โผครม.สุทินเหนียว ‘เศรษฐา’เลิกถ่างขา

"เศรษฐา" ลั่นปรับ ครม.ไม่เงียบแน่ ระบุยังไม่มีกำหนดไทม์ไลน์ กฎหมายสกัดรัฐประหารเห็นผล! บิ๊กทินเหนียวนั่ง รมว.กห.ต่อ สะพัด! เสี่ยนิดเหลือเก้าอี้นายกฯ เซลส์แมนอย่างเดียวไม่ต้องถ่างขาควบ “พิชัย” ขึ้นแท่นรองนายกฯ ควบขุนคลัง ส่วน “ปานปรีย์” เหลือแค่ รมว.กต. หึ่ง! "จิราพร-อรรถกร-สุชาติ" มาแรงนั่งรัฐมนตรี จับตาประชุม ครม. 23 เม.ย.เคาะประชามติ 3 รอบ  พร้อมโยนเผือกร้อนคำถามประชามติรื้อรัฐธรรมนูญให้ กกต.สางต่อแทน สิงหาคมเริ่มหย่อนบัตรครั้งแรก

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าพบบนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือประเด็นที่จะนำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) วันที่ 23 เม.ย. ท่ามกลางกระแสการปรับ ครม.

โดยนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์เรื่องปรับ ครม.หลังเรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาหารือว่า ไม่มี ไม่ได้พูดคุย  และเมื่อสื่อถามว่า แสดงว่าการปรับ ครม.จะยังไม่ชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้บอกว่าจะมีการปรับเลย พวกคุณพูดกันไปเอง เมื่อถามย้ำว่า กระแสข่าวถึงขั้นบอกว่าการปรับ ครม.จะจบในวันที่  24 เม.ย.นี้ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ทราบต้องไปถามคนที่พูดเอง

 ถามย้ำว่า พอจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะเสร็จในเดือนนี้หรือเดือนหน้า นายกฯ กล่าวว่า ตอบไปแล้วหลายหน ถ้าเกิดขึ้นก็รู้เอง เมื่อถามต่อว่า แสดงว่านายกฯ จะปรับเงียบใช่หรือไม่ นายกฯ สวนว่า “คงเงียบไม่ได้มั้ง เพราะต้องผ่านกระบวนการแต่งตั้งที่ถูกต้อง คงไม่เงียบหรอกครับ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวเช่นกันว่า ไม่มีเรื่องการปรับ ครม. และไม่มีหัวหน้าพรรคคนใดสอบถามเรื่องการปรับ ครม. ถ้าจะมีการหารือเรื่องนี้จะนัดหมาย เพราะการปรับ ครม.เป็นเรื่องที่นายกฯ  จะพิจารณาว่าจะปรับหรือไม่ปรับ หรือจะปรับอย่างไรคงจะหารือ ถ้ามีความชัดเจนจริงๆ อาจต้องประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางกระแสระบุว่ามีการเลื่อนปรับ ครม.ออกไป 2 เดือนประมาณเดือน มิ.ย. เพื่อรอให้งบประมาณปี 2568 ผ่านสภาก่อน นายภูมิธรรมกล่าวว่า  ยังไม่มีการคุยกันเรื่องนี้เลย ซึ่งช่วงเที่ยงนายกฯ ได้เรียกตัวแทนทุกพรรคมาคุยที่ทำเนียบฯ โดยคุยเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเข้า ครม.ในวันที่ 23 เม.ย. อย่าคิดว่าเป็นการคุยเรื่องปรับ ครม.เท่านั้น แต่เรามีเรื่องสำคัญๆ ที่รัฐบาลต้องทำร่วมกัน ซึ่งจากนี้จะได้เห็นอีกหลายๆ ครั้ง  เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะประชุมเดือนละครั้ง โดยตนจะเป็นผู้ประสานงาน จึงอย่าไปกังวลใจเรื่องนี้

เมื่อถามว่า มีอีกกระแสข่าวระบุว่าในส่วนพรรคเพื่อไทย มีการขีดเส้นให้ส่งรายชื่อภายในวันที่ 24 เม.ย. นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นรองนายกฯ คนที่ 1 และเป็นผู้อาวุโสในพรรค พท.ยังไม่ได้ยินเรื่องนี้เลย

เมื่อถามถึงกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ระบุว่าอยากได้เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง มีการพูดคุยกันแล้วหรือไม่ว่า ยังไม่เคยมีการพูดคุยกัน พ.ต.อ.ทวีไม่เคยพูดในเรื่องนี้ เราพูดกันแต่เรื่องงาน

‘อิ๊งค์’ เมินตอบปมปรับ ครม.

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการปรับ ครม.โดยขีดเส้นให้ส่งรายชื่อภายในวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยย้อนถามกลับว่า "ปรับ ครม.อีกแล้วเหรอ ไปถามนายกฯ เถอะ"

เมื่อถามย้ำว่า ยังไม่มีใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงรัฐมนตรีของพรรคทั้ง 8 คนจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ว่า เวลาได้รับการสอบถามอย่างไม่เป็นทางการ ว่าพรรคมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ก็ได้ยืนยันว่าไม่มี นี่คือในส่วนของพรรค ภท. และนายกฯ ยังไม่เคยหารือในเรื่องการปรับ ครม. เพราะต้องคิดว่าการเมืองคงไม่มีใครอยากให้เกิดแรงกระเพื่อมหากไม่จำเป็น หากเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้วมันดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทันทีทันตาเห็นหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้

“ขอยืนยันว่ารัฐมนตรีทั้ง 8 คนของพรรคภูมิใจไทยทำงานเต็มที่ และผลักดันนโยบายต่างๆ ไปอย่างคืบหน้าตลอด ตอนนี้ยังไม่มีการปรับและไม่ทราบว่าจะมีปรับหรือไม่ ไม่มีใครไปถามนายกฯ ได้ และคงไม่ถามกัน และขอย้ำว่าเรื่องของการปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ และต้องถามท่านคนเดียว”

นายชื่นชอบ คงอุดม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่า  ไม่มีหารือเรื่องปรับ ครม. ในส่วนของพรรค รทสช.เป็นไปตามที่ประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ทุกคนมีหน้าที่ทำงานและต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยหัวหน้าพรรคพูดว่ายังไม่มีข้อมูลจากนายกฯ ที่พูดถึงการปรับ ครม. และยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม

‘จิราพร’ พร้อมทำทุกหน้าที่

ส่วน น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าวมีชื่อนั่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าได้อ่านตามข่าวเหมือนกัน ซึ่งเป็น สส.เขต ไม่ว่าจะเป็นบทบาทใด บทบาทในสภาหรือบทบาทอื่นๆ ก็พร้อมทำงานอยู่แล้ว ส่วนควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานใน ครม.หรือไม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนมีประสบการณ์ ทุกคนในพรรคก็เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าและมีประสบการณ์ และมีความสามารถหลายท่าน ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านก็มีโอกาสที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีได้

“ยังไม่ได้รับสัญญาณอะไรเลยว่าจะได้เป็นหรือไม่ คิดว่าจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคงมีข่าวแบบนี้เรื่อยๆ ก็ติดตามเหมือนพี่น้องสื่อมวลชนดีกว่า” น.ส.จิราพรระบุ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี ให้การต้อนรับสมาชิกพรรคประชาชาติ จากกรุงเทพฯ, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และนนทบุรี  จำนวน 400 คน เข้าเยี่ยมคารวะและเยี่ยมชมรัฐสภา 

เมื่อถึงช่วงเปิดให้ซักถาม มีสมาชิกพรรค ปช.จาก จ.ยะลา ถามถึงกระแสการปรับ ครม. รวมถึงการเปลี่ยนตัวประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ระบุว่า ตำแหน่งประธานรัฐสภาไม่ได้เป็นของรัฐบาล ถ้านายกฯ จะปรับ ครม.ก็ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ประธานสภามาจากสมาชิกสภา และตนเองมาจากการถูกเสนอชื่อในที่ประชุมเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ยกเว้นว่าทำหน้าที่ไม่ได้ก็ลาออก นั่นจึงจะเปลี่ยนได้

 “ไม่ต้องกังวลไม่มีการเปลี่ยนแน่นอน ผมไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่หากผมลาออกและยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติได้ ประชาธิปไตยจะไม่สง่างาม  ผมจึงต้องรักษาไว้เพื่อให้ประชาธิปไตยสง่างามและเดินต่อไปได้ไม่ใช่เพื่อตัวเอง” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภา แถลงกรณีมีกระแสข่าวนายวันมูหะมัดนอร์จะลาออกจากตำแหน่งว่า ข่าวที่ออกมานั้นเป็นการตัดเนื้อหาข่าวบางส่วน ท่านประธานรัฐสภายังคงเป็นประธานอยู่ในปัจจุบัน และจะอยู่ครบเทอม ในตำแหน่งของท่านไม่มีใครมาบีบบังคับให้ท่านลาออกได้ และถึงจะมีการมาบีบคั้น ถ้าไม่มีเหตุผล ท่านประธานก็ไม่ยอมรับอย่างที่เคยแถลงไว้แล้ว

สำหรับความเคลื่อนไหวการปรับ ครม.ที่นายเศรษฐาต้องการให้จบเร็วภายในสิ้นเดือน เม.ย.นั้นยังไม่นิ่ง และยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากเดิมนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกฯ ที่มีชื่อเป็น รมว.การคลัง ตำแหน่งเดียว แต่ล่าสุดจะควบตำแหน่งรองนายกฯ อีกตำแหน่ง ขณะที่ในส่วนของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ยังนิ่งที่จะโยกไปเป็น รมว.สาธารณสุข เช่นเดียวกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ที่จะควบรองนายกฯ อีกตำแหน่ง ส่วนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ อาจมีการปรับเหลือแค่ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียว

‘สุทิน’ เหนียวนั่ง รมว.กห.ต่อ

ขณะในส่วนของนายเศรษฐา ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะลุกจากเก้าอี้ รมว.การคลังไปควบ รมว.กลาโหม แทนนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ล่าสุดมีเสียงท้วงติงและข้อห่วงใย เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ละเอียดอ่อน  มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทำให้ยังไม่ตกผลึก  ซึ่งทั้งนายกฯ และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังหารือ เพื่อหาทางออกให้ทุกอย่างออกมาสมดุลที่สุด ทำให้ที่สุดแล้วนายเศรษฐาอาจนั่งแค่ตำแหน่งนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว และนายสุทินยังเป็น รมว.กลาโหมเหมือนเดิม

สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะหลุดจากตำแหน่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) ล่าสุดเหลือเพียง 3 คน คือ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข, นายไชยา พรหมา  รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ ส่วนที่จะเข้ามาใหม่ นอกจากนายพิชัยแล้ว ยังมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.การคลัง ที่จะมานั่งตำแหน่ง รมช.การคลัง และมีชื่อใหม่เข้ามาล่าสุดคือ น.ส.จิราพร ที่เป็น สส.รุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่นในสภา อีกทั้งมีความใกล้ชิดนายเศรษฐา ติดตามลงพื้นที่หลายครั้ง อาจจะถูกผลักดันให้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขณะที่นายสุทินและนายเกรียงที่มีข่าวจะถูกปรับออก ล่าสุดมีแนวโน้มได้อยู่ตำแหน่งเดิม

ขณะที่ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยและประชาชาติยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) บางตำแหน่ง คือในส่วนของพรรค พปชร.ที่ยังมีโควตาว่างอยู่ 1 ตำแหน่งนั้น ที่เดิมทีถูกวางไว้ที่ตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ล่าสุดมีการปรับมาเป็นตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยคนที่มีแนวโน้มเข้ามาคือ  นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา ส่วนของพรรค รทสช.มีแนวโน้มปรับเอานายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ออกจากตำแหน่ง แล้วให้นายสุชาติ ชมกลิ่น  สส.บัญชีรายชื่อ ไปนั่งตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข

วันเดียวกันยังมีความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายภูมิธรรมกล่าวถึงการหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวันที่ 23 เม.ย.จะนำเรื่องรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ถ้า ครม.อนุมัติจะส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลย กระบวนการจะเดินหน้า และจากผลการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และจะหารือในที่ประชุม ครม.ว่าแนวคำถามประชามติจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอิงกับสิ่งที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว

จ่อโยนเผือกร้อนให้ กกต.

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเตรียมแนวคำถามประชามติไว้บ้างหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในร่างของคณะกรรมการฯ มีคำถามแล้ว แต่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกทีหนึ่ง เช่นแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขหมวด 1  และหมวด 2 ที่มีการยืนยันกัน 3 พรรค

เมื่อถามว่า จะมีการกำหนดไทม์ไลน์เอาไว้หรือไม่ว่า จะเดินหน้าอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า หากที่ประชุม ครม.วันที่ 23 เม.ย.เสร็จก็จะส่งไปที่ กกต.เลย กระบวนการทั้งหมดอยู่ที่ กกต.ที่จะต้องจัดการภายใน 90 วัน ซึ่ง กกต.สามารถทำเร็วกว่านี้ได้ จากนี้ไปจะไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว ถือว่ารัฐบาลทำหน้าที่จบแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ กกต. แต่คาดว่าถ้าไม่มีปัญหาอะไร การทำประชามติครั้งแรกน่าจะประมาณเดือน ส.ค.นี้ และกระบวนการต่างๆ จะขยับไปตามกระบวนการกฎหมาย

เมื่อถามว่า มีการคุยกับพรรคร่วมในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ไม่ได้คุย คุยเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า มีการคุยกันไปแล้วในการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 เม.ย. โดยจะทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งการทำประชามติ 3 ครั้งน่าจะไปได้  โดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 23  เม.ย.นี้ ว่าทำประชามติอย่างไร และเป็นอย่างไร ดูกันแล้วว่าน่าจะรอบคอบที่สุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย  ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น จึงต้องเป็นไปตามนั้น

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลถึงเรื่องการแก้ไขธรรมนูญว่า ทุกพรรคเห็นไปในทางเดียวกันหมด คือทำประชามติ 3 ครั้ง  โดยคำถามคือ จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และจะไม่รอกฎหมายประชามติ แต่ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้นายชูศักดิ์ไปเร่งรัดเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติ

นายนิกรกล่าวว่า การทำประชามติครั้งแรกอาจมีค่าใช้จ่าย แต่ครั้งต่อไปอาจแก้กฎหมายประชามติได้ทัน เราตั้งใจแก้ให้ลงตัวในการทำประชามติครั้งที่ 2 ในช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะได้ทำไปในคราวเดียวกัน ซึ่งอยากให้มีหน่วยการลงคะแนนเหมือนการเลือก สส.

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การตั้งคำถามประชามติที่มีเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ทำให้คนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถามไม่รู้จะลงประชามติอย่างไร และทำให้การลงคะแนนเสียงไม่มีความเป็นเอกภาพเท่าที่ควร เพราะอาจมีคนที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ล็อกหมวด 1 และหมวด 2 อาจไม่ลงมติเห็นชอบทุกคน

 “หากอยากเห็นการทำประชามติครั้งแรกผ่านความเห็นของประชาชน และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สุดควรทบทวนคำถามให้เป็นลักษณะที่เปิดกว้าง เช่นเห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายพริษฐ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง