ชม‘สมาคมแบงก์’ลดดอกเบี้ย0.25%

"เศรษฐา" ดี๊ด๊าชมเปาะ   "สมาคมแบงก์" เด้งรับนโยบาย ลดดอกเบี้ย 0.25% อุ้มกลุ่มเปราะบาง-ลูกค้าบุคคล-เอสเอ็มอี 6 เดือน "กุนซือนายกฯ" ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายรัฐบาล แถลงแล้วต้องทำ เชื่อไปได้  "อนุทิน" ไม่กังวลแบงก์ชาติทักท้วง ชี้หากไม่ถูกกฎหมาย "กฤษฎีกา-สภาพัฒน์"  ต้องแจ้งมา ยันพรรคร่วมหนุน "อดีตคน  ธ.ก.ส." เคยร่วมแก้กฎหมาย แจงชัดแจกหมื่นไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ทวีตข้อความผ่าน x ระบุว่า ขอขอบคุณสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก  ที่ช่วยลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี  (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

"ขอชื่นชมการลดดอกเบี้ย ที่สะท้อนให้เห็นว่าสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า  โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่หาเช้ากินค่ำ แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ 6 เดือน แต่ช่วยต่อลมหายใจให้สามารถเอากำไรไปต่อยอดได้ ถือเป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและประชาชนโดยรวม ในส่วนของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ทางรัฐบาลจะพยายามหาแนวทาง และมาตรการที่จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดครับ" นายเศรษฐาระบุ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าประชาชนจะเห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ไม่เพียงแต่ฟื้นตัว แต่ต้องทัดเทียมการเติบโตของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

โดยก่อนหน้านี้ นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า   เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอี เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัวปรับตัว

ทั้งนี้ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน  และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว สอดคล้องกับมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธนาคารสมาชิกจะเร่งพิจารณาดำเนินการตามหลักการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมของระบบงาน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของแต่ละธนาคารตามบริบทที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

 “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในตลาดเงินตลาดทุน สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ซึ่งการช่วยเหลือลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการระยาวในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างรายได้ที่พอเพียงและยั่งยืน” นายผยงระบุ

ไม่กังวล ธปท.ท้วงดิจิทัล

วันเดียวกัน นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเห็นแย้งอยู่ ในฐานะนักกฎหมายมองว่าจะผ่านได้หรือไม่ว่า ต้องถามนักกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้ ตนไม่ได้ดูแลโดยตรง หากตอบอะไรไปอาจจะมีคนค้านมา หากพูดสนับสนุนจะบอกว่าพวกเดียวกันถึงอย่างไรก็สนับสนุน แต่ถ้าพูดค้านจะมีคนบอกว่าอยู่ดีๆ ทำไมไปพูดตรงข้ามเช่นนั้น ดังนั้นปล่อยให้คนรับผิดชอบเป็นคนพูด

เมื่อถามว่า ในฐานะที่ปรึกษานายกฯมองว่าเรื่องนี้ต้องเดินต่อหรือไม่ นายชัยเกษมกล่าวว่า อะไรก็แล้วแต่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายต้องพยายามทำให้บรรลุ ไปได้ มีปัญหาอุปสรรคอะไรต้องแก้กันไป ไม่ใช่พูดไปเปล่าๆ แล้วไม่ให้ความสนใจ เราต้องทำเต็มที่ ตนเชื่อว่าน่าจะเดินต่อไปได้และประสบความสำเร็จ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสืออย่างเป็นทางการของผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งในที่ประชุม ครม. พรรคร่วมรัฐบาลต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนรูปแบบวิธีการต้องทำให้ถูกกฎหมาย เพราะหากไม่ถูกกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะต้องแจ้งมา ซึ่งส่วนของกระทรวงการคลังจะต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้กังวลอะไร

เมื่อถามว่า การที่หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปยืนด้านหลังนายกรัฐมนตรีช่วงที่มีการแถลงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อวันที่ 23 เมย.ที่ผ่านมา มีนัยอะไรหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า ใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลต้องไปสนับสนุนนโยบายของนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่ไปยืนเป็นเรื่องแปลก จะปล่อยให้นายกฯ ยืนคนเดียวได้อย่างไร ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้บังคับบัญชา

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า นายเศรษฐาซื้อเวลาเงินหมื่นสุดท้ายทำไม่ได้ แปลกใจหรือไม่ ทำไมวันที่นายเศรษฐาแถลงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จึงมีบทสรุปแค่ ครม.เห็นชอบหลักการของโครงนี้ แต่ยังไม่ใช่อนุมัติโครงการ และนายเศรษฐายังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า  ส่วนข้อห่วงใยใดๆ เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้สั่งการหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆ ให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา

"ทำไมรัฐบาลจะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ ระดับนายกฯ ลงมาแถลงเองเป็นครั้งที่สาม ยังไม่มีความชัดเจน ไม่ปรึกษากฤษฎีกาให้เรียบร้อยก่อนที่จะมาแถลง โดยเฉพาะประเด็นการใช้เงินของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ผมคิดว่านายเศรษฐาคงซื้อเวลา และสุดท้ายโครงการทำไม่ได้ หรืออาจต้องลดขนาด เพราะผมได้คุยกับ 'อดีตคน ธ.ก.ส.' ที่มีส่วนร่วมแก้ไขมาตรา 9 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าไม่สามารถเอาเงิน ธ.ก.ส.ไปแจกได้" นพ.วรงค์ระบุ

โดยท่านผู้นี้ได้เขียนคำอธิบายว่าทำไมทำไม่ได้มาให้ตนช่วยเผยแพร่ ให้ประชาชนเข้าใจขอบวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ธ.ก.ส. มาตรา 9 มี 4 ข้อคือ มาตรา 9 (1) (2) (3) และ (4) ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นนโยบายจากภาครัฐหลายโครงการที่สำคัญๆ คือ 1.โครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส.ดำเนินการภายใต้ขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9 (1) ข้อ (ก) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 2.โครงการประกันรายได้ ธ.ก.ส.ดำเนินการภายใต้ขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9 (1) ข้อ (ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ 3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผู้ปลูกข้าว (จ่ายไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกินคนละ 20 ไร่) ธ.ก.ส. ดำเนินการภายใต้ขอบวัตถุประสงค์มาตรา 9 (1) ข้อ (ง) ดำเนินกิจการตามโครงการที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้

ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส.

ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจ่ายคนละ 10,000 บาท ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 9 (1) ข้อ (ง) ดังนี้ 1.ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรม เพราะโครงการมีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ เกษตรกรผู้รับเงิน 10,000 บาท นำไปใช้จ่ายดำรงชีวิตทั่วไป ไม่ได้นำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างชัดเจน 2.ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้เพราะเกษตรกรผู้รับเงิน 10,000 บาท สามารถนำใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องการประกอบอาชีพ จึงไม่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ 3.ไม่ได้เป็นโครงการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามกฎกระทรวง ท้ายมาตรา 9 ขยายความมาตรา 9 (1) ข้อ (ง) นี้จะต้องเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับการศึกษา, การอบรม, การดูงาน, การรักษาพยาบาล, การปรับปรุงการจัดหาที่อยู่อาศัยเท่านั้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 (3) นั้น เนื่องจากมาตรานี้เป็นมาตราที่มีการเพิ่มเติม เพื่อขยายวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ในปี 2549 โดยสภา เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ขยายบทบาทจากการให้ความช่วยเหลือจากเดิม ได้เฉพาะเกษตรกรตามมาตรา 9 (1) ให้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการบริหารจัดการไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด

ดังนั้น การพิจารณาการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแก่เกษตรกรว่าอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.หรือไม่นั้น จึงให้พิจารณาขอบวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. ในมาตรา 9 (1) ที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

ส่วนมาตรา 9 (3) เป็นวัตถุประสงค์สำหรับกลุ่มอื่น มีการระบุเจตนารมณ์การเพิ่มเติมมาตรานี้ไว้อย่างชัดเจน ในเอกสารประกอบการขอแก้ไข พ.ร.บ. ธ.ก.ส. ปี 2549 เอกสารการบันทึกการอภิปรายในสภา รวมทั้งได้มีการออกกฎกระทรวง ปี 2550 มารองรับอย่างชัดเจนเพื่อให้เป็นไปเจตนารมณ์ของสภาว่าการให้กู้กับกลุ่มอื่นตามมาตรานี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดเงินกู้ที่จ่ายทั้งหมดในรอบปีบัญชี (ต้องเป็นเงินกู้ไม่ใช่แจกเงิน)

"การพิจารณาการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแก่เกษตรกรว่าอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.หรือไม่นั้น ให้พิจารณาขอบวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. ในมาตรา 9 (1) ที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งโครงการนี้ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ข้อนี้ รวมทั้งข้ออื่นๆ ในมาตรา 9 ตลอดจนไม่อยู่ในอำนาจให้กระทำได้ตามมาตรา 10" นพ.วรงค์ระบุ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้ประเด็นต่างๆ ชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา โดยจะฟันธงไปเลยว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อให้การทำงานของสำนักงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ธปท. ออกเอกสารแนะนำให้นำเงิน 5 แสนล้านบาทไปทำโครงการที่ดีกว่าแจกกระตุ้นเศรษฐกิจแบบตำน้ำพริกละลายน้ำ ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกนั้น ต้องแบกหนี้ดอกเบี้ยกันมากถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นเอกสาร 5 หน้าของ ธปท. แนะนำโครงการการใช้เงินกู้ จึงน่าสนใจกว่าการกู้เงินมาแจก โดยหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจที่สัมผัสได้ยากยิ่ง เมื่อ ธปท.ทำเอกสารแนะนำเชิงไม่เห็นด้วยกับดิจิทัล และยังสอดคล้องกับเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย อีกอย่างเชื่อว่าโครงการนี้จบได้ยาก เพราะไม่มีความพร้อมในการทำโครงการ เพียงแต่มาแถลงข่าวทำโชว์ แต่ไม่มีขั้นตอนปฏิบัติเลย ถ้าแน่จริงรีบลงมือทำ อย่าเอาแต่โชว์ไปวันๆ เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง