล่าวว่า การพิจารณาได้ยึดเกณฑ์ใหญ่ที่สุด คือ 1.ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองชัดเจน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เชื่อมโยงคดีอาญา คดีในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือคดีในการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงบางช่วงเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 2.ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน เช่น พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับการชุมนุม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม ทั้งนี้ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วันที่ 2 พ.ค.

หลังจากนี้จะมีการประชุมคณะอนุกมธ.ในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้ตามความคิดเห็นของ กมธ.ชุดใหญ่ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ทางเลือกที่ 1 ใช้กฎหมายนิรโทษกรรม, ทางเลือกที่ 2 ฐานความผิดบางฐานอาจยังไม่มีข้อสรุป อาจจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมายในการดำเนินการ, ทางเลือกที่ 3 บางฐานความผิดซึ่งดำเนินคดีไปไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ท้ายที่สุดแล้วอาจต้องใช้กฎหมายอื่น เพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งนี้คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ค. จะได้ข้อสรุป เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภา

จากนั้นเวลา 15.50 น. นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่ามีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน จะแยกแยะการกระทำประเภทนี้ว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่จะสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องจะมีขอมติให้ขอนิรโทษกรรมไปเลย เพราะบางคดีเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความผิดพ่วง เป็นต้น นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติขอขยายพิจารณาออกไปอีก 60 วัน โดยจะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาครั้งหน้าในเดือน ก.ค.

นายชูศักดิ์กล่าวถึงคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า จะแยกไปเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกันมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ