รัฐบาลไม่ฟัง‘ธปท.’ ดึงดันดิจิทัล‘เศรษฐพุฒิ’ห่วง4เรื่องใหญ่ทำประเทศเสี่ยง

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติทำหนังสือถึง ครม. เตือนเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวั่นก่อหนี้จำนวนมาก เกิดภาระทางการคลังในระยะยาว เสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ แนะทำเฉพาะกลุ่ม ทวนความจำรัฐบาลมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.ถึง 8 แสนล้านบาท ให้ระวังทุจริตเพราะมีความซับซ้อน "เผ่าภูมิ" เผยเพื่อความสบายใจจะส่งให้กฤษฎีกาตีความอำนาจ ธ.ก.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ   สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23  เม.ย.2567 มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคตดังนี้

1.ความจำเป็น โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ควรดูแลครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน ซึ่งดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณเพียง 150,000 ล้านบาท และควรทำแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง โดยความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553-2565 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี

โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s  ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 มองว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้มีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2568 หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ มากกว่า 100,000 ล้านบาท  อาจกระทบการจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้งบเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) สร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง โครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) สนับสนุนได้นานถึง 6 ปี   โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 10 สาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย)  พัฒนาได้กว่า 2 สาย

ให้ตรงวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. 

2.แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 500,000 ล้านบาท นำมาจากงบประมาณรายจ่าย และกู้เงินจาก ธ.ก.ส.  โดยรัฐบาล รับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา   และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. 

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา   ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลความเสี่ยง และฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท

3.ผู้พัฒนาระบบสำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นับว่ามีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท.จึงห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ จึงควรใช้ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งเป็นระบบเปิด (Open-loop) ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหลากหลาย ควรกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ให้ติดขัดหรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ

4.การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ  อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก  เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทสินค้าต้องห้าม

ไม่ขัดข้องแค่ทำให้ถูกต้อง

ธปท.มีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่างๆ   ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการมีรายละเอียดซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทบต่อภาระการคลังในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่างๆ จึงต้องรัดกุมอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม   พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.แค่กำกับดูแล ธ.ก.ส. ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ควรทำ โดยต้องรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าสามารถใช้มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกับโครงการนี้ได้หรือไม่ และคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

 “ธปท.ไม่ขัดข้องกับการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องรูปแบบรายละเอียดว่าอยากให้ช่วยแบบเจาะจง ช่วยคนที่มีความยากลำบากจริง เพื่อให้คุ้มค่าเม็ดเงิน ถ้าช่วยคนที่ขาดจะมีแรงกระตุ้นสูง อยากให้เป็นกลุ่มเป้าหมายเจาะจง เพื่อให้ยั่งยืนและคุ้มค่างบประมาณ ส่วนการใช้เงิน ธ.ก.ส. เรื่องนี้ ธปท.ไม่ได้มีข้อสังเกตอะไร” นายปิติ กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ภายหลังเข้าพบนายเผ่าภูมิให้สัมภาษณ์ว่า มารายงานความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเศรษฐพุฒิส่งหนังสือให้ทบทวนหลักเกณฑ์โครงการดังกล่าว นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการออกหนังสือเตือน แต่เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็น ซึ่งทุกอย่างจะยังคงเดินหน้าตามมติ ครม. ไม่มีอะไรสะดุดเดินหน้าเต็มที่

เมื่อถามอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ดูเรื่องข้อกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งตัวกฎหมายเองไม่ได้มีอะไร แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่ติดอะไร และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้มีการท้วงติงถึงข้อกฎหมายให้ระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกครั้ง เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย และดูถึงความถูกต้องของข้อเสนอต่างๆ และยืนยันได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์

ตีความอำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส.

ซักว่าส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องกฎหมายได้ช่วงใด นายเผ่าภูมิกล่าวว่า เรื่องที่จะส่งให้กฤษฎีกาตีความคือเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส.  ซึ่งยังไม่ได้รีบ อยู่ในส่วนของกรอบโครงการ แหล่งที่มาของเงิน ที่ต้องชงไปยัง ธ.ก.ส. ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ยังไม่ใช่ช่วงนี้ และตัวโครงการก็ดำเนินการไปเรื่อยๆ รวมถึงการพัฒนาระบบก็เดินไปเรื่อยๆ ธ.ก.ส.ก็ยังมีเวลา

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบซูเปอร์แอปที่จะนำมาใช้ในโครงการ นายเผ่าภูมิกล่าวว่า เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์

ถามต่อว่า จะไม่กลับมาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังใช่หรือไม่ เขาตอบว่า จะมีการพัฒนาระบบร่วมกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง  ส่วนหน้าตาของแอปพลิเคชันนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ระบบลงทะเบียน และระบบการใช้งาน ซึ่งก็จะเป็นแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมา โดยจะเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ง่ายยิ่งง่ายกว่าเดิม เนื่องจากมีการเชื่อมกับระบบธนาคารที่มีอยู่แล้ว รวมถึงมีการเตรียมระบบรองรับผู้ที่มีสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว

นายลวรณ​ แสงสนิท​ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบ นายเศรษฐาว่า​ ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถให้ความเห็นมาได้ ทั้งเห็นด้วยและมีข้อทักท้วง ซึ่งเราก็รับฟัง และการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย. มีการพิจารณาเรื่องของหลักการและขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ไป และมีระเบียบและกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามนั้น​

"ความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งผลให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด​ลง​ และขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา​ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องเริ่มดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่นายเศรษฐา เรียกธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งหารือเรื่องทิศทางดอกเบี้ยว่า เท่าที่ทราบในวันที่ 24 เม.ย.2567 ทางสมาคมธนาคารไทยจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกการตลาด เป็นเรื่องที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องไปพิจารณาความเหมาะสม

"ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับกระบวนการสินเชื่อ ก็เป็นกระบวนการของธนาคารเอง ตอนนี้มี input จากหลายภาคส่วนในการทำนโยบาย เช่น กระบวนการสินเชื่อ ราคา ซึ่งในเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะจับตาว่าภาวะการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สิ่งที่ทำในปัจจุบันเหมาะสมกับต้นทุน ความเสี่ยง ก็ต้องจับตาดูต่อไป" นายปิติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง