"วันนอร์" ชี้ร่างแก้ไข รธน. ไม่ทันประชุมสภาวิสามัญ เหตุต้องทำประชามติก่อน "รทสช." ย้ำจุดยืนเดิมไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ด้าน "ชัยธวัช" ยันก้าวไกลไม่คิดขวาง รธน.ฉบับใหม่ แต่ห่วงล็อกบางหมวดมีปัญหาเชิงเทคนิค
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ สภายังไม่สามารถนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่าจะเสร็จประมาณเดือน ก.ค. แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่ค้างคาอยู่ ถ้ารัฐบาลอยากเอาเข้าสมัยประชุมวิสามัญสภาก็พร้อม
นายวันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงกฎหมายประชามติ ซึ่งมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขบางมาตราว่า ตอนนี้กฎหมายประชามติมีอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำประชามติก็สามารถทำได้เลย เว้นแต่ว่ารัฐบาลเห็นว่าอยากจะแก้ไขบางมาตราก่อน ก็เสนอมาแก้ไขได้ในช่วงสมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอเข้ามาหรือไม่ แต่ความจริงกฎหมายที่มีอยู่ก็สามารถทำประชามติได้ เพราะทำแค่ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าอยากแก้ไขก็ลงมติว่าแก้ไข ถ้าไม่อยากแก้ไขก็โนโหวต
“ผมเชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งหนึ่ง เพราะหากทุกคนทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์ ทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน ประชาชน เมื่อรณรงค์แล้ว จึงไม่คิดว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง แต่หากประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง ก็แสดงว่าประชาชนไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น”
เมื่อถามว่า หากการทำประชามติครั้งแรกแล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง จะทำให้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทสูญเปล่าหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายเป็นเช่นนั้น แต่ตนยังมั่นใจว่าประชาชนจะออกมาเกินครึ่ง เพราะเวลาเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับไหน ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และระยะหลังมีการรณรงค์มาก ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ และเห็นควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง รวมถึงควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ว่า พรรคเห็นด้วยกับแนวทางของ ครม.ทุกประการ การออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง แม้จะถูกติติงว่าจะใช้งบประมาณจำนวนมากก็ตาม แต่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม พรรครวมไทยสร้างชาติขอย้ำจุดยืนเดิมที่มั่นคงให้ไว้ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาล หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด พรรคได้ยืนหยัดในจุดยืนนี้มาโดยตลอด และจะยืนหยัดต่อไป ส่วนเนื้อหาอื่นจะแก้ไขอะไรบ้าง ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นเดียวกัน
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากที่ดูตามเอกสารก็ยังไม่ชัดเจนว่า ตกลงแล้ว ครม.มีมติอย่างเป็นทางการต่อเรื่องนี้แล้วหรือไม่ ในมุมมองของพรรคก้าวไกล มองว่าหากยังมีเวลาอยากให้รัฐบาลไปทบทวน ตั้งคำถามทำประชามติอย่างกว้างที่สุด เข้าใจง่าย ไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน เช่น ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเก่า ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 รัฐบาลเองรวมถึง สส. ก็สามารถแก้ไขรายละเอียดด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภาหลังการทำประชามติได้
นายชัยธวัชเน้นย้ำถึงเหตุผลว่า หลักของการทำประชามติคือต้องเข้าใจง่าย แต่หากตั้งคำถามโดยมีเงื่อนไขว่า ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 คนที่โหวตเห็นด้วย เขาเห็นด้วยกับอะไร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง เขาไม่เห็นด้วยกับอะไร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไขเว้นบางหมวด หรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ดังนั้นจะตีความผลประชามติอย่างไร
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า คำถามประชามติที่ไม่ซับซ้อน จะมีโอกาสทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น สามารถรวมคะแนนเสียงได้เป็นเอกภาพมากที่สุด แทนที่จะมีคะแนนเสียงบางส่วนที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข จึงโหวตไม่เห็นชอบ หรือไม่โหวตเลย ก็จะน่าเสียดาย เพราะเราคงไม่ได้ทำประชามติกันบ่อยๆ ทางฝ่ายค้านก็อยากให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติปัจจุบัน ที่มีเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น หรือ double majority
นายชัยธวัชยังระบุว่า เรื่องรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 คนในรัฐบาลบางท่านพยายามสร้างความเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลต้องการจะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มาก จึงคัดค้านคำถามแบบนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะหลักการพื้นฐาน หากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ได้ทั้งหมด ไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
นายชัยธวัชย้ำด้วยว่า รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย สมมติว่าในอนาคตมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา แล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว เหมือนประเทศไทยในอดีต แต่ในหมวด 1 มีถ้อยคำวุฒิสภาอยู่ จะเอาออกอย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเลย ซึ่งอาจมีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นได้
ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเห็นต่างกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลคือเรื่องของคำถาม เพราะในคำถามมีการถามว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นข้อที่ดูแล้วจะมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ดังนั้นตนเห็นว่าควรเอาตามกติกาก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 255 บัญญัติไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งถือว่ามีขอบเขตอยู่แล้ว
“ยกตัวอย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตอนทำประชามติคือตอนปี 2559 เขายังแยกเป็น 2 คำถามเลย คือเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับเห็นชอบหรือไม่ที่ให้ สว.โหวตเลือกนายกฯ หากจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ก็ควรจะคุยกันให้ออกมาเป็น 2 คำถามได้หรือไม่ ดังนั้นผมขอเสนอว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลซึ่งเคยเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน และมีสัญญาประชาคมกับประชาชนไว้ด้วยกันว่าจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากยังเดินหน้าไปโดยยังเห็นต่างกันอยู่ ผมเกรงว่าประชามติจะไม่ผ่าน สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่เสร็จ และเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่ควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากจะเห็น และประชาชนอยากเห็นทั้ง 2 พรรคคุยกัน ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเดินหน้าไปข้างเดียว” นายปริญญากล่าว
อย่างไรก็ตาม นายปริญญายังกล่าวทิ้งท้ายถึงการเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้ว่า ต้องจับตาการร้องเรียนตั้งแต่ระดับอำเภอที่มีผู้สมัครจำนวนมากจะดำเนินการอย่างไร ขอให้จับตาให้ดี หากการประกาศผลเลือก สว.ใหม่ต้องยืดเวลาออกไป ที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของ สว.ชุดที่มาจาก คสช. ที่ต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่ามี สว.ชุดใหม่ เกี่ยวกับอำนาจเลือกนายกฯ ในรัฐสภา แม้บทเฉพาะกาล มาตรา 272 จะกำหนดให้มีอำนาจ 5 ปีนับแต่มีสภา แต่อาจมีคนที่ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หากมีปัจจัยที่ต้องการทำให้เปลี่ยนตัวนายกฯ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน