‘ทักษิณ’ขยับพท.แพ้ก.ก.ยับ!

นิด้าโพลชี้ "ทักษิณ"     เคลื่อนไหวไม่มีผลต่อคะแนนนิยมของ  "เพื่อไทย" ยังส่งผลกระทบในทางลบ     เลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังแพ้ ขณะที่ซูเปอร์โพลตอกย้ำคะแนนนิยม "ก้าวไกล"  มากกว่า "เพื่อไทย" ถึงเท่าตัว "ธีระชัย"  โต้ผลโพลชี้วัดไม่ได้ ท้าให้มาดูที่ จ.อุดรฯ  ถ้าไม่ได้กระแส "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ทำไว้ พท.ไม่ได้ สส.มากขนาดนี้ "หมอวรงค์" เล็งหอบหลักฐานสำคัญร้อง ป.ป.ช.เอาผิดคนช่วยนักโทษป่วยทิพย์   "ทวี" ไม่กังวล ย้ำปฏิบัติตามกฎหมาย เย้ยหมอวรงค์ร้องผิด ความจริงต้องไปร้องรัฐบาลชุดที่แล้ว

 เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “จากบทบาททักษิณ ถึงฝันของนายกฯ เศรษฐา”   ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310  หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร และความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะชนะในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของ พท. จากความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 40.61 ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของ พท. รองลงมา ร้อยละ 33.21 ระบุว่าส่งผลกระทบในทางลบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของ พท., ร้อยละ 19.54 ระบุว่าส่งผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของ พท. และร้อยละ 6.64 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า พท.เป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.47 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.85 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย,  ร้อยละ 17.94 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย,  ร้อยละ 15.73 ระบุว่าเห็นด้วยมาก และร้อยละ 8.01 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ พท.จะชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 32.98 ระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลย รองลงมา ร้อยละ 29.24 ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 21.14 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้, ร้อยละ 12.82 ระบุว่าเป็นไปได้มาก และร้อยละ 3.82 ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ, ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง, ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ, ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

ทางด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ก้าวไกล เพื่อไทย และอื่น ๆ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,154 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน 2567 พบว่า คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) มากกว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยอยู่ประมาณ 1 เท่าตัว คือ ร้อยละ 37.2 ต่อร้อยละ 17.2 อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดหรือร้อยละ 45.6 ไม่เลือกทั้งสองพรรค จะเลือกพรรคอื่น

เมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มชายและหญิง พบว่า ชายและหญิงตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองไม่แตกต่างกันในผลสำรวจครั้งนี้คือ ส่วนใหญ่ของชายและหญิง คือ ร้อยละ 45.1 ของชาย และร้อยละ 46.1 ของหญิง ไม่เลือกทั้งสองพรรค จะเลือกพรรคอื่น แต่ร้อยละ 37.0 ของชาย และร้อยละ 37.3 ของหญิง จะเลือก ก.ก.  และร้อยละ 17.9 ของชาย และร้อยละ 16.6 ของหญิง จะเลือก พท.       

ที่น่าสนใจคือ เมื่อแบ่งออกเป็นช่วงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือร้อยละ 76.2 ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะเลือก ก.ก. แต่มีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุที่สูงขึ้นคือ ร้อยละ 48.9 ของคนอายุ 20-29 ปี, ร้อยละ 34.2 ของคนอายุ 30-39 ปี, ร้อยละ 28.7 ของคนอายุ 40-49 ปี, ร้อยละ 20.2 ของคนอายุ 50-59 ปี และร้อยละ 20.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเลือกก.ก. จะเห็นได้ว่าแนวโน้มจะเลือก ก.ก.ลดลงตามช่วงอายุของคนที่สูงขึ้น

สำหรับช่วงอายุของคนที่จะเลือก พท. ไม่พบแบบแผนของการตัดสินใจจะเลือก คือกระจายคะแนนนิยมออกไปไม่เป็นแบบแผน แตกต่างกับคนที่ระบุว่าจะไม่เลือกพรรคทั้งสอง จะเลือกพรรคอื่น พบว่า ยิ่งมีอายุสูงขึ้นจะยิ่งตัดสินใจเลือกพรรคอื่นๆ มากขึ้นตามไปด้วย คือ ร้อยละ 14.3 ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี,  ร้อยละ 39.9 ของคนอายุ 20-29 ปี, ร้อยละ 44.5 ของคนอายุ 30-39 ปี, ร้อยละ 52.8 ของคนอายุ 40-49 ปี, ร้อยละ 57.5 ของคนอายุ 50-59 ปี และร้อยละ 61.6 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะไม่เลือกทั้ง ก.ก.และ พท. แต่จะเลือกพรรคอื่น

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มอาชีพกับการตัดสินใจจะเลือกพรรคการเมืองคือ นักศึกษาส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.2 จะเลือก ก.ก. และว่างงาน ร้อยละ 43.5 จะเลือก ก.ก. ส่วน พท. จะพบมาก แต่ไม่ได้มากที่สุดในกลุ่มเกษตรกร คือร้อยละ 24.6 ของกลุ่มเกษตรกร ที่น่าสนใจคือ กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.0 ไม่เลือกทั้ง ก.ก. และ พท. เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.2 ที่ไม่เลือก ก.ก. และไม่เลือก พท. แต่จะเลือกพรรคอื่น

นอกจากนี้ จำนวนมากที่สุดของกลุ่มอาชีพค้าขายอิสระ คือร้อยละ 48.4 และร้อยละ 42.1 ของพนักงานบริษัทเอกชน จะไม่เลือกทั้ง ก.ก.และ พท. แต่จะเลือกพรรคอื่น อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือร้อยละ 39.9 ของพนักงานเอกชนจะเลือก ก.ก.

 วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  หัวหน้าพรรค พท. โพสต์ภาพครอบครัว โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวระบุว่า “พาพ่อไป ICONSIAM ครั้งแรก”

  ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรค พท. กล่าวถึงผลสำรวจนิด้าโพลว่า ไม่เชื่อผลนิด้าโพล สส.ที่อยู่ในพื้นที่รู้ดี ยังมีประชาชนรักนายทักษิณอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่รู้กลุ่มเป้าหมายที่นิด้าโพลสำรวจมีความละเอียดแค่ไหน สำรวจเฉพาะจังหวัดฐานเสียงของ ก.ก.หรือไม่ และลงไปสำรวจถึงคนที่เป็นชาวบ้านและเกษตรกรจริงๆ หรือไม่ รอบที่แล้วตอนเลือกตั้งก็บอกตนจะไม่ได้เป็น สส. แต่ตนก็ชนะเลือกตั้งได้คะแนนท่วมท้นกว่า 30,000 คะแนน

"อย่าเอากระดาษมาเป็นตัวชี้นำ การไปสำรวจกลุ่มตัวอย่างแค่พันกว่าคนเอามาเป็นตัวชี้วัดอะไรไม่ได้ ผลโพลแค่เชื่อได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยเฉพาะที่บอกนายทักษิณไม่มีผลต่อคะแนนนิยมพท. ขอให้มาดูที่ จ.อุดรธานี ผมอยากให้นายทักษิณมาที่ จ.อุดรธานี เพราะคนอุดรฯ คิดถึง ถ้าไม่มีกระแสที่นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำไว้ในอดีต พรรคเพื่อไทยคงไม่ได้ สส.ภาคอีสานมากมายขนาดนี้" นายธีระชัยกล่าว

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ผมจะไปร้อง ป.ป.ช. กรณีช่วยเหลือนักโทษป่วยไม่จริงและช่วยเหลือการพักโทษ พร้อมหลักฐานสำคัญ วันจันทร์ที่ 22 เมษายนนี้ เวลา 10.30  น.

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นพ.วรงค์จะเดินทางไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบบุคคลที่ช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร ให้ป่วยทิพย์ว่า เป็นสิทธิ์ และก่อน นพ.วรงค์จะไปยื่น ก็มีคนอื่นไปยื่นร้องเยอะแล้ว แต่ตนมองว่าการปฏิบัติต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้เราก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนตัวก็เคารพ แต่การทำทุกอย่าง ตนทำอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย หากเขาจะร้องเรื่องนี้ ตนมองว่าเขาร้องผิด ความจริงต้องไปร้องรัฐบาลชุดที่แล้ว

เมื่อถามว่า นพ.วรงค์น่าจะนำหลักฐานที่นายทักษิณดูเหมือนไม่ใช่คนป่วยไปร้อง พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ไม่ได้กังวลเลย เพราะการพักโทษเป้าหมายคือต้องการให้คนมีสุขภาพดี การได้พักโทษแล้วกลับไปอยู่กับครอบครัวก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง