‘นิด้าโพล’บอก ไม่เชื่อรื้อกม.กห. สกัดรัฐประหาร

โพลชี้ชัดกฎหมายจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมป้องกันปฏิวัติไม่ได้ เอ็นจีโอหนุนแก้รัฐธรรมนูญ “สมชัย” ปูดคำถามที่รัฐบาลควรทำประชามติ ชี้หากยังยึดรูปแบบเดิมไม่ผ่านแน่

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องหยุดรัฐประหาร! ซึ่งสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม  กับการรัฐประหารในประเทศไทย โดยเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมจะช่วยป้องกันการรัฐประหาร พบว่า  51.83% ไม่เชื่อเลย, 25.73% ไม่ค่อยเชื่อ,  12.52% ค่อนข้างเชื่อ, 6.72% เชื่อมาก และ 3.20% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ  

และเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการทำรัฐประหารในปี  2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย  พบว่า 61.83% ระบุว่าไม่เชื่อเลย,  20.38% ไม่ค่อยเชื่อ, 8.24% ค่อนข้างเชื่อ, 6.11% เชื่อมาก และ 3.44% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภากลาโหม เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปกำกับดูแลกองทัพได้ เพื่อยับยั้งกระแสการรัฐประหาร ซึ่งการแก้ปัญหารัฐประหาร นอกจากการเรียกร้องกองทัพแล้ว รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล อย่าฉ้อฉลจนสร้างเงื่อนไขให้เขาอ้างได้ ประชาชนถึงเป็นพลังหนุนได้

วันเดียวกัน น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธาน ครป. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นการยืนยันว่าประชาชนต้องการอะไร และสามารถทำบ่อยๆ ได้เป็นวิถีประชาธิปไตย แต่ควรใช้ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ใช่ทำแบบเก่าและสิ้นเปลืองงบประมาณ

 “ปัญหาสำคัญคือการไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเหมือนการประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านมา ดังนั้นขอเรียกร้องให้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นก่อนการประชามติ" น.ส.ลัดดาวัลย์กล่าว

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การทำประชามติตามความเห็นศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ 2 ครั้ง แต่มีการแก้วิธีการแก้ตามมาตรา 256 ด้วย จึงมีประชามติ 3 ครั้ง แต่การตั้งคำถามประชามติของรัฐบาลไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ เพราะมีการยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ดังนั้นไม่จำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และการตั้งคำถามประชามติไม่เกี่ยวกับหมวด 15/1 ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งมาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะมีการทำประชามติครั้งที่ 1 ให้เสียเงิน 3,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ผูกพันว่าจะมี ส.ส.ร.หรือไม่ หากจะทำประชามติ 3 ครั้ง ควรตั้งคำถามใหม่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาดำเนินการ" ถึงจะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“คำถามที่รัฐบาลตั้งเป็นการแยกคนไปโหวตออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ไม่ออกมาใช้สิทธิ์, ไม่เห็นชอบ, เห็นชอบให้จัดทำใหม่แต่ไม่เห็นชอบให้ละเว้นหมวด 1-2 และ เห็นชอบตามคำถามประชามติ โดยทั้ง 3 กลุ่มแรกจะไปโหวตไม่เห็นชอบ และอาจทำให้การประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านได้”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า สนับสนุนให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีการเลือก ส.ส.ร.มาร่าง เพราะกระบวนการปัจจุบันนั้นเป็นการออกแบบของปีศาจ อย่าไปเสียเวลากับกระบวนการที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นอุบายและลากเวลายาวออกไป

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า เรียกร้องให้เลือก ส.ส.ร. 100% มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก