"นอร์ทกรุงเทพโพล" เผยประชาชน 69.9% ต้องการ "เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท" พร้อมหนุนให้ดำเนินการต่อ หวังแบ่งเบาภาระในครัวเรือน-กระตุ้นเศรษฐกิจ "ไทยสร้างไทย" โวยล้วงเงิน ธกส. ส่อผิดวัตถุประสงค์ หวั่นดึงสถาบันการเงินช่วยเกษตรกรเสี่ยงถึงขั้นหยุดกิจการได้
เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายสานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี "คิดอย่างไรกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท" จำนวน 1,400 ราย ในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย.2567 จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า มีความเข้าใจนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ระดับมาก 17%, ระดับค่อนข้างเข้าใจ 48%, ระดับไม่ค่อยเข้าใจ 28% และไม่เข้าใจเลย 7.6% ขณะเดียวกันได้สำรวจถึงความต้องการ พบว่าประชาชนมีความต้องการรวม 69.9% แบ่งเป็น ความต้องการในระดับมาก 38%, ค่อนข้างต้องการ 31.9% และไม่ต้องการรวม 30.1% แบ่งเป็น ไม่ค่อยต้องการ 18.4% และไม่ต้องการเลย 11.7%
เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมในหลักเกณฑ์และมาตรการในแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า มีความเห็นว่าเหมาะสมมาก 18.1%, ค่อนข้างเหมาะสม 40.9%, ไม่เหมาะสม 14.7% ส่วนควรดำเนินการต่อไปหรือไม่นั้น พบว่า ควรดำเนินการต่อ 57.5%, ควรดำเนินการต่อแต่ควรมีการปรับปรุงเงื่อนไข 31.9% และไม่ควรดำเนินการต่อ 10.6%
พร้อมกันนี้ยังได้สอบถามถึงความคิดเห็นว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 22.4%, มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 32.7%, มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 26.5% และมีประโยชน์น้อยที่สุด 11.4% นอกจากนี้ยังสอบถามว่า สามารถแบ่งเบาภาระในครัวเรือน มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 21.4%, มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 40.9%, มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 29.1% และมีประโยชน์น้อยที่สุด 8.6%
ในส่วนของการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ พบว่า มีประโยชน์ในระดับมากที่สุด 17.7%, มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 39.5%, มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 31.9% และ มีประโยชน์น้อยที่สุด 10.9%
ทั้งนี้ หากได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จากรัฐบาล จะวางแผนใช้เงินเพื่อสิ่งใด พบว่า คนไทยต้องการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อของใช้ในชีวิตประจำวัน 50.4%, สินค้าทั่วไป 25.7%, ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 22.4% และอื่น ๆ 1.4%
ด้านนายศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตนักวิชาการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลระบุแหล่งที่มาของเงินใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจำนวนหนึ่ง จะมาจากการกู้ยืม ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาทว่า ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่แต่ละฝ่ายได้นำมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ. ธ.ก.ส. มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งต่อมาความใน (3) ของมาตรา 9 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2549 และใช้บังคับมาตั้งแต่ 15 มี.ค.2549 ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่ามาตรานี้เปิดช่องให้สามารถกระทำได้
โดยระบุว่า (3) คำว่า "เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต" เข้าข่ายตามเงื่อนไขวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. เพราะฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลังยืนยันมาแล้วว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน เพราะเมื่อเรื่องนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆ ต้องเสนอความเห็นมาประกอบอยู่ดีนั้น มองว่าเป็นการให้เหตุผลแบบเอาสีข้างเข้าถู ดูเหมือนเป็นการด้อยค่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจกลัวว่าเมื่อถามไปแล้วจะได้ความเห็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา
"จริงอยู่ที่ไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นจากกฤษฎีกาก็ได้ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไป แต่ผมว่ามันไม่คุ้ม ถ้าปล่อยให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติก่อน แล้วท่านถูกลงโทษ การที่รัฐบาลจะใช้ช่องทางของ ธ.ก.ส. เป็นตัวผ่านเงิน แจกไปสู่ประชาชน โดยให้ธนาคารหาเงินมาจ่ายไปก่อน หรือกู้ยืมเงินจากสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร แล้วรัฐบาลจะนำมาชำระคืนให้ในภายหลังโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนนั้น เป็นการกระทำที่อาจทำให้ ธ.ก.ส.เข้าสู่ภาวะของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต และอาจทำให้ธนาคารต้องถูกควบคุมหรือหยุดกิจการได้" นายศักดิ์ณรงค์ระบุ
สำหรับปีบัญชี 2566 สภาพคล่อง ธ.ก.ส. ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน รวม 287,241 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ร้อยละ 15.70 เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ขั้นต่ำร้อยละ 8.50 แต่หากจะต้องมาแบกรับภาระเงินก้อนโตนี้อีก ในขณะที่หนี้เก่าจากโครงการรับจำนำข้าวที่ยังคงค้าง อยู่อีกกว่า 230,000 ล้าน หรือพิจารณาจากลูกหนี้รอการชดเชย จากรัฐบาล จำนวน 594,207 ล้านบาท จะเป็นปัญหาสะสม ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการมุ่งสู่การเป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบทและภาคเกษตรครบวงจร ในทศวรรษที่ 6 ตามที่ธนาคารได้ตั้งความมุ่งหวังไว้
นายศักดิ์ณรงค์กล่าวว่า คำถามที่ต้องหาคำตอบก็คือ ทำได้จริงหรือไม่ และการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้จ่ายในโครงการนี้ จะถือว่าเป็นการกู้เงินหรือไม่ เพราะในช่วงของการหาเสียง ผู้มีอำนาจได้พูดอย่างชัดเจนว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ ทำได้ทันที และไม่มีความจำเป็นต้องกู้ จึงเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานฯ ธ.ก.ส. ที่เห็นควรให้กฤษฎีกา ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นอย่างชัดเจนเสียก่อน ว่า ธ.ก.ส.จะสามารถดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้กับรัฐบาลได้หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.