ปภ.สรุป 6 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต 243 ราย สาเหตุเดิมเหมือนทุกปี ขับรถเร็ว-เมาขับ ขณะที่ตายเป็นศูนย์ 9 จังหวัด "อนุทิน" เตือนนักบิดเนื้อหุ้มเหล็กต้องระวังให้มาก คุมประพฤติเผยซดเหล้าแล้วขับรถนำโด่ง 6 วัน 5,589 คดี
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.60, ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.97, ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.90 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.47, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.32, ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.23 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 11.16 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.07 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,331 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ แพร่ (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่นและสุรินทร์ (จังหวัดละ 3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11-16 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (71 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (68 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย)
พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 84.90 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า การขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดใช้มาตรการทางสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการดูแลและป้องปรามจากครอบครัว
รวมถึงเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 ผ่านกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุว่า ตัวเลขดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะหากลงในรายละเอียดอัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์
“ต้องเน้นในเรื่องของนักบิดทั้งหลายให้ระมัดระวังให้มาก เพราะมอเตอร์ไซค์คือเนื้อหุ้มเหล็ก แต่รถยนต์คือเหล็กหุ้มเนื้อ จึงต้องเตือนตลอดเวลาว่า ดื่มไม่ขับ ไม่ใช่เมาไม่ขับ” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ทางจักรยานยนต์ไม่ได้เกิดบนถนนหลวงที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างจังหวัด แต่ส่วนมากจะเกิดบริเวณถนนในชุมชน ซึ่งต้องแก้ไขและทำความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักให้มากขึ้นในเรื่องของความปลอดภัย แต่ภาพรวมก็ดีขึ้น
เมื่อถามว่า จะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างก็ใส่มาหมดแล้ว เหลือแต่ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากจักรยานยนต์ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ โดยในวันพรุ่งนี้ตนจะไปร่วมแถลงข่าวถึงตัวเลขสรุปการสัญจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ (16 เมษายน 2567) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,654 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 1,616 คดี และคดีขับเสพ 38 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 6 วัน ที่มีการควบคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 11-16 เมษายน 2567 มียอดสะสม จำนวน 5,786 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 5,589 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.6, คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.05 และคดีขับเสพ 194 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.35
หากเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติ พ.ศ.2566 กับ พ.ศ.2567 ยอดสะสม 6 วัน (11-16 เมษายน 2567) พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2566 จำนวน 6,705 คดี และปี พ.ศ. 2567 มีจำนวน 5,589 คดี ลดลง 1,116 คดี คิดเป็นร้อยละ 16.64 จังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับได้แก่ กรุงเทพมหานคร 493 คดี, สมุทรปราการ 313 คดี และเชียงใหม่ 302 คดี
นายอรรถวิท รักจํารูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จํากัด (บขส.) เปิดเผยข้อมูลการเดินรถของ บขส.และรถร่วมฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 16 เมษายนว่า มีประชาชนเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ (เที่ยวไป-กลับ) รวม 124,416 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) จํานวน 7,921 เที่ยว แบ่งเป็นเที่ยวไป จํานวน 51,498 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) จํานวน 3,773 เที่ยว เที่ยวกลับ จํานวน 72,918 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) จํานวน 4,148 เที่ยว
ส่วนวันที่ 17 เม.ย. มีประชาชนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ (เที่ยวกลับ) กว่า 80,000 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) กว่า 4,500 เที่ยว ทั้งนี้ จากการอํานวยความสะดวกประชาชน เดินทางขาเข้า ช่วงเช้า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเพียงปัญหาแท็กซี่ขาดระยะเป็นบางช่วง เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเป็นจํานวนมาก ประกอบกับเป็นวันแรกของการทํางาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว