นิรโทษทุกสีล้าง25ผิด จับตาพ่วง112ไม่รวมคดี‘ยิ่งลักษณ์’/รทสช.ปัดปรับ4รมต.

"อนุ กมธ.นิรโทษฯ" ชงล้าง 25 ความผิดแรงจูงใจทางการเมือง  "พธม.-นปช.-กปปส.-เยาวชน" ได้เคลียร์หมด คดีผิด "ม.110-112" อ่อนไหวยังไม่มีความเห็น ปัดตอบ "คดีจำนำข้าว-ยิ่งลักษณ์" ชี้ไม่พิจารณารายบุคคล "เศรษฐา" เตรียมลง จ.ภูเก็ต 19 เม.ย.   ตรวจโครงการแก้ปัญหาจราจร จี้ ตร.ปฏิบัติงาน "พรรคร่วมรัฐบาล" ดาหน้าปฏิเสธข่าวปรับ ครม. อ้างยังไม่มีสัญญาณ "ศาล รธน." ไฟเขียวขยายเวลา "ก้าวไกล" แจงยุบพรรคอีก 15 วัน พร้อมตีตกคำร้องรัฐสภาขอให้วินิจฉัยการทำประชามติกี่ครั้งในการทำ รธน.ฉบับใหม่ 

ที่รัฐสภา วันที่ 17 เม.ย. นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงความคืบหน้าการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อนุ กมธ.ได้ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พิจารณา ในวันที่ 18 เม.ย. เวลา 13.00 น.

นายนิกรกล่าวว่า สาระสำคัญที่อนุ กมธ.ได้ข้อสรุปคือ นิยามแรงจูงใจทางการเมือง ให้หมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง  หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง โดยอนุ กมธ.ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากสำนักงานศาลยุติธรรมที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบเป็นข้อมูลสถิติในการนำเสนอเบื้องต้นฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนิรโทษกรรม มีทั้งหมด 25 ฐานความผิด นำมาจากบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานคดีความผิดทางการเมือง ปี 2557-2567 ของฐานะศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง จะใช้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548-2567

ทั้งนี้ ฐานความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จะประกอบด้วย 1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) ปี 2548-2551 2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2550-2553 3.การชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556-2557 4.การชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี 2563 ถึงปัจจุบัน

"ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 อนุ กมธ.ไม่มีการชี้ชัดว่าจะอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการปรองดองสมานฉันท์และนิรโทษกรรมในหลายคณะ แต่คณะกรรมการเหล่านั้นไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับความผิดมาตรา 110 และ 112  เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว และเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้นความผิดทั้ง 2 มาตรา ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ อนุกมธ.ยังไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว" นายนิกรกล่าว

ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า  อนุ กมธ.มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ โดยอาศัยมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ให้อำนาจพิจารณาสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณายุติคดีหรือถอนฟ้องคดีเหล่านี้ได้ เพื่อกรองคดีออกไปก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม อาทิ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 ที่มีอยู่ 73,009 คดี ในช่วงสถานการณ์โควิด  หรือคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 ที่มี 2.6 ล้านคดี 

ชงล้างผิดแรงจูงใจการเมือง

"อนุ กมธ.จะเสนอรายงานเหล่านี้ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้พิจารณาวันที่ 18 เม.ย.2567 เพื่อพิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมส่งรายงานให้คณะอนุกรรมาธิการฯ จำแนกการกระทำ เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานอนุ กมธ. ไปพิจารณาแนวทางจำแนกฐานความผิดต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป คาดว่าจะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยหน้า" ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าว

ถามว่า การนิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายนิกรปฏิเสธจะตอบคำถาม โดยระบุว่า อนุ กมธ.ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้ ประเด็นที่อนุ กมธ.พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548 ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน  กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้ 3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุ กมธ.ที่มีนายยุทธพร จะพิจารณากำหนดรายละเอียด จำแนกความผิดในการนิรโทษกรรมอีกครั้ง

ซักว่าคดีจำนำข้าวนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่จะพิจารณาได้ใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรายเคส แต่พิจารณาเป็นฐานความผิด ทุกเคสทุกคดีพิจารณาจาก 3 ประเด็นที่ว่ามา ส่วนตัวไม่มีความเห็นคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในเงื่อนไขของอนุ กมธ.หรือไม่ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ยืนยันไม่มีใครส่งสัญญาณอะไรมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 25 ฐานความผิดที่อนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี  รัชทายาท มาตรา 107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาตรา 113-129 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มาตรา 211-214 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 215-216 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา 217-220 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295-300 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309-321 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358-361 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362-366 ความผิดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปี 2535

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง มีกำหนดการตรวจราชการ จังหวัดภูเก็ต ในวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. เพื่อติดตามโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับทางหลวงหมายเลข 4027 (ทางเลี่ยงเมือง) โครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ และโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027 พร้อมติดตามผลการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด, หนี้นอกระบบ, ตลาดนัดแก้หนี้, บ่อนการพนัน, การพนันออนไลน์, มาเฟียต่างประเทศ การกวดขันร้านจำหน่ายสุราที่คล้ายสถานบริการ การกวดขันปัญหายางพารา การลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และการแก้ไขปัญหาที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ จะมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดคมนาคม, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,  นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),   นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง,  พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. ร่วมคณะ

ปัดสัญญาณปรับ ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการเดินทางของนายกฯ และคณะ เวลา 09.00  น. ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จากนั้นประชุมติดตามและรับฟังการบรรยายสรุปโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งฟังรายงานสรุปโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับทางหลวงหมายเลข 4027 (ทางเลี่ยงเมือง) ตอนบ้านเมืองใหม่-แยกเข้าสนามบิน ระหว่าง กม.18+850-กม.20+800 ณ บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับฯ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และไปรับฟังรายงานสรุปโครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ ณ พื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ช่วงบ่าย นายกฯ และคณะไปที่ บช.ภ.8 ติดตามผลการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะเดินทางไปยังพื้นที่โครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027 (ทางเลี่ยงเมือง) (แยกท่าเรือ) บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อรับฟังรายงานสรุปโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027 (ทางเลี่ยงเมือง) (แยกท่าเรือ) ก่อนเดินทางไปยังจุดปิดทางแยกเกาะแก้ว และจุดกลับหน้าไทวัสดุ บนทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อทดลองแก้ไขปัญหาจราจรในปัจจุบัน ก่อนกลับ กทม.เวลา 16.40 น.

ส่วนความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยืนยันยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ เป็นเรื่องของนายกฯ อยู่แล้ว

ถามว่า มีความกังวลหรือไม่ เพราะในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) จะปรับหลายตำแหน่ง นายอนุทินกล่าวว่า  “แล้วมันเกี่ยวอะไรกับพรรคร่วม เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม พรรคใดที่มีความรับผิดชอบต่อกระทรวงใดๆ ก็ต้องไปจัดการ และเป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค”

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธจะพูดถึงการปรับ ครม. โดยระบุว่า เรื่องนี้เราไม่ต้องมาพูดกันดีกว่า เพราะพวกเราก็ฟังจากนายกฯ ชัดเจนแล้ว อย่าให้ตนต้องไปให้ความเห็นเรื่องนี้เลย ถ้าเป็นเวลาอื่นตนพูดได้ แต่เวลานี้ต้องให้เกียรติผู้ใหญ่และทำงานดีกว่า ซึ่งนายกฯ ก็ให้ทุกคนเร่งทำงาน ตอนนี้ทุกคนก็กระตือรือร้นกันดี

ส่วนนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า การปรับครม.ในส่วนของพรรค รทสช. เป็นเรื่องที่นายกฯ กับหัวหน้าพรรค รทสช.ต้องคุยกัน แต่ล่าสุดที่ได้หารือกับเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันยังไม่มีการเคลื่อนไหว ยังไม่มีการประสานมาจากนายกฯ ในเรื่องการปรับครม.ที่เกี่ยวกับพรรค ดังนั้นรัฐมนตรีทั้ง 4 คนของพรรคยังเป็นไปตามเดิม

"ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต้องรอนายกฯ ประสานมาที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรค" นายอัครเดชกล่าว

ถามว่า ในอนาคตหาก 4 รัฐมนตรีของพรรค รทสช.ถูกปรับ ครม. มองอย่างไร โฆษกพรรค รทสช.กล่าวว่า 4 รมต.ในโควตาของพรรค เราทุกคนทำงานทุ่มเท อย่างเช่นนายพีระพันธุ์ มุ่งแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานอย่างเป็นระบบ ปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาการขนย้ายแคดเมียม ลงพื้นที่ทันทีที่เกิดเรื่อง พร้อมเข้ามาชี้แจงฝ่ายค้านในสภา ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง และนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็มีผลงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคิดว่าการปรับ ครม.เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคุยกัน

ถามถึงกรณีมีกระแสข่าวพรรค รทสช.จะปรับนายกฤษฎา รมช.การคลัง และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รมว.อุตสาหกรรมออก แล้วดึงนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รทสช. และนายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรคมาแทน โฆษกพรรค รทสช.กล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ถ้าเป็นจริงต้องฟังหัวหน้าและเลขาฯ พรรค ขอให้สบายใจได้ พรรค รทสช.ยังไม่ได้เป็นปัญหาในเรื่องของการปรับ ครม.ครั้งนี้

ถามว่า ในอนาคตอาจมีชื่อนายอัครเดชติดโผในการปรับ ครม.ด้วยหรือไม่  นายอัครเดชหัวเราะก่อนกล่าวว่า เป็นประธานกรรมาธิการฯ ก็โอเคแล้ว ทำงานเต็มที่ ส่วนอนาคตเป็นเรื่องที่ประชาชนจะพิจารณาอีกครั้ง

มีรายงานว่า พรรค รทสช.เตรียมประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2567 ในวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.30-11.30 น. ที่สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพมหานคร โดยจะมีคณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสมาชิกพรรคร่วมประชุม ทั้งนี้ วาระการประชุมจะรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2566 งบการเงินประจำปี 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้จะเปิดตัวทีมอาสามาด้วยใจ ภายหลังพรรค รทสช.เปิดตัวโครงการไปแล้ว โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการเป็นแขนขาของพรรคมาช่วยเหลือประชาชน และเป็นหูเป็นตาในการทำงานร่วมกัน ปัจจุบันมีอาสามาด้วยใจ ถึง 400 คนทั่วประเทศแล้ว นอกจากนี้ที่ประชุมยังจะรายงานผลการดำเนินงานของพรรคประจำปี 2566

ขยายเวลา ก.ก.แจงยุบพรรค

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ​ประชุม​ปรึกษาในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่น คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นควรให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ 18 เม.ย.2567 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 พ.ค.2567

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา  256 

โดยมี 2 คำถามคือ 1.รัฐสภาจะบรรจุระเบียบวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ 2.ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภาคณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว การบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามหน้าที่และอำนาจของประทานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 119 กรณีนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัยและขอให้ศาลอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 จึงสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณา นายสุเมธ   รอยเจริญกุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างรอการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดี เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวการพิจารณาคดีได้ และองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คน ตามที่กฎหมายกำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง