การเมืองส่อเค้าระอุ ‘วิษณุ’ชี้พ.ค.กฐินไม่ไว้วางใจ/‘บัญญัติ’แนะรอลุ้นวาระ8ปี

"วิษณุ" เผยการเมืองร้อนแรงตั้งแต่ พ.ค.65 เปิดซักฟอกรัฐบาลได้ ชี้ยุบสภาได้ แต่ยุ่งแน่หากกฎหมายลูกยังไม่ผ่านสภา "บัญญัติ" ชำแหละหลายประการ อาจเลือกตั้ง ส.ส.ในปีนี้ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำ "บิ๊กตู่" ตกเก้าอี้ กรณีนายกฯ 8 ปี เตือนเลือกตั้งสกปรกซ้ำรอยกึ่งพุทธกาล

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานระหว่างการทำงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในปี 2565 ว่าสภาฯ ในสมัยประชุมนี้จะจบในวันที่ 28 ก.พ.2565 กฎหมายที่จะต้องเข้า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 หรือวาดา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งกฎหมายอีกหลายฉบับที่เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูป ดังนั้นสมัยประชุมนี้จึงไม่มีอะไรตื่นเต้นโลดโผน แม้จะมีอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติก็ตาม

ส่วนสมัยประชุมหน้าที่เปิดในเดือน พ.ค.2565 นั้น มีกฎหมายงบประมาณปี 2566 และมีกฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปที่เสนอเข้าสภาเดียว ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องว่ากัน รวมทั้งมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติก็จะเข้าสมัยประชุมหน้า

เมื่อถามว่าแสดงว่าเดือน พ.ค.2565 เป็นต้นไป เป็นช่วงตื่นเต้นของรัฐบาลใช่หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่ได้พูดว่าเดือน พ.ค. แต่หมายถึงตั้งแต่เดือน พ.ค.จนถึงเดือน ก.ย.เป็นเวลา 120 วัน เป็นสมัยประชุมที่สามารถมีกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้น

ถามย้ำว่า หากกฎหมายลูกยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยุบได้ แต่ยุบแล้วเกิดปัญหา กติกาต่างๆ ยังไม่มีอะไรชัดเจน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแม่บทวางเอาไว้ ซึ่งเดิมกำหนดให้ กกต.เป็นคนวางรายละเอียด แต่ได้มีการตัดออกไปก่อน จึงยังไม่มีใครกำหนดได้ ดังนั้นต้องรอกฎหมายลูกเท่านั้น

ซักว่าหากเกิดอุบัติเหตุยุบสภา รัฐบาลจะสามารถออก พ.ร.ก.มาแก้ปัญหาได้หรือไม่ รองนายกฯ ระบุว่า เป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออก พ.ร.ก. รัฐบาลกำหนดฝ่ายเดียว สภาจะยอมหรือไม่ที่จะให้รัฐบาลวางกติกาสำหรับเขาในการไปเลือกตั้งฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์ร่วมพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และหากไม่เห็นด้วยขึ้นมา แต่เลือกตั้งผ่านไปแล้วจะให้ทำอย่างไร หรือหาก พ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วการเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้วและ กกต. ด้แจ้งมาว่าใช้เงินประมาณ 5,600 ล้าน จากเดิม 3,000 ล้าน แต่ขณะนี้ตัวเลขขึ้นมาแล้วก็จะเป็นปัญหา

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะทำดีแค่ไหน แต่ปีสุดท้ายของทุกยุคทุกสมัยก็จะเป็นแบบนี้อยู่เสมอ โดยพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะเร่งรัดการหาเสียงเพื่อให้เป็นที่นิยม แต่ละพรรคมักจะพูดแต่เรื่องของตัวเอง ยกตนข่มท่าน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองปีสุดท้าย

"ผมมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นแกนหลักสำคัญที่จะพาประเทศฝ่าวิกฤต และเดินหน้าทำงานหนักเพื่อประชาชนต่อไป" นายสมศักดิ์กล่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลที่หลายคนมองว่ากำลังแย่งชิงพื้นที่การเลือกตั้ง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหากระทบกับการทำงานในพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นเรื่องปกติที่แต่ละพรรคจะสร้างคะแนนนิยมในพื้นที่ เป็นการแข่งขันกันตามระบอบประชาธิปไตยที่สวยงาม ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ต้องเข้าใจ การเมืองในระบอบรัฐสภาที่มีพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของประเทศได้รับการขับเคลื่อนไป

อยู่เป็นเจ้าภาพเอเปก

ขณะเดียวกันตนเองในฐานะทำงานในรัฐบาลก็จะพยายามผลักดันให้รัฐบาลสามารถบริหารงานได้ครบวาระ ซึ่งในปี 2565 จะมีงานสำคัญ คือการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก เป็นงานใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมจัดงานให้เรียบร้อย เพราะเป็นศักดิ์ศรีของคนไทย รวมทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง ครม.ทุกคนก็จะช่วยกันทำงานให้ดีขึ้นเพื่อคนไทย

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 2565 นายกฯ จะยังคงทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อประชาชน เดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อพลิกโฉมประเทศ โดยไม่สนเกมการเมืองใดๆ ขอมุ่งทำงานอย่างเดียว ดังนั้นเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานของนายกฯ และความเข้าใจอันดีต่อกันในพรรคร่วมรัฐบาล จะนำพาประเทศผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างมั่นคง ส่งผลให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนได้ครบเทอม จนได้รับการยอมรับ รวมถึงความไว้วางใจจากประชาชนต่อไป

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปี 65 ว่าช่วงที่ผ่านมากฎหมายของฝ่ายบริหารทุกฉบับผ่านไปได้ด้วยดี แต่ส่วนที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ส่วนใหญ่เป็นญัตติทั่วไปประมาณ 200 ญัตติ และคิดว่าปีหน้าจะมีกฎหมายใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น

เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปี 65 จะเป็นอย่างไร เพราะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นพอสมควร ประธานรัฐสภาตอบว่า ส่วนตัวคิดว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันนั้นยังคงมีอยู่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูการทำงาน เชื่อว่าระบบนี้ยังสามารถเดินไปได้ปกติ ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การปฏิบัติภารกิจของนักการเมืองก็อยู่ในสายตาของประชาชนมากขึ้น ใครที่สร้างปัญหา ประชาชนจับตาดูอยู่ อีกทั้งในสมัยนี้ก็ปฏิเสธยาก เพราะมีการสื่อสารในหลายที่ แต่ถึงจะมีความขัดแย้งไม่พอใจเรื่องใดก็ตาม ก็ควรต้องอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้

ถามต่อว่า ประเมินแล้วรัฐบาลจะสามารถอยู่จนครบวาระหรือไม่ ประธานรัฐสภากล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถประเมินฝ่ายบริหารได้ แต่ในส่วนของสภาคิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายบริหาร และฝ่ายอื่นๆ และเชื่อว่าในระบบนี้ เราสามารถที่จะผ่านการปฏิบัติภารกิจของแต่ละฝ่ายไปได้ด้วยดี ตนได้ย้ำเตือนทุกครั้ง เมื่อพบฝ่ายบริหารก็ได้ย้ำว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมาตอบกระทู้ของสภา และเมื่อมีการเสนอญัตติในสภา ฝ่ายรัฐบาลต้องมาชี้แจงต่อสภา เพราะถือว่าเป็นหน้าที่และโอกาสที่จะได้ชี้แจงข้อมูลความจริงที่มีการตั้งประเด็น หากฝ่ายบริหารไม่ตอบสภา ประชาชนก็ไม่รู้ข้อมูล อย่างน้อยรัฐมนตรีควรเข้ามานั่งฟัง จะได้รู้ว่าเขากล่าวหาอย่างไร และใช้สิทธิ์ชี้แจงว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 ว่า ปีนี้จะเป็นปีของการเลือกตั้ง เพราะเริ่มต้นเดือน ม.ค.ก็มีการเลือกตั้งซ่อมถึง 3 ที่ ทั้ง จ.ชุมพร จ.สงขลา และ กทม. เขตหลักสี่ นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมถึงเมืองพัทยาด้วย ซึ่งคาดหมายว่าต้องเลือกในปี 2565 รัฐบาลก็ได้ขานรับแล้วว่าจะเป็นกลางปี แต่ไม่แน่อาจจะเป็นต้นปีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเมืองที่ร้อนแรงแบบสุดๆ การเลือกตั้งทั่วไปก็อาจจะต้องเลือกตั้งในปี พ.ศ.2565 ด้วยเหมือนกัน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยก็คงอยากอยู่เป็นประธานเอเปก หรืออยากจะอยู่ครบเทอม แต่ถ้าพิจารณาภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนสุดๆ ในปีหน้า เห็นทีจะข้ามปี 2565 ลำบาก

เป็นการเลือกตั้งสกปรก

นายบัญญัติกล่าวว่า การเลือกตั้งหากดูกฎเกณฑ์ ดูตามระบบประชาธิปไตยก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จะมีผลทำให้การเมืองร้อนก็คือ ช่วงหลังเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งออกนอกรูปนอกแบบกันมากขึ้น ใช้ทุน และอิทธิฤทธิ์มากขึ้น ที่ชัดที่สุดคือการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกเทศมนตรี และล่าสุดเลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิก อบต.ทั่วประเทศ ทำให้คนโจษขานกันมากว่าใช้เงินใช้ทองกันอย่างโจ๋งครึ่ม มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นนี้ก็น่าประหลาด ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องไม่ได้มีทุกข์ร้อนอะไรเลย แต่กลับบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร

"ตรงนี้น่าวิตก เพราะว่าถ้าเราปล่อยให้กระบวนการการเลือกตั้งใช้อิทธิฤทธิ์ ใช้อิทธิพลกันมาก และบังเอิญชาวบ้านก็ลำบากด้วยจะทำให้กลายเป็นเหยื่อของระบบอุปถัมภ์ การเลือกตั้งในวันข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นอาจจะถูกเรียกขานหรืออาจกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกก็เป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เหมือนประวัติศาสตร์การเมืองของเราย้อนถอยหลังไปปี 2500 การเลือกตั้งทั่วไปในรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการเดินขบวนของนิสิตจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้เกิดการยึดอำนาจ ฉะนั้น วันนี้สิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียกร้องคือ กกต.ต้องหันกลับมาดูความเป็นจริงในบ้านเมืองและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง"

นายบัญญัติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้การเมืองจะร้อนจากรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะนายกฯ ซึ่งในสมัยเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในเดือน มี.ค. ปี 2565 คาดหมายได้ว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้านจะต้องเริ่มขึ้น ความจริงการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามันเริ่มขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองดูจะมีปัญหาค่อนข้างมาก ประกอบกับการอยู่นานของนายกฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าอยู่มานานมากแล้ว ถ้าเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็ 2 เทอมเข้าให้แล้ว ในทางการเมืองย่อมเข้าใจกันดีว่าผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองที่อยู่นาน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยั่วยุให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรงได้แน่นอน

นายบัญญัติกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการทางสภาฯ นอกเหนือจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะร้อนแรงมากอย่างที่ว่าแล้ว ตนคิดว่าจะมีกระบวนการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่นับเป็นความล้าหลังของรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะๆ อาจจะมี ส.ส.เสนอเข้าชื่อกันเองหรือการเข้าชื่อของประชาชนทั่วไปซึ่งก็ทำกันอยู่แล้ว ก็น่าจะกระทำกันมากขึ้น รวมทั้งปัญหาของ ส.ว.ที่ถูกกล่าวขานว่าเกินอำนาจที่พึงมีของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาท้าทายความคิดอ่านของสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง

“ประเด็นที่ใหญ่ที่ร้อนมากที่สุด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความร้อนแรงทั้งในสภาและบนท้องถนน รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญงานจะเข้าด้วย คือประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตรงไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปเขียนบัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ครั้งนี้จะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลรับรองเอาไว้ว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้เคยมีนักวิชาการตีความไว้ด้วยว่า อย่างนี้ต้องนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ว่าไม่ได้เป็นตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่เมื่อมีบทบัญญัติบอกว่าให้ถือเป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้ อย่างนี้ก็น่าจะครบกำหนด 8 ปี ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 เพราะฉะนั้นเมื่อใกล้เดือนสิงหาคม ปี 2565 ผมมั่นใจว่าคงจะมีคนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถามหาความถูกต้องอีกครั้ง ตรงนี้จึงบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะงานเข้าอีก เพราะว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องวินิจฉัยว่าตกลงนับหนึ่งเมื่อไหร่" นายบัญญัติระบุ

นายบัญญัติกล่าวด้วยว่า ฉะนั้นที่คิดว่าจะอยู่ให้ครบเทอมครบวาระ ก็ไม่แน่ว่าจะพ้นปี 2565 ได้หรือไม่ ยิ่งประเด็นความขัดแย้งในแต่ละที่แต่ละแห่ง การช่วงชิงได้รับความเสียเปรียบในระหว่างกันเองที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ จะเพิ่มความร้อนแรงได้เช่นกัน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ให้ได้ด้วย ซึ่งที่แล้วมาก็ถือว่าดีพอสมควรจากความเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุขประเทศเรา แต่เมื่อมีเชื้อตัวใหม่อย่างโอมิครอนเข้ามาจะเป็นอย่างไรอีก ถ้าเอาไม่อยู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วมันก็จะแรงเข้าไปอีก คนตกงานมากกว่าเดิม คนลำบากมากขึ้น เหล่านี้จะมีส่วนเติมความเร่าร้อนให้การเมืองได้ทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง